จำนวนคนอ่านล่าสุด 712 คน วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7594 ข่าวสดรายวันชาวพุทธ'หู'รุนแรงคอลัมน์ คำคมคารมเซียน
kumkom99@gmail.com ชื่อตอนข้างต้นอาจมีคนสงสัย
บังเอิญไปเห็นชุมชนคนรักเพลงร็อกโหดๆ โพสต์ข้อความนี้ไว้ในเฟซบุ๊ก
เป็นมุขฮาๆ ว่าฟังเพลงแรงต้อง "หูหนัก"
พอดีศัพท์คราวนี้เกี่ยวข้องกับนักส่องชาวพุทธ "หูเบา"
เห็นว่าเข้าท่า เลยขอยืมมา
ใช้ล้อ-จั่วหัว มั่ว-แถดื้อๆ...ซะงั้น!
เข้าเรื่องกันดีกว่า...
อย่าเล่นพระด้วยหู : เล่นพระอย่าหูเบา
ในแวดวงพระเครื่อง อย่าคิดว่ามีแต่เรื่องการห้ำหั่น
ในความเป็นจริงนั้น การเกื้อกูลก็มีให้เห็นควบคู่กัน
แบ่งปันความรู้-ประสบการณ์ ส่งผ่าน...รุ่นต่อรุ่น
อย่างบทกลอนสอนเซียน เขียนโดยปรมาจารย์ยุคบาร์มหาผัน
ท่านรจนาเตือนไว้น่าฟังดังนี้
อย่า...ทำตนไถพระเขาฟรี อย่า...อวดดีอย่างคางคก
อย่า...ฟูมฟกเมื่อเจอพระเก๊ อย่า...ทำเก๋ชักดาบเขา
อย่า...มัวเมาเล่นจนหลง อย่า...พะวงพระลาวตกรถ
อย่า...ใจคดทุบหม้อข้าว อย่า...เช่าพระใกล้พลบค่ำ
อย่า...ลูบคลำพระถูเหงื่อ อย่า...เชื่อหูแต่จงเชื่อตาทุก "อย่า" คือบทบัญญัติชั้นดี ใครที่ตั้งตนเป็นเซียนควรหมั่นปฏิบัติ
คือของกำนัลจัดให้ จากใจรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง เพียง 10 อย่าเท่านั้น...จำจงดี!
สรุปเน้น-แนะชัดตรงบรรทัดสุดท้าย
"อย่า...เชื่อหูแต่จงเชื่อตา"
ง่ายๆ แปลว่า "เล่นพระอย่าหูเบา"
เข้าขั้นวรรคทองของวงการ
สำคัญ-สัมพันธ์ต่อเนื่องกับ "นิทาน-นิยาย"
เรื่องเล่าอันตรายที่จ้องขมายสตางค์ในกระเป๋าของเหล่านักเล่นที่เชื่อคนง่าย
ผลลัพธ์สุดท้ายคือ...พระเก๊เต็มบ้าน!
พระเครื่อง ไม่ใช่ "เพลง" ซะหน่อยจะได้คอยเงี่ยหูฟัง
อวัยวะเดียวเท่านั้นที่ควรวางใจคือ...ตา
ต้องหาเวลาถ่างผ่านเลนส์กล้องชั้นดี
ส่องให้ถ้วนถี่ พิจารณาให้ถ่องแท้...และต้องมีหลักการ
เพราะเรื่องปาฏิหาริย์-ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องเล่าที่คละเคล้ากับความเชื่อ-ศรัทธาของแต่ละบุคคล
คุยแล้วสับสน...จบยาก
ตรงข้ามกับองค์พระเครื่อง ท่านเป็นวัตถุที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
ฟันธง "ขาว-ดำ" พิสูจน์ "เก๊-แท้" ได้แบบเชิงวิทยาศาสตร์
เซียนชั้นดีมักจ้ำจี้จ้ำไชว่า...
"พระจะแท้-ไม่แท้อยู่ที่องค์พระ ใช่อยู่ที่ใครให้มา หรือเพราะว่านิยาย-นิทานที่ขยันกรอกหู"
พระเครื่อง อาจมีหลากหลาย ตั้งแต่ดิน-ชิน-ผง-กริ่ง-รูปหล่อ-เหรียญ...
แต่ทุกเซียนล้วนรู้ว่าจะต้องดูจุดไหน เป็นจุดจดจำสำคัญสุด
หลักการง่ายๆ แต่...ยาก คือ
พิมพ์ต้องถูก-เนื้อต้องใช่-ธรรมชาติต้องมี
ให้ดี ควรรู้กรรมวิธีในการสร้าง
"พิมพ์ถูก" คือลักษณะทางกายภาพของพิมพ์พระถูกต้อง ตำหนิครบตามตำรา ไม่ผิดเพี้ยน
"เนื้อใช่" คือมวลสารหรือโลหะที่ประกอบเป็นองค์พระเป็นไปตามข้อมูล ไม่แปลกปลอม
"ธรรมชาติต้องมี" คือ ธรรมชาติความเก่าที่เกิดจากกาลเวลา ธรรม ชาติความสึกกร่อนที่เกิดจากการใช้
และที่สำคัญ...ธรรมชาติที่เกิดจากการสร้างพระ
ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่าควรเข้าใจกระบวนในการผลิตแต่ละชนิดของพระเครื่อง
เรื่องมันยาวครับ ขอกระชับพื้นที่สั้นๆ พอให้เห็นภาพ
ยกตัวอย่างการสร้าง "พระเหรียญ" ซึ่งเกิดจากปั๊มของเครื่องจักร
มักปรากฏเส้นเสี้ยนคมๆ บนพื้นผิวที่เรียบตึงจากการกระแทกพิมพ์
และร่องรอยตัดตรงข้างขอบเหรียญ
ตามแบบเครื่องตัดโลหะที่วิวัฒนาการไปแต่ละช่วงยุคปี
เอกลักษณ์ธรรมชาติเหล่านี้ ต้องมีให้เห็น
แต่พระเก๊ที่เกิดจากการถอดพิมพ์ แล้วปลอมใหม่ด้วยวิธีหล่อเหวี่ยง-หล่อฉีด ฯลฯ
ความประณีต-คมชัดจะ...ไม่เหลือ
เบลอๆ-บวมๆ กำกวม-ก้ำกึ่ง...ก็เก๊ชัวร์
อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งปวดหัว
อย่ากลัวอย่าแหยง...ถ้าอยากเก่ง
หมั่นฝึกส่อง เรียนรู้จากพระแท้ให้เยอะจน "ตาถึง"
ห้าม "หูถึง-หูเบา" ฟังแต่เรื่องเล่าเลอะเทอะเหลวไหล
นักเล่นพระชาวพุทธต้อง "หูรุนแรง"...ฟังไว้!