เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => หลังแนวยิง => ข้อความที่เริ่มโดย: pasta ที่ ตุลาคม 17, 2012, 09:48:28 AM



หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์รอยพระบาท รัชกาลที่ ๙
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ ตุลาคม 17, 2012, 09:48:28 AM
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com



ทราบว่ามีพิพิธภัณฑ์รอยพระบาท ในหลวง มีได้อย่างไร เพราะเหตุใดครับ

เกียรติ

ตอบ เกียรติ



(http://image.ohozaa.com/i/e78/kvvrQN.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/woGq78bPReQpIsrl)


พิพิธภัณฑ์รอยพระบาท รัชกาลที่ ๙
จ.เชียงราย มีประวัติความเป็นมาบันทึกไว้ว่า เริ่มจากสถาน การณ์ก่อการร้ายใน จ.เชียงราย ในปี พ.ศ.2497 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อแสวงหาแนวร่วมพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเขาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนเชียงราย และจ.น่าน รวมทั้งพื้นที่ชายแดนด้านจ.พะเยา ในปัจจุบันบางส่วน ภายหลังจากสามารถปลุกระดมชาวเขาได้บางพื้นที่จนสำเร็จในปี พ.ศ.2507 โดยคัดเลือกส่งไปอบรมวิชาการเมืองการทหารรุ่นแรกที่เมืองฮัวมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อกลับมาเตรียมงานในพื้นที่ไว้รอรับสมาชิกพคท. ซึ่งได้เดินทางเข้าสู่พื้นที่เชียงราย ในปี 2509 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการชี้นำด้านการเมืองและการทหาร

เมื่อขยายเขตงานได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง พคท.จึงเปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่ในภาคเหนือขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านน้ำปาน ต.นาไร่หลวง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เมื่อ 26 ก.พ. 2510 ถือเป็นวัน "เสียงปืนแตก" ของพคท.ในเขตภาคเหนือ จากนั้นได้ขยายการต่อสู้เรื่อยมา โดยในวันที่ 9 พ.ค. ปีเดียวกัน ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลที่บ้านห้วยชมภู ต.ยางฮอม อ.เทิง จ.เชียงราย (เป็นครั้งแรกในเขตพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น)

จวบจนถึงพ.ศ.2521 พคท.สามารถจัดตั้งฐานที่มั่นในภาคเหนือได้ถึง 9 แห่ง ที่สำคัญแห่งหนึ่งคือฐานที่มั่นดอยยาว-ดอยผาหม่น พคท.ได้จัดตั้งคณะทำงานในรูปคณะกรรมการจังหวัดเชียงราย แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 4 เขตงาน คือ เขตงาน 52, เขตงาน 9, เขตงาน 7 และเขตงาน 8 สำหรับพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่นเป็นพื้นที่ควบคุมของเขตงาน 8 ในเขต อ.เทิง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมพื้นที่ อ.เวียงแก่น และ อ.ขุนตาล ในปัจจุบัน ด้วยกองกำลังติดอาวุธของพคท. ขณะนั้นมีประมาณ 600 คน มีมวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งอีกประมาณ 2,300 คน

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการสร้างทาง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง การสู้รบ ณ สมรภูมินี้เกิดขึ้นหลายยุทธการ เช่น ยุทธการอิทธิชัย (วีรกรรมดอยม่อนเคอ) ยุทธการขุนห้วยโป่ง และยุทธการเกรียงไกร (วีรกรรมที่เนิน 1188 พญาพิภักดิ์) โดยใช้กำลังทหารในพื้นที่ จ.เชียงราย เข้าปฏิบัติการกวาดล้างและปราบปรามผกค. ตามคำสั่ง ทภ.3/กอ.รมน. ภาค 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2525 จึงสามารถกำชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพคท.

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2524 พันร.473 ซึ่งมี พ.ท.วิโรจน์ ทองมิตร เป็น ผบ.พัน (ตำแหน่ง ผบ.ร.17 พัน 3) เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดยุทธการยึดเนิน 1188 บนยอดดอยพญาพิภักดิ์ได้ ยังผลให้พคท.ล่มสลายในที่สุด

วันที่ 27 ก.พ.2525 ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช องค์จอมทัพไทย และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเยี่ยมทหารหาญและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ บนสันดอยยาว อ.เทิง จ.เชียงราย (ปัจจุบันเป็นเขต อ.ขุนตาล)

และในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ได้จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารหาญ

ปัจจุบันรอยพระบาทประดิษฐานอยู่ ณ ศาลารอยพระบาท ภายในกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน คู่กับอนุสาวรีย์ผู้เสียสละ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปยังค่ายเม็งรายมหาราชได้ทั้งด้านหน้า ช่องทาง 1 และด้านหลังค่าย ช่องทาง 5

หน้า 24



หัวข้อ: Re: พิพิธภัณฑ์รอยพระบาท รัชกาลที่ ๙
เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ ตุลาคม 17, 2012, 09:49:42 AM
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ  ::014::


หัวข้อ: Re: พิพิธภัณฑ์รอยพระบาท รัชกาลที่ ๙
เริ่มหัวข้อโดย: คนตัวอ้วน+ผมรักในหลวง ที่ ตุลาคม 17, 2012, 09:50:21 AM
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ... ::014:: ::014:: ::014::...+๑ อรรถ...


หัวข้อ: Re: พิพิธภัณฑ์รอยพระบาท รัชกาลที่ ๙
เริ่มหัวข้อโดย: PU45™ ที่ ตุลาคม 17, 2012, 11:09:46 AM
ขอบคุณครับน้าอรรถ  ....  เพิ่งรู้นี่แหละ     ::002::