แม้ฝ่ายการเมืองสหรัฐผ่านกฎหมายขยายเพดานหนี้และงบประมาณชั่วคราว เพื่อส่งเงินหล่อเลี้ยงหน่วยงานภาครัฐที่ปิดทำการไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม ก่อนเส้นตายไม่กี่ชั่วโมง แต่เป็นเพียงการต่อลมหายใจระยะสั้น เขตเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกยังเสี่ยงที่จะเจอการงัดข้อการคลัง
อีกครั้งในไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะปมปัญหาที่เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ว่า แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นทุกขณะจากภาคธุรกิจในสหรัฐเองรวมถึงเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างจีน ทำให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนฯไฟเขียวให้กับแผนผ่าทางตันการคลังชั่วคราว ซึ่งขยายเพดานหนี้ไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และอนุมัติงบประมาณที่จะส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเปิดทำการไปจนถึง 15 มกราคมปีหน้า
พร้อมกำหนดเส้นตายให้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันหาทางบรรลุข้อตกลงระยะยาวภายใน 16 ธันวาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ชาติเอเชียซึ่งเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ยังคลางแคลงใจต่อแผนขยายเพดานหนี้ครั้งนี้ เพราะแม้จะช่วยให้มะกัน
หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ไปชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในสภาคองเกรสยังคงอยู่
"เรื่องยังไม่จบ ทั้ง 2 พรรคจะสาดโคลนกันอีกใน 2-3 เดือนข้างหน้า" เชา หยงฟู่ นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองโลกในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นเอบีซี นิวส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงของสภาคองเกรสไม่ช่วยคลายปมเห็นต่างอย่างสุดขั้วของ 2 พรรคใหญ่ เรื่องกฎหมายหลักประกันสุขภาพ (โอบามาแคร์) ภาษี การตัดลดรายจ่าย ที่เป็นต้นตอของมหากาพย์ความขัดแย้ง ดังนั้นทั่วโลกยังต้องหวาดผวากับความเสี่ยงที่สหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ต่อไป
แม้ในข้อตกลงดังกล่าวจะระบุให้สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาหาทางออกระยะยาวภายใน 13 ธันวาคม แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น
ก็ไม่มีบทลงโทษหรือมาตรการใด ๆ รองรับ นอกจากนี้หากพิจารณาจากผลการทำงานของ "ซูเปอร์คอมมิตตี" ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการร่วมสภาผู้แทนฯ-วุฒิสภา เพื่อผ่าทางตันเพดานหนี้ในปี 2554 ที่ทันเส้นตายแบบฉิวเฉียด ก็ดูเหมือนว่าอาจฝากความหวังไปกับการเจรจารอบนี้ได้ไม่มากนัก
ความเห็นต่างระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกันส่อเค้าจะนำไปสู่ทางตันการคลัง การปิดทำการหน่วยงานรัฐ ตลอดจนหนี้สาธารณะชนเพดานอีกครั้ง
สัญญาณที่บ่งบอกถึงการต่อสู้ทางการเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงในอนาคต คือ เท็ด ครูซ ส.ว.รัฐเทกซัส จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที ปาร์ตี้ หัวอนุรักษนิยมสุดโต่ง ประกาศปักหลักต่อต้านโอบามาแคร์ชนิด
หัวชนฝา ซึ่งแน่นอนว่าประธานาธิบดี บารัก โอบามา ย่อมไม่ยอมอ่อนข้อให้ยิ่งไปกว่านั้น หากในอนาคตมีการปิดหน่วยงานรัฐบาลกลาง เนื่องจากขาดงบประมาณอีกรอบ ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยบทวิเคราะห์ของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
สแตนดาร์ดแอนด์พัว ร์สระบุว่า 16 วันที่หน่วยงานภาครัฐปิดทำการ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน
สภาคองเกรสผ่านแผนขยายเพดานหนี้ได้ทันเวลาก็จริง แต่เอสแอนด์พีมองว่า กรอบเวลาที่มาพร้อมกับแผนดังกล่าวสะท้อนว่า ฝ่ายการเมืองสหรัฐจะต้องเผชิญกับเส้นตายอีกครั้งช่วงต้นปี 2557 ระยะเวลาเว้นวรรคเพียงสั้น ๆ ก่อนกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้งจะกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานของรัฐที่ถูกพักงานช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคม
"ถ้าชาวอเมริกันกังวลว่าจะเกิดทางตันทางการเมืองซ้ำรอยเดิมอีก และเกิดภาวะชะงักงันในหน่วยงานภาครัฐหรือร้ายแรงกว่า ก็จะไม่กล้าหยิบเงินออกจากกระเป๋า กระทบต่อยอดขายสินค้าช่วงวันหยุดยาวปลายปี ซึ่งเป็นช่วงโกยรายได้ของภาคธุรกิจ" เอสแอนด์พีเตือน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์