หัวข้อ: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: ทัดมาลา ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป ที่ ธันวาคม 17, 2008, 01:21:30 PM ต่อไปนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้รับผิดชอบต่างๆ ไม่สามารถทำแบบขอไปทีได้แล้วครับ
. . . . . . ศาลสั่ง "กรมขนส่งทางอากาศ" จ่าย"เจิมศักดิ์" 5 หมื่นเสี่ยงภัยนั่ง"นกแอร์" โดย ทีมข่าวอาชญากรรม 17 ธันวาคม 2551 12:32 น. เปิดฉากคดีแรก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ศาลแพ่งพิพากษา กรมการขนส่งทางอากาศ จ่าย 5 หมื่นชดใช้ เจิมศักดิ์ ค่าความหวาดกลัวต่อการเสี่ยงภัย หลังใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องที่สนามบินนครศรีธรรมราชบกพร่องไม่ตั้งเครื่องตรวจค้นวัตถุระเบิดและโลหะผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ส่วน "นกแอร์"ให้ยกฟ้องไม่ต้องร่วมรับผิด ชี้ มีหน้าที่แค่เตรียมเครื่องบินให้บริการ วันนี้ ( 17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 416 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ผบ.1/2551 ที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.)ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1- 2 เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 กรณีที่ ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเที่ยวบินสายการบินนกแอร์ ที่ DD 7811 วันที่ 16 ส.ค.51 ซึ่งโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการดังกล่าวเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพ ฯ โดยเมื่อโจทก์สอบถามเจ้าหน้าที่ ได้รับแจ้งว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไป และยังไม่ได้นำมาคืนในวันดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ จำเลยทั้งสองจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆสนามบิน หากขาดเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะต้องยุติการให้บริการจนกว่ามาตรการความปลอดภัย และเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะทำงานอย่างครบถ้วน และขอให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ต่อความเสี่ยงภัยที่จะต้องได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยคำนวณเป็นค่าขาดรายได้โจทก์ จำนวน 4.5 ล้านบาท และค่าที่ภรรยาโจทก์จะต้องขาดไร้อุปการะ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 5.5 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ 2 ฝ่ายนำสืบแล้ว ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าตามกฎหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องดูแลสนามบินในฐานะหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการให้บริการท่าอากาศยาน เป็นผู้ดูแลและจัดเตรียมความพร้อมต่อการรักษาความปลอดภัยสนามบิน ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ขณะที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนผู้ให้บริการสายการบิน มีหน้าที่ดูแลให้ความสะดวกต่อผู้ใช้บริการในการบินโดยมีหน้าที่ต้องเตรียมเครื่องบินให้พร้อมบริการเท่านั้น ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ที่ต้องเกิดความวิตกกังวลว่าจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เป็นเงิน 50,000 บาท ที่บกพร่องไม่นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ฯ มาติดทันทีเมื่อได้รับคืนจาก ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบว่า หลังจาก มหาวิทยาลัย ยืมเครื่องตรวจวัตถุระเบิดไปใช้ดูแลความปลอดภัยในงานวันรับปริญญาบัตร แล้วได้ส่งคืนเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยังทิ้งเวลาไว้อีกจึงนำเครื่องมาติดตั้งในวันที่ 17 ส.ค.51 ส่วนคำขอที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุกๆสนามบิน นั้น เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ดำเนินการ ขณะที่ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าสนามบินแห่งอื่น ได้พบข้อบกพร่องเช่นเดียวกันนี้ จึงมีให้ยกคำขอ ดังกล่าว ภายหลัง นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกพอใจต่อผลคำพิพากษาที่จะเป็นบรรทัดฐานให้สนามบินต้องดูแลเข้มงวดเรื่องการดูแลความปลอดภัยเพื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดีตนยังติดใจกรณีของสายการบินนกแอร์ที่เห็นว่าควรต้องร่วมรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการสายการบินในฐานะผู้บริโภคที่จ่ายค่าตั๋วให้บริษัทนกแอร์ ฯ แล้ว บริษัท ได้นำเงินส่วนหนึ่งจ่ายให้กรมการขนส่งที่ใช้บริการสนามบินด้วย ซึ่งในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ตนเคยใช้บริการ พบว่านอกจากสนามบินจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย แล้วสายการบินเองยังมีจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยตรวจผู้โดยสารก่อนจะขึ้นเครื่องด้วย ดังนั้นตนจะพิจารณาและหารือกับมูลนิธิผู้บริโภคว่าควรจะอุทธรณ์ในประเด็นที่ต้องการให้สายการบินนกแอร์ ร่วมรับผิดชอบในการจัดอุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิดเพื่อดูแลความปลอดภัยผู้ใช้บริการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานสำหรับสายการบินต่างๆ ด้วย โดยการยื่นฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ตนต้องการให้ทั้งสายการบิน และสนามบิน ดูแลเรื่องความปลอดภัย นายเจิมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการยื่นฟ้องคดีของผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ด้วยว่า เมื่อผู้บริโภค มีช่องทางตามกฎหมายที่จะรักษาสิทธิ์แล้ว ก็น่าจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ในการยื่นฟ้องผู้บริโภค ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ และการพิจารณาคดีใช้เวลาไม่นาน ตัวอย่างคดีของตนศาลใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ขณะที่เมื่อฟ้องคดีแล้วจะเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐาน โดยการนำสืบนั้นศาลยังสามารถที่จะเรียกพยานมาไต่สวนได้เองด้วย ดังนั้นกฎหมายนี้จึงสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้นายเจิมศักดิ์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 หลังจากกฎหมายฉบับนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.51 โดยการฟังคำพิพากษาวันนี้ฝ่ายบริษัทนกแอร์ ฯ และกรมการขนส่งทางอากาศ ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนเดินทางมาศาล จาก http://w3.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000148216... เรื่องเดิม.... ศาลผู้บริโภค หรือ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค เป็นระบบวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งรูปแบบใหม่ของศาลยุติธรรมไทย ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริโภค หรือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าอันตรายต่าง ๆ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อแผนกคดีผู้บริโภคที่มีประจำอยู่ในศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลแพ่งทุกแห่ง โดยการฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นฟ้องจะฟ้องด้วยตัวเอง หรือแต่งตั้งทนายความ หรือขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องให้ก็ได้ การยื่นฟ้องต่อแผนกคดีผู้บริโภค ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม แต่จะต้องไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร ไม่เช่นนั้นศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในภายหลังได้ เมื่อศาลสั่งรับคำฟ้อง จะมีการกำหนดวันพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาล เพื่อไกล่เกลี่ย ให้การสืบพยานในวันเดียวกัน โดยศาลจะส่งสำเนาคำฟ้อง หรือสำเนาบันทึกคำฟ้องให้จำเลย และสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้นด้วย ระบบการพิจารณาคดีของศาลผู้บริโภคเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้ตามที่เห็นสมควร ภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับสินค้าตกเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ แตกต่างจากระบบการพิจารณาคดีศาลแพ่งแบบเดิม ที่ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่พิสูจน์ให้สมฟ้อง ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างก็คือ คำพิพากษาศาลผู้บริโภคถือเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์เท่านั้น ศาลคดีผู้บริโภคมีอำนาจคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการ เช่น เปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ แทนการแก้ไขซ่อมแซม กรณีสินค้าอันตราย ให้ผู้ประกอบธุรกิจทำประกาศเรียกรับสินค้าคืนจากผู้บริโภค และห้ามจำหน่ายสินค้าที่เหลือ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่าย หรือให้ทำลายสินค้าที่เหลือ กรณีที่สินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังผู้ประกอบธุรกิจได้ นอกจากนี้ศาลคดีผู้บริโภคยังมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอของผู้บริโภคได้ หากเห็นว่าเสียหายมากกว่าที่ขอไป สำหรับกรณีผู้ประกอบธุรกิจเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพิ่ม แต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายแท้จริงที่ศาลกำหนด หากมีการฟ้องผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม และคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ยุติ เช่นเดียวกับคดีก่อน และใช้ผลพิจารณาคดีเดิม เป็นฐานในการพิจารณาคดีที่ใกล้เคียงกัน ผู้ที่ประเดิมฟ้องศาลคดีผู้บริโภคเป็นคนแรก ก็คือ ศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ยื่นฟ้องสายการบินนกแอร์ ว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมตรวจอาวุธผู้โดยสาร สำหรับเหตุผลของการฟ้องร้องครั้งนี้ ศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า เหตุที่ฟ้องเพราะต้องการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นโดยฟ้องต่อศาลผู้บริโภค ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา จึงได้ไปฟ้องต่อศาลเมื่อวันจันทร์ที่ 25 ส.ค. การฟ้องร้องดังกล่าว ศ.ดร.เจิมศักดิ์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด จำเลยที่ 1 และกรมการขนส่งทางอากาศ จำเลยที่ 2 จัดให้มีการตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนอย่างเคร่งครัดในทุก ๆ สนามบิน หากขาดเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะต้องยุติการให้บริการจนกว่ามาตรการความปลอดภัย และเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะทำงานอย่างครบถ้วน ผลการพิจารณาคดี ศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. สั่งให้จำเลยทั้งสองจัดให้มีการตรวจวัตถุระเบิดและโลหะกับผู้โดยสารทุกคนที่สนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างเคร่งครัด หากขาดเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะต้องยุติการให้บริการจนกว่ามาตรฐานความปลอดภัยและเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดและโลหะจะทำงานอย่างครบถ้วนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น การฟ้องร้องของ ศ.ดร.เจิมศักดิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าระบบวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคแบบใหม่เอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภค ช่วยให้การฟ้องร้องเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น... ศศิมา ดำรงสุกิจ ทีมเดลินิวส์ 38 หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: STECON ที่ ธันวาคม 17, 2008, 01:45:33 PM สาธุ...............ขอให้ Air Asia โดนมั่งเถอะ อิๆ
หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: ทัดมาลา ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป ที่ ธันวาคม 17, 2008, 01:50:50 PM ทำความรู้จักกฎหมายใหม่ล่าสุดสำหรับผู้บริโภค (พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค 2551)
ชื่อบทความเดิม : ผู้บริโภคควรรู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ถือว่าก้าวหน้ามากที่สุดในยุคปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการและความทุกข์ยากของประชาชนเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการหรือนายทุนมากที่สุด หลังจากที่ชาวบ้านผิดหวังกับการพึ่งพาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรีมานาน กฎหมายฉบับนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับคณะทำงานของศาลยุติธรรม ที่เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะเห็นว่าผู้บริโภคมักถูกเอารัดเอาเปรียบในสินค้าและบริการมาตลอดระยะเวลายาวนาน อันเนื่องมาจากคุณภาพของสินค้าและบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เป็นไปตามคำรับรอง หรือตราหรือโลโก้หน่วยงานมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่รับรองไว้ จนต้องเกิดกรณีมีข้อพิพาทขึ้นมากมาย อีกทั้งกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก ดังนั้นศาลยุติธรรมจึงได้เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนสามารถนำกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ช่วยเหลือชาวบ้านหรือผู้บริโภคได้ (แปลกใจไหมว่าเรามี สส.กันมามากมายหลายยุคสมัย ทำไมไม่คิดเสนอกฎหมายประเภทนี้กันเลย) กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค และขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมหันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นโดยเร็วในอนาคตอันใกล้ เพราะหากยังคงใช้แนวคิดเดิม ๆ ในการทำธุรกิจค้าขายสินค้าและบริการ ที่เอาเปรียบผู้บริโภคทุกวิถีทาง ก็จะพบกับการลงโทษทางกฎหมายอย่างสูงสุด กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางแพ่ง (เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง) โดยเป็นกฎหมายเพื่อการเยียวยาด้วยความรวดเร็วให้แก่ผู้บริโภค เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของการดำเนินคดีทางศาลจากระบบกล่าวหา คือ ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่หรือภาระในการนำสืบหรือพิสูจน์ให้ศาลเห็น มาเป็นระบบไต่สวน คือ ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานทั้งฝ่ายกล่าวหาและผู้ถูกล่าวหามาให้ศาลพิจารณาได้ตามสมควร โดยผู้ที่เสียหายจากการบริโภคสินค้าและบริการ ไม่จำเป็นต้องไปเสาะแสวงหาทนายความมาช่วยดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนให้ เหมือนในคดีความปกติก็ได้ (ถ้าจะมีก็ได้) เพราะสำนักงานศาลคดีผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่จะมีบุคลากรของศาลมาช่วยดำเนินการทางคดีให้กับผู้ร้องทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การไต่สวน รับคำร้องเรียนจะด้วยวาจาหรือเอกสารก็ได้ ทำคำฟ้องให้ ถ้าเรื่องที่เดือดร้อนสามารถที่จะนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ เจ้าหน้าที่ของศาลก็จะดำเนินการให้ก่อนเป็นหลักก่อนๆ ที่จะส่งสำนวนคดีเข้าสู่กระบวนการสืบพยานโจทก์และจำเลยหากไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้นคดีผู้บริโภคจำนวนมากคาดว่าจะสามารถยุติลง หรือจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยในเบื้องต้นก่อนได้เป็นจำนวนมาก (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ก็ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยเช่นนี้เช่นกัน แต่ก็มักเป็นกรณีเล็ก ๆ น้อยๆ ถ้าเป็นกรณีใหญ่ ๆ ก็ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจนมาดำเนินการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้) ที่สำคัญ การฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง เว้นแต่หากปรากฏแก่ศาลว่า ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม ประวิงคดี ศาลอาจจะสั่งให้ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมได้ ถ้าไม่ชำระศาลก็จะสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ เมื่อกฎหมายนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก ก็อาจจะทำให้ผู้คนแห่แหนกันมาใช้บริการศาลคดีผู้บริโภคกันมาก บางครั้งอาจจะใช่หรือไม่ใช่คดีเกี่ยวกับผู้บริโภค ชาวบ้านก็อาจจะมาร้องกันเปรอะไปหมดหรือไม่ หากมีกรณีเช่นว่านี้ว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ทางออกก็คือ ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลจะเป็นที่สุด ส่วนในเรื่องอายุความนั้น ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น และข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นรายกรณี เช่น ถ้าเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรือ อนามัย อายุความใช้สิทธิเรียกร้องกันนั้นกฎหมายจะระบุว่าเป็นภายใน 3 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย นอกจากนี้ หากมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงชดใช้กันก่อนได้ อายุความก็จะสะดุดหยุดอยู่ไม่นับต่อไป ในการฟ้องคดีต่อศาลคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคที่เสียหายจากสินค้าหรือบริการ พึงต้องสังวรไว้ก่อนว่าตนเองต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง ต้องมีข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานเพื่อนำเสนอต่อศาลให้เห็นหรือเข้าใจได้ และต้องระบุคำขอไว้ให้ชัดว่าจะให้ศาลบังคับคดีให้อย่างไร เริ่มจากต้องรู้ว่าเราจะฟ้องหรือกล่าวหาใคร ด้วยเรื่องอะไร มีพยานหลักฐานใดเก็บไว้บ้าง เช่น ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการต้องเรียกร้องเอาใบเสร็จรับเงิน ใบเสร็จนั้น ๆจะต้องมีการเขียนข้อมูลที่ครบถ้วน มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ประกอบการของผู้ผลิต ผู้ขาย เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานว่าได้ซื้อสินค้าและบริการมาจากใคร ที่ไหน เมื่อใด ราคาเท่าใด เพื่อที่จะฟ้องได้ถูกตัวนั่นเอง หากสินค้าและบริการนั้น ๆ มีการพิมพ์โปสเตอร์ ใบปลิว แผ่นพับ หรือเอกสารโฆษณาใด ๆ หรือแม้แต่ใบรับรองสินค้า ใบรับประกันสินค้า เพื่อประกอบการขายหรือบริการไว้ ก็ควรที่จะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย เพราะกฎหมายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา สามารถใช้นำมาเป็นหลักฐานในการบังคับให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการรับผิดชอบได้ หากไม่สามารถหาได้ก็อาจจะใช้ภาพถ่ายที่มี หรือใบเสร็จที่เกิดขึ้นจากการซ่อมแซมสินค้า รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้สินค้านั้น ๆ หรือถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็อาจจะต้องนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้นั้นไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพัก แล้วขอคัดถ่ายสำเนาพร้อมให้ตำรวจรับรองสำเนา มาประกอบการร้องหรือฟ้องก็ได้ กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคฝ่ายเดียวไม่ หากแต่ผู้ประกอบการต่าง ๆ กฎหมายก็รับรองสิทธิให้ด้วยอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ประกอบการก็มิสิทธิฟ้องผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน อาทิ กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต กรณีหนี้จากการเช่าซื้อยานยนต์ ฯลฯ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องร้องไล่เบี้ยเอากับผู้บริโภคได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นการไล่เบี้ยเอาด้วยความเป็นธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่จะขูดเข็ญเรียกเอาค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยเท่าใดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการฟ้องผู้บริโภคนั้น กฎหมายกำหนดให้ฟ้องได้เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ถ้าเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นเหล่านี้ จะตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หากเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีผู้บริโภคใดแล้วต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีการฟ้องกับผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกันอีกโดยมีข้อเท็จจริงที่พิพากษาเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ศาลในคดีหลังอาจมีคำสั่งให้ถือว่าข้อเท็จจริงในประเด็นเป็นอันยุติไม่ต้องสืบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งก็จะทำให้กรณีพิพาทเสร็จสิ้นเร็วขึ้น ไม่เป็นภาระต่อรูปคดีและศาล ในการดำเนินคดีผู้บริโภคนั้น ศาลท่านจะพิจารณาตรวจสอบถึงความสุจริตในการฟ้องร้องคดีที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคที่มาร้องเรียนต่อศาล จะต้องมีความเดือดร้อนจริง เสียหายจริง อย่าคิดว่าฟ้องเล่น ๆ หรือกลั่นแกล้งเจ้าของสินค้าหรือบริการให้เสียหายเล่น ๆ เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน... http://www.prachatai.com/05web/th/home/13420 หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: ทัดมาลา ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป ที่ ธันวาคม 17, 2008, 02:01:22 PM พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค 2551 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/038/32.PDF ลักษณะพิเศษและข้อสังเกตครับ http://www.coj.go.th/jla/userfiles/doc/lds/consumer/consumer_howto_Chanarong.PDF ข้อมูลจากสำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม http://www.coj.go.th/jla/info.php?cid=4 หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: Twitter 125 ที่ ธันวาคม 17, 2008, 02:17:49 PM ดีครับมีกฎหมายตัวนี้ออกมาแล้วทำให้ผู้บริโภคอุ่นใจขึ้นเยอะเลย ดูจากเรื่องนี้ค่าความหวาดกลัวยังเรียกได้เลย ::014:: ::014:: ::014:: ::002:: ;D
หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: C.J. - รักในหลวง ที่ ธันวาคม 17, 2008, 02:20:38 PM กำลังหาอยู่พอดี... ;D
ขอบคุณครับ ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค==>http://www.krisdika.go.th/lawPDF.jsp?LType=2H&formatFile=pdf&vID=0 ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดี==>http://www.krisdika.go.th/lawPDF.jsp?LType=2G&formatFile=pdf&vID=0 หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: ~ Sitthipong - รักในหลวง ~ ที่ ธันวาคม 18, 2008, 09:30:00 AM ;D
หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: พราน ที่ ธันวาคม 18, 2008, 09:49:11 AM กรณีหลอกลวงขายปืนราคาเกินจริงก็พิจารณาเป็นคดีแบบนี้ได้
หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: Τσρ Κσρ รักในหลวง ที่ ธันวาคม 18, 2008, 10:07:19 AM ถ้าผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม จะเป็นอย่างไรบ้าง คดีอาจล่าช้า ผลทางคดีอาจต่างออกไป .... แค่ตั้งข้อสังเกตนะครับ
หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: Twitter 125 ที่ ธันวาคม 18, 2008, 10:07:42 AM กรณีหลอกลวงขายปืนราคาเกินจริงก็พิจารณาเป็นคดีแบบนี้ได้ ผมว่าได้ครับเพราะถือว่าคนซื้อปืนเป็นผู้บริโภค ::002:: ;D หัวข้อ: Re: บรรทัดฐานใหม่เพื่อผู้บริโภค...... เริ่มหัวข้อโดย: ahu ที่ ธันวาคม 18, 2008, 07:19:12 PM ขอบคุณครับ เป็นจิ๊กซอลอีกเรื่องของสังคมที่สวยงาม :)
หัวข้อ: hidden เริ่มหัวข้อโดย: ZAZA ที่ ธันวาคม 18, 2008, 07:26:12 PM กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ กพ.ปีหน้า
คราวนี้ที่บริษัทคงต้องขึ้นศาลบ่อยๆ โดนลูกค้าฟ้อง อิ อิ แต่ไม่บอกค่ะ ว่าที่ไหน |