หัวข้อ: จาก ส.ค.ส. สู่ ถ.ค.ส. เริ่มหัวข้อโดย: วัฒน์ ที่ มกราคม 01, 2014, 04:30:16 PM (http://image.ohozaa.com/i/092/tj4P49.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/xjozChOE9KusaQNG)
ธรรมเนียมที่จะส่งบัตร ส.ค.ส. ที่ย่อมาจาก "ส่งความสุข" ให้แก่คนที่รู้จักมักคุ้น คนผู้เป็นที่รัก ที่เคารพ คนที่ได้พึ่งพาอาศัย คนที่อยู่ห่างไกล ไม่ได้พบหน้าค่าตากันมานาน แต่ในปัจจุบันที่ระบบการสื่อสารเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การอวยพรกันผ่านทางระบบออนไลน์ต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น การส่ง ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรปีใหม่ก็ลดน้อยถอยลง ในอนาคตข้างหน้าก็คงเสื่อมความนิยมไปในที่สุด ณ โอกาสนี้ ผมจึงขอเล่าเรื่องราวของ ส.ค.ส.ไว้เล็กๆ น้อยๆ ครับ แรกเริ่มเดิมทีของธรรมเนียมการส่งบัตรอวยพรปีใหม่นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในทวีปยุโรป โดยเริ่มจากการส่งบัตรอวยพรความสุขในเทศกาลคริสต์มาสก่อน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1950 เป็นต้นมา หรือเมื่อกว่า 600 ปีมาแล้ว จากนั้นจึงตามมาด้วยบัตรอวยพรวันขึ้นปีใหม่ในภายหลัง ต้นกำเนิดของบัตรอวยพรคริสต์มาส มาจากชาวเยอรมันเป็นชาติแรกที่คิดขึ้น โดยใช้แม่พิมพ์จากแผ่นไม้ มีการแกะแม่พิมพ์ไม้ให้เป็นภาพบ้าน โรงนา และพระเยซูในวัยเยาว์ พร้อมกับพิมพ์คำอวยพรลงไปด้วยว่า "Ein gut selig jar" ซึ่งแปลว่า "ปีที่ดีและมีความสุข" เพราะในยุโรปและประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนานั้น ต่างก็ถือว่า วันคริสต์มาสเป็นวันที่สำคัญที่สุด มากกว่าวันปีใหม่ หลังจากนั้นแล้วจึงมีการบัตรส่งบัตรอวยพรความสุขในทั้งสองเทศกาลควบคู่กันไปเสมอๆ ต่อมาชาวอังกฤษได้ทำการพัฒนารูปแบบของบัตรอวยพรเทศกาลคริสต์มาสและขึ้นปีใหม่ ให้มีความสวยงามและมีสีสันมากขึ้น ครั้นถึงในช่วงราวปีพุทธศักราช 2150 ได้มีนักเรียนโรงเรียนประจำของอังกฤษ นิยมส่งบัตรอวยพรเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ไปให้บิดา มารดา และญาติพี่น้องทางบ้าน เพื่อเป็นการอวดลายมือ การใช้ภาษาที่พัฒนาขึ้นในแต่ละปีด้วย และในเวลาเดียวกัน ก็มีกลุ่มนักธุรกิจพ่อค้าพากันส่งบัตรอวยพรให้ลูกค้า เนื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ด้วย ทำให้เกิดความแพร่หลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนการส่ง ส.ค.ส.ในประเทศไทยนั้น คุณเอนก นาวิกมูล ได้ค้นคว้าเอาไว้ว่า "...ธรรมเนียมการส่ง ส.ค.ส. เป็นเรื่องที่ไทยเราได้รับแบบอย่างมาจากฝรั่ง พระมหากษัตริย์ของไทยที่ทรงเริ่มส่ง ส.ค.ส. และอาจเป็นบุคคลแรกในประเทศที่ส่ง ส.ค.ส. คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลักฐานเก่าที่สุดคือ หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ปี ค.ศ.1866 หรือตรงกับ พ.ศ.2409 ผมต้องขอกราบเรียนไว้ก่อนนะครับว่า ในสมัยนั้น วันขึ้นปีใหม่ยังมีอยู่ 2 วัน คือ วันปีใหม่ไทย ที่นับเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นหลัก และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 13 เมษายน กับวันปีใหม่ฝรั่ง ที่ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นศักราชใหม่ ส.ค.ส.ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานลงในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์นั้น คือ ส.ค.ส.ที่พระราชทานเนื่องในโอกาสปีใหม่สากลครับ ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการพระราชทานบัตรอวยพรปีใหม่แก่เสนาบดีและประชาชนหลายครั้งหลายหน กับทั้งยังมีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เองและพระมเหสี คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส มาตีพิมพ์เป็นภาพใน ส.ค.ส.ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์ มาตีพิมพ์เผยแพร่ด้วย เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น ซึ่งในรัชกาลต่อๆ มา ก็ได้มีการปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท สืบเนื่องมาจนรัชกาลปัจจุบัน ตามที่ปรากฏให้ได้เห็นได้ทราบกันทุกปี บัตรอวยพรปีใหม่ในครั้งรัชกาลที่ 5-7 นั้น จะมีพระราชทานสำหรับวันปีใหม่ไทยแต่เดิม คือ ในวันที่ 1 และต่อมาคือ 13 เมษายน แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีประกาศการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน เพื่อให้เหมือนกับประเทศทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา ด้วยว่า วันที่ 1 มกราคม ใกล้กับวันแรม 1 ค่ำของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี บัตรอวยพรเนื่องในวันปีใหม่ 1 มกราคม จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา บัตรอวยพรปีใหม่ หรือที่นิยมเรียกว่า "ส.ค.ส." ในระยะแรกๆ มีลักษณะของบัตรที่มีขนาดเล็ก ประมาณเท่ากับนามบัตรปกติทั่วไป จะมีการเขียนชื่อของผู้ส่ง ตำแหน่ง และปีพุทธศักราช กำกับไว้ด้วย ส่วนตัวอักษรบน ส.ค.ส.นั้น จะมีทั้งตัวพิมพ์และเขียนด้วยลายมือ ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เท่าโปสการ์ด หรืออาจใหญ่กว่านั้นเล็กน้อย และมีการวาดภาพสีน้ำประกอบด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นภาพดอกไม้ ผลไม้ และสัตว์น่ารักต่างๆ รวมทั้งคำอวยพรที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แต่ในขณะเดียวกันนั้น ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไปที่จงรักภักดี พากันส่งบัตรอวยพรปีใหม่ขึ้นไปถวายพระพรแด่องค์พระประมุขด้วย โดยเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา และพากันใช้อักษรย่อกำกับไปกับบัตรอวยพรนั้นว่า ถ.ค.ส. ซึ่งย่อมาจาก "ถวายความสุข" การส่งบัตรถวายพระพร หรือ ถ.ค.ส.นั้น ได้ห่างหายไปในช่วงรัชกาลที่ 8 เนื่องจากเป็นช่วงที่เสด็จฯ ไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษา และในปัจจุบันก็มีผู้ทราบเรื่องนี้น้อยมาก ดังนั้น ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้ ผมจึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ช่วยกันส่งบัตรถวายพระพรเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ หรือส่ง "ถ.ค.ส." ไปถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพรียงกันครับ. คัดลอกมาจากบทความของ อ.เผ่าทอง ทองเจือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2557 หัวข้อ: Re: จาก ส.ค.ส. สู่ ถ.ค.ส. เริ่มหัวข้อโดย: สหายอ๋อง เซียนปลาซิว ที่ มกราคม 01, 2014, 05:24:14 PM ผมมี บัตร์อวยพรปีใหม่ของ สมเด็จพระเทพฯ ปี 2523 เดี๋ยวถ่ายรูปมาให้ชมกัน
หัวข้อ: Re: จาก ส.ค.ส. สู่ ถ.ค.ส. เริ่มหัวข้อโดย: อิติปิโสธงชัย รักในหลวง ที่ มกราคม 02, 2014, 02:40:32 AM ::011::+ท่านวัฒน์ มีความรู้มาให้เสพ ::011::
หัวข้อ: Re: จาก ส.ค.ส. สู่ ถ.ค.ส. เริ่มหัวข้อโดย: carrera ที่ มกราคม 02, 2014, 10:56:58 AM ผมว่าบริษัท สคส การค้าจะซบเซาเพราะ internet ส่ง ไลน์ ว๊อดแอ๊ปกันมากกว่า ;D ;D ;D เดี๋ยวนี้จดหมายก็แทบไม่เขียนกันแล้ว e mail อย่างเดียว เหลือแต่ส่งของทางพัสดุที่ต้องใช้แน่นอน
|