ถ้าหากปืนเป็นหนึงในรายการทรัพย์ที่ถูกฟ้องล้มละลาย เจ้าหนี้จะได้กรรมสิทธิ์ในปืนนั้นเลยรึป่าว
แล้วหากเจ้าหนี้เป็นนิติบุคคล ใครจะเป็นผู้ครอบครองปืนนั้น
แล้วถ้าเจ้าหนี้จะขายทอดตลาด คนที่จะมาซื้อปืนนี้จะต่องขอใบป.3ก่อนมาซื้อรึป่าวครับ?

หมายถึง ปืนนั้น เป็นหนึ่งในทรัพย์ของลูกหนี้ ในขณะที่ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือเปล่าครับ
หากใช่ เจ้าหนี้ไม่ว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้ฟ้องคดีเอง หรือเจ้าหนี้อื่นทั้งหมดของลูกหนี้ และไม่ว่าเจ้าหนี้จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ซึ่งลูกหนี้เป็นหนี้จำนวนแน่นอน ต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ของตน ( ประมาณขอเฉลี่ยเงินจากการขายทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ ) ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้ในราชกิจจานุเบกษา
เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดเวลา เจ้าหนี้ก็อาจจะอดที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้
คดีล้มละลาย เป็นคดีที่มีลักษณะคุ้มครองบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ล้มละลายทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะเจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้อง
ในทำนองว่า เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้ของลูกหนี้ทั้งหมด อาจได้รับชำระหนี้บ้าง จากเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของลูกหนี้
ดังนั้น แม้เป็นเจ้าหนี้ที่ฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ตาม ก็ไม่อาจขอให้ทรัพย์ของลูกหนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ ต้องขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้อย่างเดียวเท่านั้นครับ
เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงจะนำมาแจกจ่ายให้เจ้าหนี้ตามลำดับที่กฎหมายกำหนดไว้
และเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นตำขอรับชำระหนี้ของตน ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในกำหนดสองเดือนข้างต้นด้วย
เมื่อศาลล้มละลายมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว หากต่อมาต้องขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำสั่งศาล
อำนาจในการจำหน่าย จ่ายโอนทรัพย์สิน รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมด จะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้น ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้จึงไม่มีอำนาจที่จะร้องขอขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้เอง เพราะมิใช่เป็นการบังคับคดีอย่างเช่นคดีแพ่งทั่วไป
แต่อำนาจดังกล่าวจะอยู่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งหมด จะเป็นผู้ขายทอดตลาด แทนเจ้าหนี้ทั้งหมด
นอกจากนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอง ก็ไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ ยกทรัพย์สินของลูกหนี้เฉพาะสิ่ง (ในกรณีนี้ คือปืน) ให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ
และเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใด ก็ไม่มีอำนาจไปขอรับปืน แทนการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่น
แทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งครับ
ส่วนต่อมา หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลอดทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ซึ่งในกรณีทรัพย์ของลูกหนี้ดังกล่าวเป็นอาวุธปืน
ผู้ที่จะมาซื้อปืนจากการขายทอดตลาด จะต้องขอใบป. ๓ หรือไม่นั้น
ตรงนี้รอผู้รู้ดีกวาครับ เพราะผมไม่เคยซื้อปืนจากการขายทอดตลาดเลย 
แต่ในความเห็นผม แม้จะผู้ซื้อปืนจากการขายทอดตลาดก็ตาม อย่างไรก็ต้องไปปฏิบัติและว่าตาม พรบ. อาวุธปืนเหมือนเดิมครับ
เพราะการขายทอดตลาดนั้น แม้กฎหมายจะรับรองคุ้มครองผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดว่าสุจริต ก็ตาม
แต่ผู้ซื้อปืนจากการขายทอดตลาด จะครอบครองอาวุธปืนได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติและวิธีการตาม พรบ อาวุธปืนครับ