สำคัญที่ความตั้งใจ ธรรมะวันหยุดพระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.comธรรมดาจิตย่อมไหลไปตามกระแสกิเลส อุปมาเหมือนน้ำไหลลงไปสู่ที่ต่ำ จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน คิดแต่จะทำกรรมชั่วอยู่ประจำ เมื่อประจวบกับเหตุที่เหมาะแล้ว ย่อมกระทำความชั่วได้ทันทีส่วนการทำกรรมดีเป็นของยาก เหมือนการพายเรือทวนกระแสน้ำ ต้องอาศัยความพยายามมาก จึงสามารถนำเรือแหวกทวนกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้สำเร็จในปัจจุบันมีเหตุที่ยั่วเย้าให้เราคิดทำกรรมชั่วมากขึ้น ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเมตตากรุณาต่อกันก็เสื่อมไปตามลำดับ เพราะการทำกรรมชั่วเป็นเหตุ
ความเข้าใจในกฎแห่งกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องให้ความสว่างทางจิตแก่ทุกคน ความฉลาดในกฎแห่งกรรมจะทำให้ทุกคนละเว้นจากความชั่ว ประพฤติกรรมดี ให้แข่งกันทำความดี
กรรมคืออะไร คนส่วนมากยังเข้าใจถึงเรื่องของกรรมไม่ชัดเจนนัก เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความไม่ดีไปเสียทั้งหมด ถึงคราวเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมามักจะบ่นกันว่า เป็นกรรมของเรา เห็นใครเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนก็บ่นว่า เป็นกรรมของเขา แต่เมื่อถึงคราวที่เราเกิดความสุขสำราญขึ้นก็พูดว่าเป็นบุญของเรา เห็นคนอื่นมีความสุขมักจะพูดว่า เป็นบุญของเขา ทำให้เข้าใจว่ากรรมเป็นเรื่องของความไม่ดี บุญเป็นเรื่องของความดี บางครั้งเติมเวรเข้าไปด้วย เป็นเวรกรรมหรือกรรมเวร สลับกันไปมาอย่างนี้
กรรม แปลว่า การกระทำ ตามศัพท์แสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นแหละเป็นตัวกรรม โดยที่ท่านไม่ได้จำกัดว่า เป็นการทำดีหรือทำชั่ว กรรมจึงเป็นคำกลางๆ จะว่าเป็นเรื่องของความดีอย่างเดียวไม่ได้ จะว่าเป็นเรื่องของความชั่วอย่างเดียวไม่ได้
การกระทำที่ปรากฏออกมา ต้องอาศัยเจตนาคือความตั้งใจที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นสำคัญ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาคือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ย่อมมีการปรุงแต่งคือนึกคิดก่อนแล้วจึงทำ
เจตนาคือความตั้งใจเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำ การกระทำของคนเรามีเพียงสามทางเท่านั้น คือ การกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ
กรรมเป็นเหตุและผลของกัน เหตุเช่นใด ผลก็เช่นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว
กฎแห่งกรรม เป็นกฎทั่วแก่สรรพสัตว์ที่มีอยู่ในโลกนี้ เรื่องของกรรมนี้จึงไม่ได้จำกัดแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เมื่อท่านกระทำกรรมดีแล้ว ย่อมจะต้องได้รับผลดีทั้งนั้น และตรงกันข้ามถ้าท่านกระทำกรรมชั่วแล้ว ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ท่านจะต้องได้รับผลแห่งการกระทำกรรมชั่วนั้นเหมือนกัน