เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => หลังแนวยิง => ข้อความที่เริ่มโดย: pasta ที่ ตุลาคม 16, 2011, 07:40:18 AM



หัวข้อ: >>> สามัคคี เสียสละ <<<
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ ตุลาคม 16, 2011, 07:40:18 AM
สามัคคีคือพลัง

 ธรรมะวันหยุด

พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.com

ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง วิวาทบาดหมางกันและกัน

ความสามัคคีมีด้วยกัน 2 ประการ คือ

1.ความสามัคคีทางกาย ได้แก่ การร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน

2.ความสามัคคีทางใจ ได้แก่ การร่วมประชุมปรึกษาหารือกันในเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ความสามัคคีดังที่ว่านี้จะเกิดมีขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุที่เรียกกันว่า สาราณียธรรม ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ คือ

1.เมตตากายกรรม ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการ ร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

2.เมตตาวจีกรรม พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

3.เมตตามโนกรรม คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

4.สาธารณโภคี ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

5.สีลสามัญญตา ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเสื่อมแก่หมู่คณะ

6.ทิฏฐิสามัญญตา ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

ธรรมทั้ง 6 ประการนี้เป็นคุณค่าก่อให้เกิดความระลึกถึง ความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อานิสงส์ของความสามัคคีนี้ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ เป็นเหตุแห่งความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ การงานอันเกินกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นที่ตั้ง แมลงปลวกสามารถสร้างจอมปลวกที่ใหญ่โตกว่าตัวหลายเท่าให้สำเร็จได้ก็อาศัยความสามัคคีกัน เพราะฉะนั้นการรวมใจสามัคคีกันจึงเกิดมีพลัง ส่วนการแตกสามัคคีกันทำให้มีกำลังน้อย

โทษของการแตกสามัคคีกันนั้นท่านกล่าวไว้ว่า หาความสุข ความเจริญไม่ได้ ไม่มีความสำเร็จด้วยประการทั้งปวง เหตุให้แตกความสามัคคีกันนี้อาจเกิดจากเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นได้ เหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว แต่เป็นเหตุให้เกิดสงครามได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเรื่องของเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พวกเจ้าลิจฉวีมีความสามัคคีกัน พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำอะไรไม่ได้ แต่พอเมื่อถูกวัสสการพราหมณ์ยุยงให้แตกสามัคคีกันเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าโจมตีและยึดเมืองเอาไว้ได้ในที่สุด

ดังนั้น ความสามัคคีถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใดย่อมทำให้ที่นั้นมีแต่ความสงบสุข ความเจริญ ส่วนความแตกสามัคคี ถ้าเกิดมีขึ้นในที่ใดย่อมทำให้ที่นั้นประสบแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียโดยประการเดียวแล



เสียสละ

คนที่อยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุข ควรจะมีคุณธรรม คือความเสียสละ คือ เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เพราะถ้าต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่คนอื่นแล้ว ส่วนรวมก็จะเดือดร้อน เมื่อส่วนรวมเกิดความเดือดร้อนเสียแล้ว ความสุขความสงบก็จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความเสียสละเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ทุกคนในสังคมต้องมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเสียสละแบ่งปันให้แก่กัน ไม่มีจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัว

ความเสียสละ จึงเป็นคุณธรรมเครื่องผูกมิตรไมตรี ยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ เป็นเครื่องมือสร้างลักษณะนิสัยให้เป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าประโยชน์สุขส่วนตัว

การเสียสละเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในสังคม เริ่มตั้งแต่ครอบครัวอันเป็นหน่วยเล็กๆ ของสังคม ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวให้แก่กัน เสียสละทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยากลำบากให้แก่กัน ทั้งในยามปกติและคราวจำเป็น

ดังจะเห็นได้จากที่มีการเสียสละ และบริจาคทรัพย์ สิ่งของเพื่อช่วยเหลือกัน ในเมื่อมีภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่คนในที่ใดที่หนึ่ง ก็มักจะมีการรับบริจาคเพื่อนำเงินหรือสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น หรือไม่ก็มีการรับบริจาคสิ่งของเพื่อนำไปสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวม

บุคคลผู้มีน้ำใจเสียสละ มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกคนในสังคม ช่วยเหลือเท่าที่เห็นว่าสมควรจะช่วยเหลือได้ เห็นใครควรแก่การช่วยเหลือก็ช่วยเหลือตามกำลังมากบ้างน้อยบ้าง หรือบางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังกาย บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังทรัพย์ บางครั้งก็ช่วยเหลือด้วยกำลังสติปัญญา ทุกๆ ครั้งที่ทำการช่วยเหลือ ก็มีความกรุณาสงสารเป็นเบื้องหน้า มุ่งที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

ผู้ที่ฝึกฝนมาดีในเรื่องของการเสียสละ ย่อมสละได้โดยง่าย ไม่ต้องฝืนใจ สามารถที่จะทำได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถที่จะเสียสละให้ได้แม้สิ่งอันเป็นที่รัก ที่ให้ได้โดยยาก มีอวัยวะและชีวิตเป็นที่สุด

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละ เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความนับถือผูกไมตรี ทำคนเกลียดให้รัก ทำคนที่รักอยู่แล้วให้มีความรักมากยิ่งขึ้น

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละที่เหมาะสม ย่อมให้ผลที่ดีเสมอ ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ คนที่มีน้ำใจเสียสละ คิดจะเฉลี่ยแบ่งปันลาภผลและความสุขของตนแก่ผู้อื่นอยู่เสมอนั้น ไม่ว่าใครๆ ก็อยากคบหาสมาคมด้วย

ดังนั้น ผู้ที่มองเห็นการณ์ไกล ควรพยายามเสียสละแบ่งปันวันละนิด เป็นการสร้างนิสัย อุปนิสัยและอัธยาศัยที่ดีให้แก่ตนเอง ซึ่งอุปนิสัยนี้จะค่อยๆ ฝังลึกลงในจิตใจ กลายเป็นอุปนิสัยที่มั่นคง ทำลายได้โดยยาก





watdevaraj@hotmail.com


หัวข้อ: Re: >>> สามัคคี เสียสละ <<<
เริ่มหัวข้อโดย: nick357 "รักในหลวง" ที่ ตุลาคม 16, 2011, 08:54:16 AM
เห็นด้วยแบบไม่มีข้อสงสัย.........


หัวข้อ: Re: >>> สามัคคี เสียสละ <<<
เริ่มหัวข้อโดย: มะเอ็ม ที่ ตุลาคม 16, 2011, 01:01:25 PM
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละที่เหมาะสม ย่อมให้ผลที่ดีเสมอ

ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ

 ::002:: ::002:: ::014::


หัวข้อ: Re: >>> สามัคคี เสียสละ <<<
เริ่มหัวข้อโดย: PU45™ ที่ ตุลาคม 16, 2011, 04:27:14 PM
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเสียสละที่เหมาะสม ย่อมให้ผลที่ดีเสมอ

ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับ

 ::002:: ::002:: ::014::

                     ตามน้ามะเอ็มว่าไว้เช่นกัน  ขอบคุณครับน้าอรรถ