ออกกำลังกาย-บริหารสมอง วิถีสกัด โรคสมองเสื่อม สิ่งที่คนอาจไม่คาดคิดกำลังจะมาเยือน เพราะหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้วนั้น ความเสื่อมก็จะเริ่มถามหา ไม่ว่าคุณจะมองมันหรือไม่ มันก็จะเดินเข้าหาคุณอยู่ทุกวินาที
โรคสมองเสื่อม อีกโรคหนึ่งที่มาจากภาวะความเสื่อม เป็นปัญหาที่ไม่เล็กอย่างที่หลายคนคาดคิด อาจทำให้คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือคนดูแลต้องเครียดไปกับพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างไปจากเด็ก 3-4 ขวบ
โรคสมองเสื่อม คือ การคลองประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างต่อเนื่อง จากภาวะปกติที่กำลังเป็น กลับไปสู่ภาวะเด็กเล็ก 3-4 ขวบ ในระยะเริ่มต้น หรือทารกแรกเกิดในระยะสุดท้าย โรคสองเสื่อมเกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลต่อความจำ ความคิด เชาว์ปัญญา การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา หรือส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 70 ของโรคสมองเสื่อมเกิดจากโรคอัลไซเมอร์เป็นส่วนใหญ่
ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ประธานชมรมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า อัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อม แต่ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์ นั่นหมายความว่า ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากโรคอื่นก็ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า น้ำในสมองไหลเวียนไม่สะดวก ภาวะเลือดคั่งในสมองแบบเรื้อรัง หลอดโลหิตสมองตีบตัน สูงอายุ อัลไซเมอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการแสดงของภาวะ หรือโรคสมองเสื่อมนั้นจะแตกต่างกัน รวมถึงความรุนแรง และความรวดเร็วของการกำเนิดโรคซึ่งจะแปรผันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค
โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่น่ากลัว ส่วนใหญ่ที่เป็นแล้ว ผู้ชายจะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี และผู้หญิงจะอยู่ได้ประมาณ 6 ปี และผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ตามอายุ อาการของโรคจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคสมองเสื่อม ซึ่งมีอยู่หลายอย่าง ถ้าเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 5-10 ปี ผู้ป่วยโรคนี้ความจำจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร อาการเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ดูแล เพราะผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้
นอกจากนี้การรักษาด้วยยาถือเป็นการรักษาที่ปลายเหตุมากกว่า ยาที่กินไปนั้นไม่ได้ช่วยให้หายจากโรคนี้ได้ หากแต่ช่วยยืดคุณภาพชีวิตในระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นจากการสำรวจพบว่า ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักจะมีประวัติโรคหัวใจ โรคเครียด มากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง
ศ.นพ.ประเสริฐให้ข้อมูลด้วยว่า ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมทางจิตกับภาพหลอนและเสียงหลอน เป็นความรู้สึกทางความนึกคิด โดยคิดว่ามีญาติหรือคนโปรดมารอพบอยู่ข้างนอกบ้านตอนดึก ตี 2-3 และบางคนมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เอาอารมณ์เป็นใหญ่ เหมือนเด็กๆ ไม่มีเหตุผล ขาดการควบคุม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คนดูแลไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยเดินไปนั่นมานี่ หรือทำกิจกรรมอื่น เพราะกลัวว่าผู้ป่วยจะเกิดอันตราย
พฤติกรรม และอาการของผู้ป่วยที่แสดงนั้น เป็นผลให้เกิดอุบัติเหตุรอบ ๆ บ้าน ตกน้ำบ้าง แต่เราก็ต้องดูแล ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้เค้าทำอะไรเลย เป็นความคิดที่ผิด เพราะถ้าไม่ให้เคลื่อนไหวเลย หรือเคลื่อนไหวน้อย ก็จะยิ่งทำให้เสื่อมมากขึ้น อีกอย่างพฤติกรรมทางจิตของผู้ป่วยที่มักคิดว่าคนโปรด หรือคนที่รักมารอ ตอนดึก ๆ แล้วจะออกไปหา ผู้ดูแลจะต้องให้เหตุผลเค้า ไม่อย่างนั้นก็พาเดินออกไปดูก็ได้ ถ้าเราไม่พาไปหรือตามใจเค้าบ้าง เห็นใจเค้า ไม่อย่างนั้นผู้ป่วยจะคิดว่าเรามีความขัดแย้งกับเค้า ไม่เข้าใจเค้า อาจส่งผลต่อภาวะจิตใจได้
สำหรับการที่จะต่อสู้กับภาวะโรคสมองเสื่อมนั้น ศ.นพ. ประเสริฐแนะนำว่า ต้องอาศัยการออกกำลังกาย การบริหารสมอง เพราะการออกกำลังสมองและออกกำลังกายช่วยสร้างและหล่อเลี้ยงเซลล์ใหม่ ๆ ทำให้สมองทำงานดีขึ้น เช่น การเดิน การฝึกความคิดต่าง ๆ รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและได้รับสารอาหารให้เพียงพอ ที่สำคัญกว่านั้นผู้ดูแลต้องให้ความรัก ความเข้าใจผู้ป่วยให้มาก ๆ อย่าหงุดหงิดหรือรำคาญใจที่จะดูแล สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและสุขภาพที่ดีขึ้น อาการต่างๆ ของโรคความจำเสื่อมก็จะลดลงได้ ที่สำคัญ คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา : manager.co.th
=====================================================
มาออกกำลังกายกันเถอะครับ เอ้า ! ฮึบ ฮึบ...