หัวข้อ: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ เมษายน 07, 2013, 05:54:56 PM ขันติบารมี 1 ธรรมะวันหยุด พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com ขันติ ความอดทน เป็นบารมีอย่างพิเศษ คือเป็นผู้ที่สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนเองให้อยู่ในอำนาจเหตุผล เมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งอันพึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนา มีความมั่นคงหนักแน่น เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด งานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กน้อย หรืองานใหญ่ก็ตาม ที่สำเร็จขึ้นมาได้นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ต้องอาศัยธรรมคือขันติเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดขันติเสียแล้วจะไม่มีความสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นธรรมสำหรับต่อต้านความท้อถอย ขับเคลื่อนให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ จึงกล่าวได้ว่า ขันตินำความสำเร็จของงานทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรมมาให้ พระพุทธองค์ตรัสว่ายกเว้นปัญญาแล้วเราสรรเสริญขันติเป็นคุณธรรมอย่างยิ่ง ลักษณะของความอดทนที่ ถูกต้อง มีความอดกลั้น เมื่อถูกคนพาลด่า ทำเหมือนกับว่าไม่ได้ยิน เมื่อเห็นอาการยั่วยุ ทำเหมือนกับว่าไม่ได้เห็น เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่ทำร้ายใครด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทน มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ คือ ไม่โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน บางคน ขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ พอมีผู้ว่ากล่าวตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น ลักษณะสำคัญยิ่งของขันติ คือ อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงความชั่วให้ได้ อดทนทำความดีต่อไป และอดทนรักษาใจไว้ไม่ให้เศร้าหมอง ประเภทของความอดทน 3 ประการ คือ ประการแรก อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากความเจ็บไข้ ซึ่งทำให้เสียเวลาทำงาน เสียเงิน เมื่อเกิดทุกขเวทนาควรใช้ความอดทน ไม่แสดงอาการทุรนทุราย ควรสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง โดยการพิจารณาถึงธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ควรพิจารณาเนื่องๆ ถึงความแก่ ความเจ็บ และความตายว่าเป็นของธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นไปได้ ประการที่ 2 อดทนต่อความตรากตรำ หมายความว่า อดทนต่อความทุกข์ยากจากการทำงาน เพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งผู้ที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตจะต้องขยันทำงาน และการทำงานย่อมประสบปัญหาและอุปสรรค ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา ไม่ควรทอดทิ้งหรือท้อถอย ควรใช้ความอดทนเป็นเบื้องหน้า การงานที่ได้มุ่งหวังตั้งใจไว้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ประการที่ 3 อดทนต่อความเจ็บใจ หมายความว่า อดทนต่อความโกรธที่จะมากระทบกระทั่ง เพราะทุกคนจะอยู่ลำพังเพียง ผู้เดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ การอยู่ร่วมกันบางครั้งอาจมีความกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทกันบ้าง เพราะต่างมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความอดทนแล้ว ความทะเลาะวิวาทจะแผ่ขยายกว้างออกไป เกิดความแตกแยก เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียหน้าที่การงาน ความอดทนนี้ เป็นธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความงดงาม ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ เมษายน 07, 2013, 05:56:36 PM ขันติบารมี 2
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.com ขันติ คือ ความอดทนสะสมความดีอย่างพิเศษเป็นขันติบารมี เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด เมื่อถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันพึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนา สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนเองให้อยู่ในอำนาจเหตุผล มีความหนักแน่นมั่นคง เหมือนแผ่นดินซึ่งไม่หวั่นไหว เมื่อมีคนทิ้งของสกปรก หรือของหอมลงไป ต้นหญ้าเป็นพืชเล็กๆ เพราะมีความทรหดจึงสามารถแพร่พันธุ์ขยายได้ฉันใด คนเราแม้มีความรู้ ความสามารถและทรัพย์สมบัติ เพียงน้อยนิด แต่ถ้ามีความอดทนแล้วย่อมสามารถฝึกฝนอบรมตนให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ฉันนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลอดทนต่อคำพูดของผู้สูงกว่าได้เพราะความกลัว อดทนถ้อยคำพูดของผู้เสมอกันได้เพราะเหตุแห่งความดี ส่วนผู้ใดในโลกนี้อดทนต่อคำพูดของคนเลวกว่าได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่ามีความอดทนสูงสุด วิธีฝึกความอดทน ให้คำนึงถึงความละอายและเกรงกลัวต่อบาป อดทนเพื่อยอมละเว้นความชั่ว และรักษาคุณธรรม ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้มิให้เสื่อมเสีย วิธีจัดการกับอารมณ์ที่มากระทบ ยกตัวอย่างเรื่องพระปุณณะ เดิมเป็นชาวสุนาปรันตะ เดินทางไปค้าขาย ระหว่างทางได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงออกบวช ครั้นบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมแต่ไม่ได้ผล เพราะไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ท่านคิดว่าภูมิอากาศที่บ้านเดิมเหมาะกับตัวท่านมากกว่า จึงทูลลาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์รับสั่งถามว่า เธอแน่ใจหรือปุณณะ คนชาวสุนาปรันตะนั้นดุร้ายมากนัก ทั้งหยาบคายด้วย เธอจะทนได้หรือ พระปุณณะกราบทูลว่า อดทนได้พระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ปุณณะ ถ้าคนพวกนั้นเขาด่าเธอ เธอจะมีอุบายอย่างไร พระปุณณะกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะคิดว่าเขาด่าก็ยังดีกว่าเขาตีต่อยพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าเขาตีต่อยเธอล่ะปุณณะ พระปุณณะกราบทูลว่า ยังดีกว่าเขาเอาก้อนดินขว้างพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าเขาเอาก้อนดินขว้างล่ะ เธอจะมีอุบายอย่างไร พระปุณณะกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะคิดว่ายังดีกว่าเขาเอาไม้มาตีพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าเขาเอาไม้มาตีล่ะ เธอจะมีอุบายอย่างไร พระปุณณะกราบทูลว่า ยังดีกว่าถูกแทง หรือฟันด้วยหอกดาบพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าคนพวกนั้นเขาจะฆ่าเธอด้วยหอกด้วยดาบล่ะ พระปุณณะกราบทูลว่า ข้าพระองค์จะคิดว่าเป็นการดีเหมือนกันพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ดีอย่างไรหรือปุณณะ พระปุณณะกราบทูลว่า คนบางคนที่คิดอยากตายต้องเสียเวลาแสวงหาศัตราวุธมาฆ่าตัวเอง แต่ข้าพระองค์โชคดีที่ไม่ต้องเสียเวลาไปเที่ยวหาศัตราวุธอย่างเขา พระพุทธองค์ตรัสว่า ดีมากปุณณะ เธอคิดได้ดีมาก ตกลงเราอนุญาตให้เธอไปพำนักทำความเพียร ที่ตำบลสุนาปรันตะได้ พระปุณณะกลับไปเมืองสุนาปรันตะแล้วตั้งใจทำความเพียรปฏิบัติธรรม มีความเจริญก้าวหน้า ในไม่ช้าได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผลดีของความอดทน คือ ทำให้กุศลธรรมทุกอย่างเจริญขึ้นได้ ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้ ทำให้อยู่เย็นเป็นสุข หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: Jedth ที่ เมษายน 07, 2013, 08:49:20 PM +1677 ขอบคุณครับน้าอรรถ ::014::
หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: pasta ที่ เมษายน 08, 2013, 06:43:24 PM +1677 ขอบคุณครับน้าอรรถ ::014:: ;D ;D ;D น้า Jedth 677 & 1677 pasta ขอบคุณครับ ::014:: หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: SIERRA 1 ที่ เมษายน 08, 2013, 09:07:28 PM ขอบคุณที่นำมาให้อ่านครับ ::014::
หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: Twitter 125 ที่ เมษายน 08, 2013, 10:22:14 PM ดีครับดี ::014::
หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: pranburi ที่ เมษายน 09, 2013, 01:40:44 PM ขอบคุณครับ หลายครั้งที่อดทนได้มั่งไม่ได้มั่งแต่ก็จะพยายามต่อไป
หัวข้อ: Re: ขันติบารมี เริ่มหัวข้อโดย: อนัตตา ที่ เมษายน 09, 2013, 02:08:28 PM ถ้าคนเราทำได้ซักคนละหน่อย โลกคงสงบขึ้น ตามไปครับ 1678 ;D
|