เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => หลังแนวยิง => ข้อความที่เริ่มโดย: e.k.1911 ที่ มิถุนายน 28, 2007, 07:17:05 PM



หัวข้อ: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: e.k.1911 ที่ มิถุนายน 28, 2007, 07:17:05 PM
รบกวนขอข้อมูล ครับ :D
เกี่ยวกับการศึกษา ระดับเด็กๆทั่วไป ในการเรียนรู้การศึกษา การดำรงชีวิต  หรือท่านใด ร่วมเสนอความคิดมาอย่างไรก็ได้ครับ  :VOV:
ผมลองหาดูบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะยาวๆทั้งนั้นครับ  อยากได้แบบสั้นๆ กระทัดรัด   พิมพ์ไว้บนเสื้อ...
พอดีจะให้เด็กนร. สกรีนเสื้อจัดกิจกรรมกันครับ  :VOV:




หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: milo ที่ มิถุนายน 28, 2007, 08:36:04 PM
ผมเคยซื้อมาอ่านตอนเรียน ป.โท เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ จอมปราชญ์นักการศึกษา ของอาจารย์เกรียงศักดิ์ เจริญวงษ์ศักดิ์ (ถ้าจำไม่ผิด) เป็นเรื่องของพระองค์ท่านในด้านการศึกษา มีพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่บัณฑิต นักการศึกษา มากมาย เลยเ ห็นกระทู้นี้ก็ลองหาเหมือน  แต่หาไม่เจอแล้ว ครับ


หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ตะบันไฟ ที่ มิถุนายน 28, 2007, 08:46:27 PM
ผมเคยจำได้คำหนึ่งว่า
การศึกษาชีวิต  เป็นยอดของศาสตร์ทั้งปวง
อย่าเป็นลูกนอกคอก ของครอบครัว
เรียนไม่คิด  ไร้ผล  / ไม่คิดเรียน  อันตราย


หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: narak ที่ มิถุนายน 30, 2007, 11:23:22 AM
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ไว้ดังนี้
"การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว"

"ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องไปในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้น อาจเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้" (๒๘ มกราคม ๒๕๐๕)

"การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม" (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖)

"การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่าง คือการศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง วิชาการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือ ความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีประพฤติปฏิบัติ คนที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา แต่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรม จะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้" (๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๓)

"การศึกษานั้นเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่ว่าเฉพาะในระยะหนึ่ง เป็นหน้าที่โดยตรงในระยะเดียวไม่ใช่อย่างนั้น ตั้งแต่เกิดมาก็ต้องศึกษาเติบโตขึ้นมาก็ต้องศึกษา จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่าอุดมศึกษา อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังศึกษาอยู่ หมายความว่าการศึกษาที่ครบถ้วน ที่อุดม ที่บริบูรณ์ แต่ต่อไปเมื่อออกไปทำหน้าที่การงานก็ต้องศึกษาต่อไปเหมือนกัน มิฉะนั้นคนเราก็อยู่ไม่ได้ แม้จบปริญญาเอกแล้วก็ต้องศึกษาต่อไปตลอด หมายความว่า การศึกษาไม่มีสิ้นสุด" (๒๐ เมษายน ๒๕๒๑)

"..หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลักของเหตุผล และจะต้องขัดเกลาตลอดเวลา มิฉะนั้นจะมีวิชาความรู้เท่าไรก็ตามก็ไม่สามารถนำไปเป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้…หลักของเหตุผลมีหลักการว่า ถ้ามีสิ่งใดที่เราต้องเผชิญ ต้องพบ ต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น คำนี้มีสองคำ เหตุคือต้นของสิ่งที่เราเผชิญและผลเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา ถ้าเราเผชิญสิ่งใดและเราพิจารณาด้วยเหตุผล ต่อไปเราก็จะเผชิญสิ่งที่ถูกต้อง" (๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๙)

"ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้นมีอยู่สามลักษณะได้แก่ เรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่นอย่างหนึ่ง เรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผลและเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะนี้ จำเป็นต้องกระทำไปด้วยกันให้สอดคล้อง และอุดหนุนส่งเสริมกันจึงจะช่วยให้เกิดความรู้จริงพร้อมทั้งความสามารถที่จะนำมาใช้ทำการต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพได้" (๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔)

"การมีความรู้ถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชาโดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริง ทำได้จริงหรือ ความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ" (๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๗)

"ทุกคนมีความรู้ต้องใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะว่าถ้าความรู้นั้นร่วมมือใช้ในทางที่ถูกก็จะเกิดคุณอย่างมหาศาลทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ส่วนรวม ฉะนั้นแต่ละคนที่ได้เรียนในแขนงของตนก็ย่อมต้องปฏิบัติงานเพื่อตนเองและเพื่อส่วนรวมนั้นก็ต้องมีความเข้าใจระหว่างบุคคล ระหว่างวิชา (ดังนั้น) ในการปฏิบัติงานทุกด้าน การเตรียมตัวพร้อมการร่วมมือเป็นอันสำคัญอยู่เสมอ" (๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๕)

"ในการปฏิบัติงานใดๆผู้ปฏิบัติจะต้องทราบ ต้องเข่าใจแจ่มแจ้งถึงปัญหาและความรู้ทั้งปวงอันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างทั่วถึง จึงจะสามารถนำทฤษฎีมาดัดแปลงใช้ให้ได้เหมาะกับ สภาพการณ์และสามารถจะเลือกแนวทางการปฏิบัติให้เกิดผลมากที่สุดได้" (๒๒ มกราคม ๒๕๑๗)

"วิทยาการทุกอย่างมิใช่มีขึ้นในคราวหนึ่งคราวเดียวได้ หากแต่ค่อยๆสะสมกันมาทีละเล็กละน้อยจนมากมายกว้างขวาง การเรียนวิทยาการก็เช่นกัน บุคคลจำจะต้องค่อยๆเรียนรู้ให้เพิ่มพูนขึ้นนั้นเกิดเป็นรากฐานรองรับความรู้ที่สูงขึ้น ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้นต่อๆไป" (๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๙)

"….หากไม่เรียนรู้กลไกของวิชาการโดยตลอดอย่างคล่องแคล่วเจนจัดแล้ว ก็ยากนักที่จะใช้วิชาการปฏิบัติให้ได้ผล" (๒ ตุลาคม ๒๕๑๘)



หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: narak ที่ มิถุนายน 30, 2007, 11:27:05 AM
"….หากไม่เรียนรู้กลไกของวิชาการโดยตลอดอย่างคล่องแคล่วเจนจัดแล้ว ก็ยากนักที่จะใช้วิชาการปฏิบัติให้ได้ผล" (๒ ตุลาคม ๒๕๑๘)

ลองอ่านดูนะค่ะอันนี้น่าจะใช้ได้ แต่ถ้าจะให้สั้นกว่านี้หายากค่ะ


หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: flyingkob-รักในหลวง ที่ กรกฎาคม 01, 2007, 08:32:47 AM
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชทานรางวัล ในการสอบไล่ครั้งแรกที่ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อพุทธศักราช 2427 ว่า

"โรงเรียนที่มีอยู่แล้ว และอาศัยขึ้นต่อไปภาคหน้าโดยมากได้คิดจัดการโดยอุตส่าห์ และเต็มกำลังที่จะให้เรียบร้อยพร้อมเพรียงกันเหมือนอย่างโรงเรียนนี้ และจะคิดให้แพร่หลายกว้างขวางเป็นที่เรียนได้มากกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาชั้นสูงซึ่งได้กำลังคิดจัดอยู่ บัดนี้เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะได้ให้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่งซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้"

และอีกพระราชดำรัสล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕

"ประเทศชาติใดไร้ผู้รู้หนังสือ ประเทศชาตินั้นจะไม่มีวันได้พบกับความเจริญ"


หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: e.k.1911 ที่ กรกฎาคม 01, 2007, 07:17:57 PM
ขอขอบพระคุณทุกๆท่านเป็นอย่างยิ่งครับ ........


หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: pminwong รักในหลวง ที่ กรกฎาคม 02, 2007, 09:25:26 AM
ด้วยความเคารพ
  งานของครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่น ๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญ ก็คือว่า
ครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้
ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ...
(พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙)



หัวข้อ: Re: ท่านใดมีข้อมูลพระราชดำรัสเกี่ยวกับการศึกษาบ้างครับ รบกวนหน่อยครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ฅนปั่นไฟ ยกกำลัง 2 ที่ กรกฎาคม 02, 2007, 11:12:01 AM
ขอแนะนำหนังสือ

เรียนรู้จากกระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546

ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

(รายละเอียดตามนี้ ครับ http://www.onec.go.th/publication/47031/full_know.pdf )

ลองพิจารณาในหน้า 30 ครับ

เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้วยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย

เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้

และการทำความดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ทั้งป้องกันตนไม่ให้ตกต่ำ