เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน

สนทนาภาษาปืน => หลังแนวยิง => ข้อความที่เริ่มโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:12:57 PM



หัวข้อ: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:12:57 PM
คู่มือติดคุก เลือกอยู่คุกไหนดี?
คุกไม่ใช่โรงแรม ผู้ต้องขังจึงไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่ที่ไหน (ยกเว้นยื่นคำร้องขอย้ายเรือนจำด้วยเหตุผลที่เหมาะสม)

สิ่งที่กำหนดว่าจะได้อยู่คุกไหนก็คือ

1. ท้องที่ที่ทำความผิด

          ถูกส่งฟ้องที่ศาลไหน ก็ถูกจำคุกที่เรือนจำประจำศาลนั้น กรมราชทัณฑ์เตรียมเรือนจำไว้รองรับกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ

2. สถานะของผู้ต้องขัง

          ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี จะถูกคุมขังที่ เรือนจำพิเศษ ต่างๆ เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแตกต่างไปจากผู้ต้องขังที่คดีเสร็จสิ้นแล้ว (แต่ในหลายๆเรือนจำ ผู้ต้องขังเหล่านี้ก็ยังคงถูกขังปะปนกับผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินแล้ว เนื่องจาก เรือนจำพิเศษมีไม่เพียงพอ)

          ส่วนผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย ก็อาจได้รับการพิจารณาส่งตัวไปยัง ทัณฑสถานเปิด ต่างๆ เช่น ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง  ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น เป็นต้น

3. ความรุนแรงของคดี

          - ถ้าจำคุกนาน จะถูกส่งไปยังเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งได้แก่  เรือนจำกลาง ต่างๆ เช่น เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางประจำเขต        

          - ถ้าโทษไม่สูง ก็จะถูกขังที่ เรือนจำจังหวัด หรือ เรือนจำอำเภอ

          - ถ้าถูกกักขังแทนค่าปรับ จะถูกขังที่ สถานกักขัง เช่น สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดตราด

4. ประเภทของความผิด

          ผู้ทำผิดคดีเสพยาเสพย์ติด จะถูกคุมขังในเรือนจำที่ทำหน้าที่บำบัดการติดยา ซึ่งได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ต่างๆ เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง (เนื่องจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษมีไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดบางส่วนก็ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำทั่วไป มีวิธีการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่เรียกว่า "ชุมชนบำบัด"

5. ลักษณะของตัวผู้ต้องขังเอง เช่น

          - อายุไม่เกิน 25 ปี จะอยู่ใน ทัณฑสถานวัยหนุ่ม

          - ผู้ต้องขังหญิงถูกส่งเข้า ทัณฑสถานหญิง

          - ผู้ต้องขังป่วย ถูกส่งเข้า ทัณฑสถานโรงพยาบาล

                                           ฯลฯ


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:13:37 PM
เช็คอินเข้าคุกวันแรก

1. ตรวจสอบประวัติ
     ประวัติของผู้ต้องขังจะถูกส่งมาที่เรือนจำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียดพร้อมๆกับ
การสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ต้องขังเป็นคนเดียวกันกับที่ระบุไว้ในเอกสารของ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ
2. พิมพ์ลายนิ้วมือ
     เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะนอกจากการสัมภาษณ์แล้ว การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องขังเพื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้า หน้าที่ตำรวจ  จะช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเรือนจำรับ
ผู้ต้องขังไม่ผิดตัว
3. ถ่ายรูป
     บางเรือนจำอาจถ่ายรูปผู้ต้องขังในวันแรกที่เข้ามา แต่บางเรือนจำอาจรอทำในวันถัดไป
4. ทำบัญชีฝากของมีค่า
     เรือนจำจะเก็บของมีค่าทั้งหมดของผู้ต้องขังไว้และออกใบรับฝากให้ผู้ต้องขังเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรับคืนภายหลัง
5. ตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวที่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าเรือนจำ
      เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งต้อง ห้ามปะปนอยู่ โดยเฉพาะยาเสพย์ติด สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้าเรือนจำได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า สบู่ แปรงและยาสีฟัน เป็นต้น
6. พิจารณาจัดหาที่ๆเหมาะสมที่จะให้ผู้ต้องขังอยู่
        โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ใน แดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ มีผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพก็จะส่งไปพักที่ สถานพยาบาลของเรือนจำ   
   สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

สิ่งที่ควรทำ

     1. ถ้ามีโรคประจำตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันทีที่เข้าเรือนจำ

      2. ถ้ามียาที่ต้องกินเป็นประจำ ควรแจ้งพยาบาลประจำเรือนจำเพื่อตรวจสอบว่ามียา
ดังกล่าวในสถานพยาบาลหรือไม่  ถ้าไม่มี ก็จำเป็นต้องติดต่อญาติเพื่อจัดส่งเข้ามา

      3.  พยายามดูแลสุขภาพให้ดี  คุณอาจอยู่ในเรือนจำเพียงไม่กี่วันหรืออาจจะต้องอยู่อีกหลายสิบปี เราอยากเห็นคุณเดินออกจากคุกในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์

      4. พยายามเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังด้วยกัน
คนเหล่านี้อาจช่วยคุณได้เมื่อถึงคราวจำเป็น

      5.  ควรใช้ชีวิตทุกๆนาทีภายในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคมภายนอก

สิ่งที่ไม่ควรทำ

      1.      ห้ามฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆของเรือนจำเด็ดขาด มิฉะนั้น คุณจะถูกลงโทษ !!

      2.      อย่าแต่งกายหรือวางตัวให้ผิดกับผู้ต้องขังคนอื่น การทำตัวเป็นคนเด่นในคุก
มีผลเสียมากกว่าผลดี

      3.      อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือยจนเต็มพิกัดที่เรือนจำกำหนดทุกวัน คุณอาจถูกรีดไถหรือรังแกจากผู้ต้องขังอื่น อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ใช่บอดี้การ์ดส่วนตัวของคุณ เขาไม่สามารถอยู่ปกป้องคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง

      4.   ถ้าเครียด อย่าใช้ ยาเสพติดหรือ การพนันเป็นเครื่องคลายเครียด  มิฉะนั้น สถานการณ์ของคุณจะเลวร้ายลงทุกที

      5. ถ้ามีผู้มาชักชวน หรือตัวคุณเองมีความรู้สึกอยากที่จะทำผิดระเบียบของเรือนจำ
ก็ขอให้ย้อนกลับไปดู ข้อ 1.ใหม่


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:14:04 PM
สิทธิของผู้ต้องขัง

1. สิทธิที่จะได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการและเพียงพอต่อความต้องการ

     กรมราชทัณฑ์รับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ ทุกวัน  ฟรี !
ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคุกจนถึงวันสุดท้าย

2. สิทธิที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ

      ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะมีเสื้อผ้าของตนเองจากญาติที่นำมาให้ ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้า ผ้าห่มและของใช้ประจำตัว ทางเรือนจำจะรับผิดชอบจัดหาให้

3. สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ
     เรือนจำทุกแห่งได้พยายามจัดเรือนนอนให้ผู้ต้องขังได้พักอาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
อยู่ แล้ว แต่คนติดคุกมีมากเกินไป  (มากกว่า 250,000 คน ! ในบางปี) ทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด   ปัจจุบัน เรือนจำเกือบทุกแห่งได้อนุญาตให้โรงเรียนต่างๆพานักเรียนเข้ามาดูสภาพความ เป็นอยู่ของผู้ต้องขังได้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติว่า อย่าทำผิดกฎหมายเด็ดขาด   มิฉะนั้น จะต้องมาทนลำบากอยู่ในคุก
4. สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (0 บาท รักษาทุกโรค)
 
      เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าทีพยาบาลคอยให้การบำบัดรักษาโรคให้กับผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะมีการพิจารณาส่งตัวออกรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก หรือ ส่งตัวมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่กรุงเทพ
 
 
    5. สิทธิที่จะได้รับการติดต่อกับญาติและทนายความ

    ทนายความมีสิทธิ์ขอเข้าพบผู้ต้องขังได้ตามความจำเป็น  ส่วนญาติก็สามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามวันเวลาที่เรือนจำกำหนด ปัจจุบันนี้ เรือนจำหลายแห่ง ได้เพิ่มจำนวนวันที่ญาติสามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้มากขึ้น บางเรือนจำอนุญาตให้เยี่ยมได้ทุกวันทำการ
 
                  ผู้ต้องขังที่พักรักษาตัวอยู่ ใน ทัณฑสถาน-
โรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วย
ได้ถึงตัวภายในโรงพยาบาล   ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถเดินออกไปเยี่ยมญาติได้ตามปกติ
 
  6. สิทธิที่จะประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของผู้ต้องขัง

    ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาต่างๆสามารถประกอบพิธีการทางศาสนาได้โดยทางเรือนจำจะมี
อนุศาสนาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำและอำนวยความสะดวก

7. สิทธิที่จะรับและส่งจดหมายติดต่อกับบุคคลภายนอก

     นอกจากสิทธิที่จะรับ-ส่งจดหมายแล้ว ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ได้มีนโยบายให้ผู้ต้องขังสามารถรับ-ส่ง E-mail กับญาติ และ แม้กระทั่งสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับญาติได้ตามระเบียบที่กรม ราชทัณฑ์กำหนดไว้

8. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ

   ผู้ต้องขังมีสิทธิที่จะอ่านหนังสือและวารสารในห้องสมุดของเรือนจำ และรับชมรายการข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงต่างๆจากโทรทัศน์ที่เรือนจำจัดให้
 


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:14:57 PM
อาหารมื้อแรกในเรือนจำ

ท่านทราบหรือไม่ว่ากรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณในการจัดเลี้ยงอาหารให้ผู้ต้องขัง
คนละกี่บาทต่อมื้อ

      ก. 10 บาท             ข. 12 บาท           ค.  19 บาท          ง.  22 บาท   
 
 (ดูคำตอบที่ท้ายกระทู้นี้)
 
โรงครัวของทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ
 
 
   
             ปัญหาของผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำในวันแรกๆก็คือ ความไม่คุ้นเคยกับรสชาดของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   ข้าวสารที่ใช้นั้น เป็นข้าวสารกล้อง 5% ที่เรียกกันว่าข้าวแดง
(ยกเว้นในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเรือนจำบางแห่งที่จะหุงข้าวขาวให้กับ
ผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ป่วย)

            ในกลุ่มผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ปัญหาเรื่องอาหารก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น เรือนจำทุกแห่ง จึงอนุญาตให้ผู้ต้องขังซื้ออาหารจากร้านค้าของเรือนจำมารับประทานได้
โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีสิทธิ์ใช้เงินที่ฝากไว้ในบัญชีของตนในการซื้ออาหารและของใช้ประจำวันได้วันละไม่เกิน 200 บาท

          ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ โรงครัวของเรือนจำจะต้องเตรียม อาหารให้กับ
ผู้ ต้องขังทั่วไป ผู้ต้องขังที่เป็นอิสลาม และผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติ (งบประมาณค่าอาหารเท่ากัน เพียงแต่ปรุงให้รสชาดไม่จัดและเลือกเมนูอาหารที่คิดว่าถูกปากผู้ต้องขังชาว ต่างชาติ ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะในบางเรือนจำ เช่น เรือนจำกลางคลองเปรมคุมขังผู้ต้องขังชาวต่างชาติไว้กว่า 80 ชาติ

             อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ปัญหาเรื่องโรคระบาดด้านทางเดินอาหาร หรือ โรคอาหารเป็นพิษ พบได้น้อยมากในเรือนจำ ทั้งนี้เพราะ อาหารในเรือนจำทุกแห่งจะถูกปรุงแล้วให้ผู้ต้องขังรับประทานทันทีโดยไม่มีการ เก็บค้างไว้นานๆ
วิธีหลับสบายในคุก

แม้แต่คนที่เคยนอนหลับง่ายที่สุดก็ยังมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับเมื่อต้องเข้ามาอยู่ใน
เรือนจำ โดยเฉพาะในวันแรกๆ

         รูปที่เห็นพร้อมกรอบข้างล่างแสดงถึงพื้นที่นอนของผู้ต้องขัง 1 คนตามมาตรฐานสากลคือ 7.5 ตารางเมตร ต่อ คน
ส่วนในประเทศไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดย
กรมราชทัณฑ์  คือ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน (ดังรูปข้างล่าง) ซึ่งเป็นขนาด
ที่พอจะยอมรับได้ ถ้าการระบายอากาศในห้องนอนอยู่ในเกณฑ์ดี

แต่ ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอน น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 3 เท่า !! (สถิติปี 2542)
คือ เฉลี่ยแล้วผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร   ซึ่งหมายความว่า
ถ้า ผู้ต้องขังมีส่วนสูง 170 เซนติเมตร ก็จะมีเนื้อที่นอนกว้างเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น (ดังรูป) เพราะฉะนั้น การจะนอนให้หลับสบายจึงเป็นไปไม่ได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติด

         การแก้ไขปัญหา โดยผู้บริหารเรือนจำ

        1. ต่อเติมเรือนนอนเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ใต้ถุนเรือนนอนที่ยังว่างอยู่ หรือทำที่นอนให้เป็นสองชั้น เป็นต้น ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณน้อยมาก และไม่มี งบสร้างเรือนจำเพิ่ม

        2. ลดความรู้สึกอึดอัดในเรือนนอนโดยติดตั้งพัดลมและพัดลมระบายอากาศเพิ่มขึ้น พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องยุงหรือแมลงที่มารบกวนซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นอน ไม่หลับ

        3. ทำทุกวิถีทางที่จะปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อยและมีความประพฤติดี ออกจากเรือนจำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความแออัดลง โดยวิธีการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก หรือ โอนตัวผู้ต้องขังตามสนธิสัญญาโอนตัวผู้ต้องขังต่างชาติกลับไปจำคุกที่ประเทศ ของตนเอง

        4. พยายามโยกย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำที่แออัดมากไปยังเรือนจำที่มีความแออัดน้อยกว่า

        5. โยกย้ายผู้ต้องขังคดีเสพยาเสพย์ติดที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไปรับการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่ค่ายทหารต่างๆ

           ข้อแนะนำสำหรับผู้ต้องขัง

        1. ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับ พยายามออกกำลังกายหรืออาสาสมัครทำงานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้หลับง่ายขึ้น

        2. ไม่ควรใช้ยานอนหลับช่วย เพราะจะทำให้ติดยา และต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ

        3. การสวดมนต์ ไหว้พระ หรือนั่งสมาธิ ทำวิปัสสนา ก็อาจช่วยได้ ควรปรึกษาอนุศาสน์ของเรือนจำ

        4. ขอยืมหนังสือธรรมะจากห้องสมุดเรือนจำมาอ่านก่อนนอน
 (วิธีนี้ทำให้ง่วงนอนได้เร็วมาก ไม่ว่าผู้ต้องขังจะรู้ซึ้งถึงรสพระธรรมหรือไม่ก็ตาม)


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:15:47 PM
เมื่อเจ็บป่วยในเรือนจำ

เมื่อ ผู้ต้องขังเจ็บป่วยในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะเป็นผู้ให้การดูแลเบื้องต้น หากอาการป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะรายงานผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อพิจารณาส่งตัวออกไปรับการรักษา ที่โรงพยาบาลภายนอก     ในกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังหรือต้องใช้เวลา ในการรักษาเป็นเวลานาน ทางเรือนจำอาจ

พิจารณาส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม กทม.

          การรักษาผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นที่สถานพยาบาลของเรือนจำ หรือที่ทัณฑสถาน
โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเป็นการรักษาโดยที่ผู้ต้องขังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้น
การใส่ฟันปลอมบางประเภท
ทางลัดออกจากคุกให้เร็วกว่าปกติ

1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล

          น่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับผู้ต้องขังที่คดียังอยู่ใระหว่างการ พิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มากและเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด   ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์
 
    ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง
2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น

          ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วจะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม  "ชั้น"
ของผู้ต้องขัง  ดังนี้

          -ชั้นเยี่ยม   ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน

          - ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน

          - ชั้นดี       ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน

         เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ

                     ชั้นเยี่ยม   ชั้นดีมาก   ชั้นดี   ชั้นกลาง    ชั้นเลว   และชั้นเลวมาก

         ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำและความตั้งใจในการฝึก
วิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น

3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ

         ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันสำคัญต่างๆ เช่น
วันเฉลิมพระชนม์พรรษา เป็นต้น

4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ

          ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีและมีโทษจำคุกเหลือไม่มากอาจได้รับการพิจารณา ให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะ อีกด้วย

5. การขอพักการลงโทษ

           เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

           - ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษ

           - ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

           - ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้

                        - ชั้นเยี่ยม  ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ

                        - ชั้นดีมาก  ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ

                        - ชั้นดี        ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:17:06 PM
วิธีบำบัดการติดยาในเรือนจำ

ระบบการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่ใช้อยู่ในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 ระบบคือ

      1. ระบบสมัครใจ  ใช้กันทั่วไปในสถานบำบัดยาเสพย์ติดของทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ติดยาเสพย์ติดที่อยากเลิกยาสามารถติดต่อขอรับการรักษาเมื่อไรก็ได้  ไม่มีการบังคับ

      2. ระบบบังคับรักษา กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ ใช้กับผู้ติดยาที่ถูกจับกุมได้ ถ้าผู้ติดยายอมรับการรักษาโดยระบบนี้ ก็จะไม่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ
 
      3. ระบบต้องโทษ เป็นระบบที่ใช้ในกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมี
การดำเนินการในเรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่งโดยเฉพาะ
 ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษต่างๆ  ซึ่งจะเน้นหนักกิจกรรมด้านนี้เป็นพิเศษ

     ข้อดีของการบำบัดยาเสพย์ติดในระบบต้องโทษ
 
 
มี ระยะเวลาในการรักษาเหลือเฟือ ผู้รับบริการส่วนใหญ่ต้องอยู่ในคุกนานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน(ผู้ต้องขังคดีเสพยาเสพย์ติด) ซึ่งระยะเวลาในการรักษานั้นสำคัญมาก เพราะตามหลักการแล้ว ยิ่งรักษานานก็ยิ่งมีโอกาสหยุดยาได้นาน

หนีไปไหนไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะอยากยาแค่ไหนก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากระบบสมัครใจที่ผู้ติดยาอาจเปลี่ยนใจเลิกรักษาได้เมื่อทนอยากยาไม่ไหว

ระเบียบวินัยของผู้ติดยาในชุมชนบำบัดของกรมราชทัณฑ์จะดีกว่า เพราะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คอยควบคุม

ระยะถอนพิษยาสำหรับผู้ติดยาก็ทำได้สะดวก เพราะเรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่พยาบาลพร้อม

ขั้นตอนการทำอาชีวบำบัดก็ทำได้ง่ายเนื่องจากการฝึกวิชาชีพนั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานหลักของเรือนจำทุกแห่งอยู่แล้ว

  หมายเหตุ : ถึงวิธีบำบัดของกรมราชทัณฑ์จะดีแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้วิธีนี้โดยไม่จำเป็น

10 วิธีคลายเครียดในเรือนจำ

1. ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเรือนจำมีงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาให้ผู้ต้องขังเล่น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นการคลายเครียด


2. เรียนหนังสือผู้ต้องขังสามารถใช้เวลาว่างให้ประโยชน์ได้โดยการเรียนหนังสือ ซึ่งเรือนจำจัดมีการสอนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงระดับปริญญา

3. ฝึกวิชาชีพ
นอก จากจะได้รับเงินปันผลจากการฝึกวิชาชีพแล้ว ผู้ต้องขังยังอาจนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้ (ในภาพ ผู้ต้องขังของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กำลังฝึกเจียรไนพลอย)

4. หางานอดิเรกทำ
การปลูกผักสวนครัว นอกจากจะทำให้เพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถนำผักที่ได้มาใช้เป็นอาหารได้อีกด้วย
5. ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี
โทรทัศน์ เป็นสิ่งบันเทิงคลายเครียดที่มีอยู่ในทุกเรือนจำ (ในภาพ เป็นศูนย์ควบคุมทีวีวงจรปิดที่ทำหน้าที่ควบคุมการส่งข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงทางโทรทัศน์ ไปยังห้องผู้ป่วยทุกห้องภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์


6. ไหว้พระ สวดมนต์
ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีมากสำหรับผู้ต้องขัง (ในภาพ ผู้ต้องขังชาวมุสลิมกำลังทำพิธีทางศาสนา)

7. เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เรือนจำจัดขึ้น(ในภาพ เป็นงานสงกรานต์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลจัดให้ผู้ต้องขัง)

8. นั่งสมาธิ
การทำวิปัสนาหรือนั่งสมาธิช่วยให้ผู้ต้องขังมีจิตใจสงบและเยือกเย็น (ในภาพ คือผู้ต้องขังป่วยที่ออกมานั่งสมาธิที่สนามหญ้าในเวลาเช้า)

9. ติดต่อพูดคุยกับญาติการติดต่อกับญาติไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมหรือพูดคุยทาง โทรศัพท์ จะช่วยให้สภาพจิตใจของผู้ต้องขังดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำวันแรกๆ

10. ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดความเครียด เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อนุศาสนาจารย์ อาสาสมัคร ฯลฯ อาจช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์  (ในภาพ เป็นอาสาสมัครจากกลุ่ม NGO ที่เข้ามาพูดคุยเป็นกำลังใจให้กับผู้ต้องขังในทัณฑสถานโรงพยาบาล)


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:18:14 PM
ภัยมืดในเรือนจำ

วัณโรคคร่าชีวิตผู้ต้องขังไปปีละหลายสิบราย
ป้องกันได้ยาก

   เหตุผล :

        1. เชื้อวัณโรคมากับอากาศ
        2. ผู้ต้องขังอยู่รวมกันอย่างแออัด
   
        3. ผู้ต้องขังมีเกณฑ์สุขภาพต่ำกว่าประชากรทั่วไป เพราะ มีผู้ติดยาเสพย์ติดและติดเชื้อเอดส์มาก

   วิธีเอาตัวรอด :

       1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

       2. งดบุหรี่และยาเสพติด

       3. แจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทราบเมื่อมีอาการที่ส่อว่า อาจเป็นวัณโรค เช่น

                      - ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือ ไอเป็นเลือด

                      - มีไข้เรื้อรัง

                      - น้ำหนักลด

         4. เมื่อถูกตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องกินยาให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง  การรักษาวัณโรคภายในเรือนจำมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจาก เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเฝ้าดูการกินยาของผู้ป่วยทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้กลืนยาลงไปจริง (ชนิดของยา วิธีกิน และการเฝ้าดูผู้ป่วยกินยา เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก) เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ต้องขังไม่ควรหลีกเลี่ยงการกินยา

         5. ในผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอดส์ แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันวัณโรค เนื่องจากอัตราการ
เสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีวัณโรคแทรกซ้อนนั้นสูงมาก

        6. ในกรณีที่ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำหรือพ้นโทษก่อนที่การรักษาจะสิ้นสุด ก็จำเป็นต้องติดตามรักษาต่อจนครบกำหนดโดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำหนังสือเพื่อ ส่งตัวไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกย้ายไป หรือที่โรงพยาบาลภายนอกในกรณีที่พ้นโทษ
การติดต่อญาติทางE-mail
ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้นำ E-mail มาใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้ต้องขังป่วยและญาติมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยได้สะดวก การใช้
E-mail จะช่วยให้ประหยัดค่าส่งจดหมายระหว่างประเทศลงได้มาก
 
 
          นอกจากนี้ ภาพถ่ายดิจิตอลของผู้ต้องขังป่วยที่ส่งฝากไปกับ E-mail ให้ญาตินั้น ช่วยทำให้ญาติผู้ป่วยได้เข้าใจและรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่และอาการป่วยของผู้ ต้องขังได้ดี

        ปัจจุบันนี้ กรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้เรือนจำทุกแห่งรับ-ส่ง E-mail ให้กับผู้ต้องขังได้
เรือนจำหลายแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำกลางคลองเปรม ฯลฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว

        ส่วน E-mail address ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ญาติสามารถ ติดต่อได้คือ
 
  staff@hosdoc.com
 
กติกา :

                1. อนุญาตให้รับส่ง E-mail ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นในกรณีที่ฉุกเฉิน
หรือมีความจำเป็น

                2. ผู้ต้องขังเขียนจดหมายส่งให้กับเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน
1 หน้ากระดาษ A4

                3. เนื้อหาในจดหมายต้องมีความเหมาะสม ไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

                4. ทัณฑสถานโรงพยาบาลจะ Scan จดหมายของผู้ต้องขังแล้วส่งให้ญาติในรูปของ Graphic file เพื่อประหยัดเวลาพิมพ์และเพื่อให้ญาติเห็นเป็นลายมือของผู้ต้องขังเอง ส่วนญาติจะส่งมาเป็น Text file หรือ Graphic file ก็ได้


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:19:26 PM
การฝึกวิชาชีพในเรือนจำ

เรือนจำแต่ละแห่งจะมีการฝึกวิชาชีพที่แตกต่างกัน เช่น ช่างไม้ ช่างสี ช่างโลหะ ช่างจักสาน เกษตรกรรม เป็นต้น  คณะกรรมการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังของเรือนจำจะเป็นผู้กำหนดการฝึกวิชาชีพให้ เหมาะกับ อายุ อาชีพเดิมและตามความต้องการของตัวผู้ต้องขังเอง

          การฝึกวิชาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้นั้น เรือนจำจะแบ่งเงินปันผลให้ผู้ต้องขัง 50% ของรายได้สุทธิ

ข้อควรปฏิบัติในการฝึกวิชาชีพ

- เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการฝึกวิชาชีพ ผู้ต้องขังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของครูฝึกอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เครื่องป้องกันต่างๆ

- ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยสามารถหยุดงานได้ตามความเห็นของแพทย์และพยาบาลประจำเรือนจำ

- ในขณะที่กินยาแก้หวัดหรือยาอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ไม่ควรทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือปีนขึ้นที่สูง   

- แอลกอฮอล์ที่ใช้ในโรงงานช่างไม้นั้นเป็นแอลกอฮอล์ที่กินไม่ได้ การแอบขโมยไปกินอาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้

- ห้ามลักลอบนำทินเนอร์ที่ใช้ในการฝึกวิชาชีพช่างสีไปสูดดม เพราะนอกจากจะทำให้เสพติดเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามระเบียบฯ

- ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคลมบ้าหมู โรคภูมิแพ้ สายตาผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการฝึกวิชาชีพบางประเภท แพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลของเรือนจำจะแจ้งเรือนจำเพื่อขอเปลี่ยนงานให้   
การขอใบแพทย์ประกันตัว

มีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลด้านการเจ็บป่วย
 
  ผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำหากเจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ใบความ เห็นแพทย์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาขอประกันตัวที่ศาล  ก็สามารถติดต่อขอจากแพทย์ผู้รับ ผิดชอบของเรือนจำได้ โดย.....

        1. ในเรือนจำที่มีแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ประจำอยู่ เช่นเรือนจำในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อขอจากแพทย์ได้โดยตรง

        2.ในเรือนจำต่างจังหวัดสามารถติดต่อกับแพทย์ผู้รับผิดชอบงานอนามัยเรือนจำ ซึ่งได้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน

       3. ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยหรือประวัติการรักษาผ่าตัดก่อนหน้าที่จะเข้ามาใน เรือนจำนั้นมีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้แพทย์สามารถใช้ประกอบการออกความเห็นได้ถูกต้องและรวดเร็ว

       4. ในกรณีที่ขอใบความเห็นแพทย์เพื่อใช้ประกอบการทูลเกล้า ขอพระราชทานอภัยโทษก็ทำเช่นเดียวกับการขอไปเพื่อประกอบการประกันตัวในชั้น ศาล
ปัญหาการตั้งครรภ์และเด็กในเรือนจำ

เมื่อหญิงตั้งครรภ์ถูกส่งตัวเข้ามาในเรือนจำ
 
 เรือนจำจะดำเนินการดังนี้.....
  1. เรือนจำจะส่งตัวไปนอนพักที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำและงดการทำงานทุกชนิดโดย เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด
 
  2. เรือนจำจะนำตัวไปฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลนอกเรือนจำที่สะดวกที่สุด โดยจะนำไปทุกครั้งตามที่แพทย์นัด

  3. การคลอดภายในเรือนจำนั้น ทางเรือนจำจะพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับแม่และเด็ก เนื่องจาก สถานพยาบาลของเรือนจำมีบุคคลากรและเครื่องมือไม่เพียงพอ

  4. เด็กที่เกิดจากผู้ต้องขัง ทางเรือนจำจะอนุญาตให้แม่เป็นผู้เลี้ยงดูภายในเรือนจำจนกว่าจะโต
 
จนถึงวัยที่จำความได้ (ประมาณ 3 ปี)  แล้วจึงให้ญาติรับตัวไป 
        ในกรณีที่ไม่มีญาติ ทางเรือนจำอาจพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับตัวไปเลี้ยงแทน เช่น กรมประชาสงเคราะห์หรือ NGO(เช่น บ้านอาทร) หรือสถานรับเลี้ยงเด็กของกรมราชทัณฑ์เอง

  5. เด็กที่อยู่ในเรือนจำนั้น ทางเรือนจำจะรับผิดชอบดูแลสุขภาพตลอดจนให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ส่วนนมผงและข้าวของเครื่องใช้สำหรับเลี้ยงดู
เด็กอ่อนนั้น

ภาพที่1 ห้องเลี้ยงเด็กของทัณฑสถานหญิง
ภาพที่2 ส่วนหนึ่งของของบริจาคสำหรับเด็กอ่อน

ผู้มีจิตกุศลสามารถติดต่อบริจาคได้ที่.....
 
    ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์
       โทร.0-2967-3357

ทัณฑสถานหญิงกลาง     โทร.0-2589-5243

บ้านบุญญาทร    โทร.0-2953-4246

ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
       โทร. 0-2953-3999


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:20:34 PM
การลักลอบสักยันต์ในเรือนจำ

ผู้ ต้องขังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสักยันต์ค่อนข้างมาก การสักสามารถทำได้ทั้งก่อนถูกจำคุกและระหว่างถูกจำคุก  ซึ่งป้องกันได้ยาก  ทั้งนี้เพราะ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก คือเข็มเย็บผ้าและหมึกนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำ

อันตรายและข้อเสียจากการสักยันต์

-เกิดการติดเชื้อ ผิวหนังอักเสบเป็นหนอง ถ้ากรรมวิธีการสักไม่สะอาดพอ

-เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบและเชื้อเอดส์

-รอยสักที่สักโดยมือสมัครเล่นจะลบออกได้ยาก 

-รอย สักที่อยู่นอกร่มผ้าจะเป็นอุปสรรคต่อการออกหางานทำเมื่อพ้นโทษแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันว่า คนที่มีรอยสักมากๆ มักเป็นพวกนักเลงหรือ อันธพาล ไม่น่าไว้วางใจ

* อย่าสักยันต์ในเรือนจำ เพราะ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และ ลบไม่ออก *
เมื่ออยู่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังอาจติดเชื้อเอดส์ได้โดย :

          1. ใช้เข็มฉีดยาเสพย์ติดร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์ วิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะทำได้ยากเนื่องจากเรือนจำทุกแห่งมีมาตรการป้องกันและปราบปราม
 
 
  อยู่แล้วและสภาพภายในเรือนจำก็ไม่เอื้ออำนวยให้ฉีดยาเสพย์ติดได้ง่ายๆ เพราะผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด โอกาสที่จะลักลอบฉีดยาเสพย์ติดโดยไม่มีผู้อื่นรู้เห็นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้

             อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มของผู้ที่ถูกจำคุกด้วยคดีเสพยาส่วนใหญ่จะเป็นยาบ้ามากกว่า เฮโรอีนก็ตาม ก็ยังคงมีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งที่ยังคงลักลอบฉีดยาเสพย์ติดในเรือนจำอยู่ ทั้งๆที่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์

          2. การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอดส์ พฤติกรรมรักร่วมเพศในเรือนจำนั้น อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย (เช่นผู้ต้องขังมีความเครียดสูง อยู่กันอย่างแออัด) การมีเพศสัมพันธ์ภายในเรือนจำมักจะทำโดยไม่มีการใช้ถุงยางป้องกัน จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์

 

วิธีเอาตัวรอดจากการติดเชื้อเอดส์ภายในเรือนจำ

           1. อย่าใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่นอย่างเด็ดขาด โอกาสติดเชื้อเอดส์มีสูงมาก เพราะกลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์สูงกว่าประชากร ทั่วไปหลายเท่า   ในประเทศอังกฤษ ผู้บริหารเรือนจำที่มองเห็นอันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อเอดส์ว่าร้าย แรงกว่าติดยาเสพย์ติดมาก ถึงกับตั้งกฎไว้ 3 ข้อคือ

                           1) อย่าเสพยา

                           2) ถ้าจำเป็นต้องเสพ อย่าใช้ชนิดฉีด

                           3) ถ้าจำเป็นต้องฉีด ขอให้ใช้เข็มสะอาด

           แต่ในเรือนจำของไทยนั้น ไม่มีนโยบายยืดหยุ่นแบบนี้ ถ้าจับได้ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหรือเจ้าหน้าที่ก็ตาม จะถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด
 
2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ต้องขังอื่น  (ถึงแม้จะมีถุงยางใช้ก็ไม่ควรเสี่ยง) ใช้วิธีช่วยตัวเองจะปลอดภัยกว่า ทางที่ดีไม่ควรหมกมุ่นกับเรื่องทางเพศให้มากเกินไป
ขอแนะนำให้ดูหัวข้อ 10 วิธีคลายเครียดระหว่างติดคุก

          3. ห้ามสัมผัสเลือดของผู้ต้องขังอื่น ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังอื่นๆอาจเกิดอุบัติเหตุ หรือทะเลาะวิวาทกันจนบาดเจ็บมีเลือดออก การเข้าไปทำการปฐมพยาบาลห้ามเลือดควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลที่ทาง เรือนจำจัดอบรมให้แล้วเท่านั้น

           ถ้าจำเป็นต้องสัมผัสกับเลือดเหล่านี้โดยตรง ต้องแน่ใจว่ามือของเราไม่มีบาดแผลอยู่
ผู้ต้องขังสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมทั้งภายในและภายนอกเรือนจำได้หลายวิธี เช่น

อาสา สมัครทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังอื่นๆที่สูงอายุ เจ็บป่วย พิการ ปัญญาอ่อน เป็นต้น โดยเรือนจำจะมีหลักสูตรอบรมความรู้ที่ผู้ต้องขังสามารถนำไปใช้ในการดูแลผู้ อื่นได้ เช่นอบรมทางด้านการปฐมพยาบาล การนวดแผนโบราณ การดูแลผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ ฯลฯ

-อาสาสมัครบริจาค ดวงตา หรืออวัยวะให้สภากาชาดไทย

-อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ เช่น ทำความสะอาดวัด ขุดลอกคูคลองหรือท่อระบายน้ำ

-ร่วมกิจกรรมต่างๆที่เรือนจำจัดขึ้น เช่น รณรงค์งดสูบบุหรี่ ร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา

-ช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยและสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำ อย่าลืมว่า
"ถ้าต้องการอยู่ในเรือนจำให้สบายเหมือนอยู่ข้างนอก ผู้ต้องขังต้องช่วยกันทำเรือนจำให้น่าอยู่


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:21:16 PM
เตรียมตัวออกจากคุก

เมื่อใกล้พ้นโทษ เรือนจำทุกแห่งจะต้องเตรียมการดังนี้......

      - เตรียมข้อมูลผู้ต้องขังพ้นโทษ  พร้อมรูปถ่ายของผู้ต้องขัง   ส่งไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

     - เตรียมอบรมก่อนปลดปล่อย ซึ่งจะมีทั้ง การอบรมด้านศีลธรรม การฝึกวิชาชีพ การศึกษา ในเรือนจำบางแห่ง อาจย้ายผู้ต้องขังมาอยู่รวมกันในแดนเดียวกันเพื่อสะดวกในการอบรม

     - ให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังในการปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่ในสังคมภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังอยู่ในระหว่างการคุมประพฤติ ซึ่งผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด หากทำผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติ ก็อาจถูกส่งตัวกลับไปในเรือนจำได้อีก

     - ประสานงานแจ้งให้ญาติทราบเพื่อมารับตัววันพ้นโทษ

 
ส่วนตัวผู้ต้องขังเองนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ

     - ดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตดีขึ้นเมื่อใกล้พ้นโทษ แต่บางคนอาจเครียดและกังวลเพราะไม่รู้ว่าพ้นโทษแล้วจะไปอยู่ที่ไหน  ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างไร
ในเรือนจำผู้ที่พอจะให้คำปรึกษาได้  ก็คือนักสังคมสงเคราะห์ อนุศาสนาจารย์ นักจิตวิทยา

เจ้าหน้าที่พยาบาล
     - ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษที่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการบำบัดรักษาโรคจาก เรือนจำ เช่น วัณโรคปอด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ จำเป็นต้องเตรียมขอประวัติการรักษาพยาบาลเพื่อ นำไปใช้ในการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลภายนอก
ในที่สุด วันนี้ก็มาถึง ขอให้โชคดี  " คิดใหม่-ทำใหม่ "
ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรและจงอย่ากลับเข้ามาอีก !!

พ้นโทษแล้วไปไหน ?

เคยมีคนทำวิจัย (เรือนจำที่เสปน) พบว่า ภายใน 24 ชั่วโมงหลังพ้นโทษ

          80 % ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษจะ ไปเที่ยวโสเภณี

          75 % ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษจะ ไปหายาเสพย์ติด (ผู้ต้องขังที่มีประวัติติดยา)

          ขอเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า จะทำอะไรขอให้คิดถึงผลร้ายที่จะตามมา

ถ้า ไม่รู้ว่าจะไปไหน ก่อนพ้นโทษขอให้ติดต่อกับอนุศาสนาจารย์ของเรือนจำ มีหลายเรือนจำให้บริการติดต่อกับวัดใกล้เคียงเพื่อทำพิธีอุปสมบทให้ เพื่อเป็นศิริมงคล

          นอกจากนี้ หลายเรือนจำก็มีบ้านกึ่งวิถี (Half way house) สำหรับรองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วญาติมารับตัวไม่ทัน เช่น ศาลสั่งปล่อยตัวกระทันหัน จึงไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ผู้ต้องขังบางคนอาจจะไม่มีญาติเลย จึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านกึ่งวิถีไปพลางๆก่อนเพื่อรอหางานทำหรือรอความช่วย เหลือจากกรมประชาสงเคราะห์

สำหรับในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน ก็มีบ้านกึ่งวิถีที่ชื่อว่า  "บ้านสวัสดี" ไว้รองรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษจากเรือนจำกลางคลองเปรม  เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และเรือนจำอื่นๆในเขตกรุงเทพและปริมณฑล


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:22:47 PM
ติดคุกฟรี!! ใครรับผิดชอบ


ตัวอย่างของการติดคุกฟรี
1. ถูกจับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ แล้วต่อมา มีหลักฐานชัดเจนว่า
ไม่ได้ทำผิด จนมีการถอนฟ้อง
2. ศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้ทำผิด ให้ปล่อยตัวไป
 
    เมื่อติดคุกฟรี และถูกปล่อยตัวแล้ว สิ่งที่มักจะตามมา (ตามประสาคนไทย) ก็คือ
          1. ไปหาหลวงพ่อ รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ส่วนการที่ต้องเสียเวลาเข้ามาอยู่ในคุก
ถูกไล่ออกจากงาน จนป่านนี้ก็ยังหางานทำไม่ได้ ก็ถือว่าฟาดเคราะห์ไป.....เวรกรรม.....
          2. ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง พาไปเลี้ยงฉลองที่ไม่ต้องติดคุก...ไชโย ๆ ๆ...ส่วนที่ต้องหลง
เข้ามาอยู่ในคุกเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็ถือว่าแล้วกันไป...ขอกันกินมากกว่านี้
ถ้าท่านพอใจอยู่แค่นี้  ความยุติธรรมจะมีเหลืออยู่อีกหรือ ?
      

เราขอแนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย
    1. จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก
    2. จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
    3. ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่ กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ      
    4. ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย
    5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ


อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลย ที่.....
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา        
สำนักงานที่ว่านี้อยู่ที่ ชั้น 25 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ
           อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
           โทรศัพท์ 0-2502-8083,  0-2502-6539
ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี
มิฉะนั้นหมดสิทธิ.....นะ...จะบอกให้

เรื่องราวต่างๆ ประเภทเดียวกันที่น่าสนใจ

การสักยันต์ในเรือนจำ
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1644.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1644.0)

คู่มือติดคุก(2)โซ่ตรวนและกุญแจมือ
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1645.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1645.0)

คู่มือติดคุก(3)ไฟฟ้ากับผู้ต้องขัง
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1646.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1646.0)

ความรู้รอบคุก (สงครามเทคโนโลยีในคุก มือถือออนไลน์)
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1647.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1647.0)

ความรู้รอบคุก(ผู้คุมประเภทคนเหล็ก)
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1648.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1648.0)

ความรู้รอบคุก(เรื่องหมาๆในคุก)
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1649.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1649.0)

ปฏิบัติการช่วยชีวิตนักโทษ
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1650.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1650.0)
การชันสูตรพลิกศพผู้ต้องขัง
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1651.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1651.0)

เรื่องของลายนิ้วมือ
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1654.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1654.0)

วิธีป้องกันการฆ่าตัวตายในเรือนจำ
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1655.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1655.0)

ผู้ต้องขังติดยา, วิธีตรวจสารเสพติด
http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1656.0 (http://www.nightsiam.com/forum/index.php?topic=1656.0)

จบแล้วคร้าบบบบบบบบบบ    ::014:: ::014:: ::014:: ::014::  


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: jad1911 ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 03:48:55 PM
 :OO


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: ค..ควาย...ใส่ชฎา ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 04:00:26 PM
Ha Ha ฮา  ศึกษารายละเอียด  "เตรียมตัว" ไว้ก็ดีน๊ะคร๊า พี่ช้าง ขร๊า  ฮา

เหมือนคำพระท่านว่า " ชีวิต  ไม่ควรตั้งอยู่บนความประมาท"  ฮา

ส่วนยายน๊ะคร๊า  ฮา  ที่บ้านเวลานอน มีคน "นวด" ให้คร๊า แอร์ก็เย้น เย็น ฮา
ข้าวปลาอาหาร  ได้รับวิตามิน ครบทุกหมู่  วันละสามเวลา คร๊า ฮา

ยายขอ "สละสิทธิ์"  น๊ะคร๊า  ฮา


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: submachine -รักในหลวง- ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 04:04:01 PM
ติดคุกฟรี!! ใครรับผิดชอบ


เราขอแนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย
    1. จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก
    2. จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
    3. ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่ กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ       
    4. ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย
    5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ


อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลย ที่.....
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา         
สำนักงานที่ว่านี้อยู่ที่ ชั้น 25 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ
           อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
           โทรศัพท์ 0-2502-8083,  0-2502-6539
ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี
มิฉะนั้นหมดสิทธิ.....นะ...จะบอกให้


ชอบตรงนี้ครับ ผมเพิ่งทราบ
+1ครับ


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 04:16:01 PM
ใช่ครับยายตอนผมหามาอ่านทีแรกก็เพราะคิดว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้กับชีวิตเราไม่ประมาทดีกว่า   ::014:: ::014:: ::014::


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: PU45™ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 05:04:04 PM
ชอบตรงนี้ครับ ผมเพิ่งทราบ
+1ครับ

                     ของน้าซับคงเรียกย้อนหลังไม่ได้แล้วละครับ    รู้สึกจะหมดอายุความเมื่อเร็วๆนี้   :P



หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: Rath72 รักในหลวง ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 05:17:36 PM
ข้อมูลดี น่าศึกษามากครับ(แต่ไม่น่าใช้ :~)) ขอบคุณมากครับ

+1 ด้วยครับ


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: ณัฏฐ์ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 06:44:46 PM
ขอบคุณครับที่เอาคู่มือดีๆมาให้อ่าน อ่านแล้วขอลืมเลยนะครับ...+ ครับ


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: Ultraman Taro #รักในหลวง# ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 06:48:47 PM
ติดคุกฟรี!! ใครรับผิดชอบ


เราขอแนะนำให้ผู้ต้องขังที่ต้องติดคุกฟรีทุกคน ใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายซึ่ง เรื่องนี้รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดย
    1. จ่ายเงินชดเชยที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก โดยนับเป็นรายวัน ติดคุกนานก็ได้รับเงินค่าชดเชยมาก
    2. จ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าความเจ็บป่วยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
    3. ถ้าติดคุกแล้วตาย และการตายเป็นผลจากการถูกดำเนินคดี รัฐบาลต้องจ่ายในอัตราที่ กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฯ       
    4. ระหว่างติดคุก ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวขาดรายได้ ก็ต้องได้รับเงินชดเชยด้วย
    5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ


อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ติดต่อไปได้เลย ที่.....
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา         
สำนักงานที่ว่านี้อยู่ที่ ชั้น 25 ตึกกระทรวงยุติธรรม เลขที่ 99 หมู่4 ถนนแจ้งวัฒนะ
           อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
           โทรศัพท์ 0-2502-8083,  0-2502-6539
ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี
มิฉะนั้นหมดสิทธิ.....นะ...จะบอกให้


ชอบตรงนี้ครับ ผมเพิ่งทราบ
+1ครับ

ชอบตรงนี้เหมือนกันนึกว่ามีแต่ในเมืองนอก ในซีรีส์เรื่อง Life พระเอกเป็นแพะติดคุก10ปี หลุดออกมาได้เงิน50ล้าน


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: FIAT- P220@รักในหลวง ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:13:27 PM
เดี๋ยวนี้เป็นข้าวขาวแล้วนะครับ ขอบอก ขอบอก ผมเพิ่งออกมาเมื่อเย็นนี้เอง  :~) :~) :~) :~) :~)


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: ขุนช้าง-รักในหลวงและสมเด็จพระเทพ ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2011, 10:15:00 PM
กำผู้มีประสบการ์ณตรงมาเองเลย :OO :OO :OO


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: nick357 "รักในหลวง" ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 01:18:46 AM
ผมเคยอ่านเจอโรงเรียนจัดทัศนะศึกษาคุก เลิกจัดไปแล้วยังครับ น่าจะจัดทุกโรงเรียน ไปดูทุกเเดนเลย หานักโทษที่ติดนานๆคุยถึงความลำบากให้นักเรียนฟัง อาจทำให้เด็กกลัวการทำความผิด..


หัวข้อ: Re: คู่มือดีๆน่าอ่านแต่ภาวนาว่าอย่าได้ใช้(คู่มือการติดคุก)
เริ่มหัวข้อโดย: Peerapat - รักในหลวง ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2011, 01:38:31 AM
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ  ::002::