หัวข้อ: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 04:32:29 PM วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7531 ข่าวสดรายวัน พระ"เบ่ง"กล้าม ตอนที่ 1 คอลัมน์ คำคมคารมเซียน คําคมฯ ตอนนี้ขอเสนอคำว่า "เบ่ง"เป็นอีกศัพท์ธุรกิจที่ใช้เฉพาะในวงการพระเครื่อง สั้นๆ หนึ่งพยางค์ แต่รายละเอียดอย่างเยอะ ต้องเล่ายื้อกัน 3 ตอนแต่รับรองไม่ยืดยาดครับ เบ่ง : อาการของความพยายามที่จะขายพระให้ได้ราคา เป็นกฎตายตัวของพ่อค้าวาณิชทั่วทั้งโลกที่มักจะเรียกราคาขายของทุกสินค้าให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ หน้าที่ของลูกนก-ลูกกาอย่างเราก็เพียงแต่ต่อรองลงมา ให้เจอกับราคาที่พอรับได้ สนามการค้าอื่นๆ เรียกพฤติกรรมนี้ว่า... โก่งราคา แต่บรรดาเซียนเค้าจะเรียกกันอีกอย่างว่า...เบ่ง คิดจะ "เบ่ง" ก็ต้องมี "กล้าม" ให้เบ่ง ขืนเบ่งซี้ซั้วมั่วๆ มีหวังป่องแตกตาย คล้ายอึ่งอ่างสู้วัว-สู้ควายในนิทานอีสป "กล้าม" ของเซียนที่ผมหมายถึงในที่นี้ก็คือ "จุดขาย-จุดแข็ง" เพิ่มมูลค่าความพิเศษ-ความแรง เพื่อให้เกิดความแพงของราคาพระองค์นั้นๆ ที่อยู่ในมือ จนทำให้กลายเป็นความแตกต่างห่างชั้นขั้นเทพกว่าพระองค์อื่นๆ ในรุ่นเดียวกันหรือรุ่นใกล้เคียง เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ชอบความพิเศษ และแน่นอน ความพิเศษย่อมหมายถึงปริมาณที่มีน้อย แต่จะทำยังไงเมื่อความอยากได้...มีมาก จึงจำเป็นต้อง...เบ่ง ผมจะลองแยกแยะ "กล้าม" ที่เขาใช้ "เบ่ง" ให้เห็นภาพชัดๆ 1. "รุ่นแรก" ไว้ก่อน เซียนสอนไว้ เพราะคนเราชอบความเป็นที่หนึ่ง คำว่า "รุ่นแรก" จึงเป็นที่แสวงหา ทำให้พระราคาแพงกว่า ถ้าสร้างเป็นรุ่นแรก อย่างเหรียญพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มีผู้ขออนุญาตจัดสร้างกว่า 100 รุ่น หลวงปู่ท่านก็เมตตาอธิษฐานภาวนาให้เท่าเทียมทุกรุ่น แต่ลูกศิษย์กลับเลือกชอบแบบเหลื่อมล้ำ ทุกรุ่นมีค่านิยมแตกต่าง ตั้งแต่หลักร้อยยันหลักแสน ครั้นถามถึงเหรียญรุ่นแรก...อย่าแปลกใจ เบ่งราคากันจนเกินล้าน! 2. "พิมพ์นิยม" องค์เดียวจบ คนบางคนไม่ชอบปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ จะหาพระไว้บูชา ถ้าไม่มีรุ่นแรกก็มักจะเลือกแต่หัวๆ พูดกันเสมอว่า "พิมพ์นิยม...องค์เดียวจบ" เมื่อยอดนิยมก็ต้องอยู่หัวแถว มีคนต่อคิวยาว...อยากได้ ส่วนใหญ่ที่มักได้ยิน จะตั้งฉายาว่าพิมพ์ "ใหญ่" หรือไม่ก็พิมพ์ "A" แล้วเรียกเสริมต่อท้ายว่า...นิยม พระสมเด็จฯ ของเก่าหรือสร้างใหม่ก็ต้องพิมพ์ใหญ่ พระรอดก็ต้องพิมพ์ใหญ่ พระหลวงปู่ทวดก็ต้องพิมพ์ใหญ่...ฯลฯ บางครั้งก็ทั้ง "ใหญ่" ทั้ง "A" เรียกรวมว่าพิมพ์ "ใหญ่ A"...ว่าเข้านั่น! เจอแบบนี้รับรอง ...ต้องเบ่ง! 3. "บล็อกนิยม" สะสมแล้วเท่ มักเกิดกับพระเหรียญ-โลหะ ที่ต้องใช้บล็อกแม่พิมพ์ในการปั๊ม วงการก็จะชอบแยกบล็อกเด่น-เห็นชัด จัดอันดับความเหนือชั้น ตั้งชื่อตามตำหนิที่ปรากฏ ไม่เหมือนกัน ขอยกเหรียญทองแดงหลวงพ่อคูณรุ่นดัง ปี 2517 เป็นอาทิ ในรุ่นนี้แม้รูปแบบเหรียญจะเหมือนกัน แต่ดันมีรายละเอียดเล็กๆ ที่แตกต่าง แบ่งกันไปได้หลายบล็อก แยกย่อย-เยอะแยะจนเวียนหัว นิยมสุดก็ต้องบล็อก "นวะไหล่ จุด" โดยมีตำหนิเหมือนเหรียญที่เป็นเนื้อนวโลหะทุกประการ ความหมายคือเป็นบล็อกเดียวกันกับที่ใช้ปั๊มเหรียญนวโลหะ มีตำหนิเป็นจุดที่เหนือหัวไหล่ของหลวงพ่อ ก็เลยนิยมว่า...เท่! นอกนั้นยังมีบล็อกนวะหูขีด-บล็อกอมหมาก-บล็อกคอปาด ยังไม่พอ ยังแบ่งบล็อกนิยมจากด้านหลังเหรียญเพิ่มเติม เป็นบล็อก 5 แตกวงเดือน - 5 แตกหูขีด - 5 แตกธรรมดา คงกลัวยาพาราฯ ขายไม่ดี ความจริงบล็อกพิเศษเหล่านี้มักเกิดจากรอยแตก-ชำรุดในแม่พิมพ์ เมื่อนำไปปั๊มเหรียญ จึงทำให้เกิดตำหนิพิสดาร เหตุการณ์นี้เกิดกับเหรียญอีกหลายหลวงพ่อ แต่คงต้องพอก่อนแค่นี้ เซียนไหนใครมี "บล็อกนิยม" คงต้องเบ่งจนหน้าเขียว แต่ผมไม่มีสักองค์เดียว ต้องขออั้น...กลั้นไว้เบ่งกันต่อตอนหน้านะครับ *************************************************************************************************************************************** ก๊อปปี้มาจาก นสพ.ข่าวสด อ่านแล้วสนุกดีแกมความรู้ตื้นลึกหนาบาง มิมีเจตนาเป็นอย่าอื่น นอกจากนำมาเผื่อ สมช.อวป. ที่สนใจเรื่องพระ ::014:: >>> สวัสดีครับ <<< >>> pasta <<< ;D หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 04:34:03 PM วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7538 ข่าวสดรายวัน
พระ"เบ่ง"กล้าม ตอนที่ 2 คอลัมน์ คำคมคารมเซียน kumkom99@gmail.com ตอนที่แล้วผมเล่าเรื่องศัพท์คำว่า "เบ่ง" ไปพอประมาณ แปลว่าอาการ-พยายามขายพระให้ได้ราคา เท้าความสักนิดว่าพระที่คิดจะเบ่ง ต้องมี "จุดขาย-จุดแข็ง" สำคัญ ผมเอามาล้อ-เรียกใหม่ว่า "กล้าม" ยกตัวอย่างไปแล้ว 3 กล้าม คือพระประเภท 1.รุ่นแรก 2.พิมพ์นิยม 3.บล็อกนิยม ในตอนนี้จะเพิ่มเติม-ต่ออีก 2 ข้อ ขอให้ลองอ่านดู เผื่อคุณจะมีพระที่พอจะ "เบ่ง" กะเขาบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว...ไปกันต่อเลยนะครับ 4. "โค้ดพิเศษ-เลขสวย"...สะสมแล้วรวย พระประเภทนี้มักเป็นเนื้อโลหะ-เหรียญที่สร้างในยุคหลัง และมีสิ่งหนึ่งที่ผู้สร้างนิยมทำคือ...ตอกโค้ด เหตุผลเบื้องต้นเพื่อกันการปลอมแปลง แต่ภายหลังกลายเป็นการแบ่งชั้น-วรรณะ สุดยอดโค้ดปรารถนา มักเรียกกันว่า...โค้ด กรรมการ คือโค้ดระดับ VIP ทำให้มีค่านิยมสูง ชัดๆ ก็เหรียญ "เสมา 8 รอบ" รุ่นสุดฮิตของหลวงปู่ทิม...พระอาจารย์สุดฮอตแห่งวัดละหารไร่ มีการตอกโค้ดกำกับไว้มากมาย ตั้งแต่โค้ดรูปศาลา (กรรมการ) โค้ดนะชินบัญชร โค้ดยันต์นะ โค้ดยันต์อุ ฯลฯ บางทีองค์นึงก็ตอกกันถึง 2-3 โค้ด ต้องเพิ่มตังค์ให้กับแต่ละโค้ดอีกไม่เบา ใครเล่นพระสายนี้อยู่คงรู้ดี นอกจากนี้ เรื่องเลขสวย ก็ติดอันดับยอดเห่อของคนไทย แผ่นป้ายทะเบียนรถ ยังประมูลกันเป็นแสนๆ โค้ดเลขที่ตอกกำกับเรียงลำดับบนองค์พระ จึงต้องเลือกสรร-แย่งชิง เลขเดี่ยว-เลขเฮง-เลขเรียง-เลขหาม-เลขตอง...ล้วนของโปรด ชอบกันมากก็ "1" กับ "9" ยิ่งตอง 1 ตอง 9 ยิ่งต้องเอาให้ได้ ที่ไม่ใช่เลขเดี่ยว แต่รวมได้ "9" ก็เหมาว่ามงคล บางคนก็ชอบเลข "5" ตีความว่าเป็นเสียงหัวเราะ...ฮ่า ฮ่า ฮ่า ร่าเริงใจ แต่พอเลข "4" กลับถือสา...ลาก่อน เพราะออกเสียงคล้าย "ซี่" ในภาษาจีน แปลว่า...ม่องเท่ง! เบ่งไม่ออกเลยทีนี้ 5. "มวลสารสุดยอด-โลหะสุดเยี่ยม"...ไม่ธรรมดา มวลสารที่ใช้ประกอบเป็นองค์พระประ เภทเนื้อผง เป็นเรื่องพิถีพิถันในการจัดทำ-เฟ้นหา ย้อนเวลาไปยุคจตุคามฯ จะเห็นบ่อย สารพัดจะคัดสรรมวลสารพิสดาร...มหา ศาล อาทิ...เนื้อไม้ตะเคียนทองศาลหลักเมือง-ดิน 7 ป่าช้า-แร่ 7 เหมือง-ข้าวสุก 7 นา-ผงกะลาตาเดียว-ว่านมงคล 108 ฯลฯ เบ่งกันไปตามมวลสารหายาก พระปิดตารุ่นยอดนิยม "ปลดหนี้" ของหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ก็เช่นกัน สร้างจากเนื้อผงใบลาน ค่านิยมก็แค่หลักหมื่น ถ้าขยับเป็นเนื้อผงเกสร จะเบ่งราคากันเป็นแสน และอีกครั้งกับหลวงปู่ทิม คราวนี้เป็นพระขุนแผนผงพรายกุมาร ใครๆ ก็อยากได้แต่เนื้อเหลืองว่านดอกทอง (ชื่อน่าหวาดเสียว) ส่วนสายหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว คงไม่พลาดพระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ เบ่งราคากันแพงสุดก็เนื้อผงยาจินดามณี ทีนี้ลองมาดูที่เป็นพระโลหะ-พระเหรียญ ก็ไม่น้อยหน้า สมัยก่อนพระเกจิอาจารย์ท่านเล่นแร่แปรธาตุ จนกลายเป็นโลหะศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย หลอม-หล่อ ประกอบพิธีกรรมเบ็ดเสร็จภายในวัด เช่น เมฆพัด-เมฆสิทธิ์-สำริด-สัตโลหะ-นวโลหะ ฯลฯ ปัจจุบันมีโรงงานผลิต-พัฒนาขึ้นไปอีกมากมาย ตั้งแต่เนื้อทองคำ-เงิน-นาก-สามกษัตริย์-ทองฝาบาตร-ทองระฆัง-เนื้อสตางค์-อัลปาก้า-ทองแดง-ตะกั่ว-ดีบุก-อะลูมิเนียม...เยอะ! ค่านิยมแปรผันตามต้นทุนและความยาก-ง่ายในการได้มาของโลหะนั้นๆ เรียกว่าเบ่งกันจนตาลาย ยังมีอีกหลายๆ กล้ามที่เหล่าเซียนใช้เบ่ง-เขย่งราคา ต้องขอขยาย-หยิบยก เล่ากันต่อตอนหน้า บอกไว้ก่อน "เบ่ง" ตอนจบมีทีเด็ด เราจะตามไปดูวิธีพาพระไปเพาะกล้าม บาปมั้ยเนี่ย! หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 04:35:27 PM วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7545 ข่าวสดรายวัน
พระ"เบ่ง"กล้าม ตอนจบ คอลัมน์ คำคมคารมเซียน วิเชียร ฤกษ์ไพศาล kumkom99@gmail.com ผ่านศัพท์คำว่า "เบ่ง" มาแล้ว 2 ตอนเซียนคงค้อน-เขิน-ขำๆ...ขายไม่ค่อยถนัด เรื่องแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ดังครับ ไม่ให้เสียเวลา กลับมาว่ากันต่อให้จบๆ ดีกว่า เข้าเรื่องเบ่งกล้ามลำดับที่ 6 เลยละกัน 6."หายาก" แบบพลิกแผ่นดินหา นักสะสมส่วนหนึ่ง ไม่เน้นเรื่องพุทธคุณ กลับวุ่นอยากได้แต่พระหายาก พระดีๆ มีเป็นแสนวัด หมื่นรุ่น หลากพระอาจารย์ กลับไม่ต้องการ ถ้าสร้างปริมาณเยอะๆ หาง่าย-ไม่ท้าทาย...ว่างั้น เถอะ อยากเจอแต่รุ่นที่สร้างแค่หลักหน่วย-สิบ-ร้อย เป็นพระประเภท "สร้างน้อย" น่าห้อยไม่ซ้ำใคร เหมือนใส่ชุดไปงานแล้วไม่จ๊ะเอ๋ฝาแฝด...แต่งเหมือนกัน การแขวนพระที่ใครๆ ก็มี ศักดิ์ศรีรุ่นเก๋าเค้าว่าไม่เท่ จึงมักเกทับกันด้วยพระในตำนาน คงเคยได้ยิน "พระกริ่งปวเรศ" รุ่นแรกของวัดบวรฯ องค์นึง 20-30 ล้าน แพงกว่าบ้านสุดหรู เล่าว่าสร้างกันไม่เกิน 30 องค์ มีแค่องค์เดียว รับรอง...เบ่งกันหูดับตับไหม้ 7.ของแถม...สุดพิเศษ เรื่องของแถมเป็นของโปรดนักช็อปมานานแล้ว วงการพระก็มีของแถมล่อใจ กลายเป็นพระ...เบ่งได้ มาดูว่ามีอะไรกันบ้าง ลำดับต้นๆ ก็ต้อง "เกศา-จีวร" ของหลวงปู่-หลวงพ่อ แค่เส้นเล็กๆ ผืนน้อยๆ ก็สุดยอดแล้ว ชอบมากทั้งที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าของจริงมั้ย รองลงมาก็ "รอยยันต์-รอยจาร" ที่พระอาจารย์ท่านจารึกไว้ ร่องรอยเหล่านี้เป็นของดี คล้ายลายเซ็นดารา-นักร้อง ข้อนี้พอตรวจสอบได้ แต่ต้องเป็นผู้ชำนาญ ขลังขึ้นเป็นกอง แต่ต้องเป็นของจริงด้วยล่ะ "กล่องเดิม" ที่บรรจุพระมาแต่แรก ก็นับว่ามีค่า และต้องแน่ใจว่าพระในกล่องนั้นเดิมและแท้ด้วย บ่อยครั้งที่กล่องแท้แต่พระ...เก๊ จบเห่เลย! ยังมีของดั้งเดิมอื่นๆ ที่ควบคู่มากับองค์พระแต่ก่อนเก่า เช่นใบอนุโมทนาบัตรเดิม-ห่วงคล้องพระเดิม-กระดาษห่อพระเดิมๆ ฯลฯ ล้วนเป็นของเติม-แถมมาให้พระมีมูลค่าไม่ธรรมดา...เบ่งได้ 8.ฝีมือช่าง...ก็ช่างเลือก พระ-เครื่องรางบางอย่าง จะเลือกชอบเชิงช่างเฉพาะเจาะจง นัยว่าศิลป์สวยดี ฝีมือประณีต อย่าง "มีดหมอ" หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จะชอบงานของ...ช่างไข่ ช่างฉิม "หนุมาน" หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จะคุ้นฝีมือช่างชื่อ...นายมี "ราหู" กะลาแกะ ของ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ก็ต้อง...ช่างสี ส่วนพระบูชาก่อน 2500 ก็จะนิยมฝีมือจาก... โรงหล่อพัฒนช่างแต่หลัง 2500 ก็ยกให้...ช่างเกษม สำหรับพระกริ่งวัดสุทัศน์ ที่จัดว่าคลาสสิค ต้องฝีมือแต่งเก่าโดยช่างชั้นครู....อาจารย์หนู ฟังดูแล้วอาจมึน แต่เซียนเค้ามัน เบ่งกันสนุกสนานครับ 9."สวยแชมป์ แชมเปี้ยนโลก! พระในข้อนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากแท้และ...สวย! ต้องสวยธรรมชาติ ปราศจากการศัลยกรรม ชอบคุยโชว์ว่า...สวยปรี๊ด-สวยแชมป์-ล้มแชมป์-แชมป์โลก โขลกกันได้เต็มที่ เบ่งกันได้เต็มข้อ หลายท่านจึงขยันนำพระส่งประกวด เผื่อติดรางวัลได้ใบประกาศยืนยันว่า...แชมป์ นี่แหละครับที่ผมเรียกว่านำพระไป...เพาะกล้าม! ยิ่งติดหลายรางวัล-หลากสำนัก ยิ่ง...กล้ามใหญ่! แล้วหากองค์ไหนได้รับนิมนต์ตีพิมพ์ในหนังสือ ถือว่าเป็น...องค์ดารา! ค่าองค์แพงแรงแซงหน้า ราคาพุ่งพรวด อวดเบ่งเลยทีนี้! สาธยายมาก็ยืดยาว พอให้เห็นภาพคร่าวๆ ครอบคลุมเนื้อหาครบ ได้รู้ว่าผู้คนใส่ใจกับสิ่งสมมติแทนองค์พระพุทธ-พระสาวกอย่างเอาเป็นเอาตาย เงินทองหามาไม่ง่าย ก็ลองถามใจตัวเองดูละกัน แต่ถ้าไปถามพระคุณเจ้า ท่านคงถามกลับมาว่า ตายแล้วเอาไปได้มั้ยโยม...จ๋อยเลย! หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: carrera ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 04:40:13 PM ไม่ค่อยได้เช่าพระ ;D ;D ;D ได้ความรู้ดีครับขอบคุณมาก
หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: ตี๋ br ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 05:10:00 PM น้าอรรถ มาแนว สาระ ข้อมูลแน่น ไม่รู้จะเถียงข้อไหนได้เลย+1ครับ ::002:: ::014::
หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: JJ-รักในหลวง ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:04:30 PM ไม่ค่อยได้เช่าพระเหมือนกันครับ
ส่วนมาก ได้มาเพราะขอ หรือมีคนให้ครับ หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: Nat_usp ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:13:26 PM พระที่ผมห้อยทำจากปูนซีเมนต์ขาว ไม่มีราคาค่างวด แต่มีพลังมากมาย
ผมเลี่ยมกรอบพลาสติก ( ครูบาอาจารย์แนะนำไว้ ) ขอบคุณลุงpastaครับ ผมก็เพิ่งรู้วันนี้ ( การหากินกับพระเครื่อง ) หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:37:53 PM น้าอรรถ มาแนว สาระ ข้อมูลแน่น ไม่รู้จะเถียงข้อไหนได้เลย+1ครับ ::002:: ::014:: ::014:: ขอบคุณครับครับอาตี๋ ;D พระที่ผมห้อยทำจากปูนซีเมนต์ขาว ไม่มีราคาค่างวด แต่มีพลังมากมาย ผมเลี่ยมกรอบพลาสติก ( ครูบาอาจารย์แนะนำไว้ ) ขอบคุณลุงpastaครับ ผมก็เพิ่งรู้วันนี้ ( การหากินกับพระเครื่อง ) ::014:: กำลังจะเข้าสี่สิบปีครับพี่ สับขา 100 เมตร สุดท้าย ::002:: หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: PU45™ ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:41:05 PM ชาวพุทธอย่างไรเสียก็ยังอยากได้วัตถุมงคลมาไว้ในครอบครองเหมือนกัน เพียงแต่มีสติแยกแยะที่ต่างกัน .....
หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: ค..ควาย...ใส่ชฎา ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:51:05 PM ชาวพุทธอย่างไรเสียก็ยังอยากได้วัตถุมงคลมาไว้ในครอบครองเหมือนกัน เพียงแต่มีสติแยกแยะที่ต่างกัน ..... Ha Ha ฮา โธ่ ลุงปู เมื่อวันก่อน เขียนจดหมายถึงหมอรุจ มือ "สั่น" เชียว ฮา วันนี้หนีไป "ปลีกวิเวก" แล้วอ่ะ ฮา หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: PU45™ ที่ กรกฎาคม 27, 2011, 06:54:35 PM ยายอะ ::005:: หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: wiched ที่ กรกฎาคม 28, 2011, 12:59:21 PM เก็บไว้เป็นแนวทาง ครับ ::014::
หัวข้อ: Re: >>> พระ " เบ่ง " กล้าม 1, 2 , 3 <<< เริ่มหัวข้อโดย: submachine -รักในหลวง- ที่ กรกฎาคม 28, 2011, 03:50:55 PM ชาวพุทธอย่างไรเสียก็ยังอยากได้วัตถุมงคลมาไว้ในครอบครองเหมือนกัน เพียงแต่มีสติแยกแยะที่ต่างกัน ..... มีแก่นสารที่มีบทสรุปจบในตัว อีกอย่างที่คนวัยตกผลึกทางความคิดมีเหนือกว่าคนรุ่นเยาว์ |