+++ปล่อยนกกระเรียนใกล้สูญพันธุ์สู่ธรรมชาติ+++สวนสัตว์โคราช เพาะนกกระเรียนพันธุ์ไทย กว่า 100 ตัว ที่ใกล้สูญพันธุ์
จนท.เข้าพื้นที่เป้าหมาย 6 แห่ง ติดตามนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ปล่อยสู่พื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติ ที่สวนสัตว์นครราชสีมา อ.เมือง นายบัญญัติ อินทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยว่า องค์การสวนสัตว์ โดยส่วนอนุรักษ์วิจัย และศึกษา ร่วมกับสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกันวิจัยตามโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติ โดยคณะวิจัยได้ลงพื้นที่แล้ว เพื่อสำรวจพื้นที่เป้าหมาย 6 แห่ง ประกอบด้วย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบงคาย จ.เชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยตลาด และห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ จ.ชลบุรี และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ
นายบัญญัติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก่อนดำเนินการเราได้จัดประชุมติดตามผลความคืบหน้างานวิจัยตาม โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติ ซึ่งนกกระเรียนพันธุ์ไทยจัดเป็นนกที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยมีความสำคัญเป็น 1 ใน 15 ชนิดของสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย ซึ่งสวนสัตว์นครราชสีมาประสบผลสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีอยู่กว่า 100 ตัว โดยมุ่งประเด็นในเรื่องของการศึกษาวิจัยพื้นที่ลุ่มน้ำธรรมชาติในประเทศไทย 6 แห่ง เพื่อค้นหาพื้นที่รองรับในการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย โดยเราได้รับเกียรติจาก Mr.Georg W.Archibald ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกกระเรียนสากล ( The International Crane Foundation . ICF ) ที่มาเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้ และได้จัดประชุมหารือติดตามความก้าวหน้าในโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ส่วนอนุรักษ์วิจัยและศึกษา องค์การสวนสัตว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา จากหลายภาคส่วน ทั้งภาควิชาชีววิทยา ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.มหาสารคาม หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด จ.บุรีรัมย์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ และทีมงานวิจัยคุณภาพของสวนสัตว์นครราชสีมา อย่างไรก็ดี เราไม่ได้หยุดยั้งในการอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าเมืองไทยตลอดจนการพัฒนาสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นสถาบันอนุรักษ์และให้ความรู้ด้านสัตว์ป่าระดับสากล
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า สำหรับนกกระเรียนพันธุ์ไทย จัดเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ 15 ชนิด ใน 4 วงศ์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก และทวีปแอฟริกา ในจำนวนนี้มี 8 ชนิดที่หายาก และ 1 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ นกกระเรียนพันธุ์ไทย และจัดเป็นนกน้ำขนาดใหญ่มาก น้ำหนักตัวประมาณ 5 - 12 กิโลกรัม ความยาวปากจรดปลายหาง 180 - 220 ซม. มีลักษณะเหมือนนกกระเรียนพันธุ์อินเดีย และนกกระเรียนพันธุ์ออสเตรเลีย แตกต่างกันตรงที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยจะมีขนาดตัวเล็กกว่าสายพันธุ์อินเดีย แต่ใหญ่กว่าสายพันธุ์ออสเตรเลีย ขนปกคลุมลำตัวมีสีเทาเข้ม บริเวณกระหม่อมเป็นแผ่นหนังเรียบสีเขียวอ่อน นอกจากนั้นบริเวณตั้งแต่ส่วนหัว แก้ม ลำคอส่วนบนเป็นแผ่นหนังสีส้มสดหรือสีแดงเข้ม ขาสีแดง ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย มีลักษณะคล้ายกัน แต่เมื่อเทียบคู่กันแล้วเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ สำหรับแหล่งอาศัยอยู่ตามที่ชุ่มน้ำ เป็นที่ราบลุ่ม ทุ่งนา ป่าพรุ และตามบึงน้ำตื้นๆ ที่มีไม้จำพวก กก บัว หญ้า และสาหร่ายต่างๆ อาหารกินทั้งพืช และสัตว์ อาทิเช่น เมล็ดข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด ถั่ว ส่วนของลำต้นและรากของพืชน้ำ ยอดอ่อนของหญ้า แมลงต่างๆ โดยเฉพาะตั๊กแตน หอยน้ำจืด ปลา กบ และงูน้ำ
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ส่วนพฤติกรรมการสืบพันธุ์ จะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่ออายุ 2 - 3 ปีขึ้นไป และจะจับคู่แบบผัวเดียว เมียเดียว ฤดูผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กันยายน ลักษณะการเกี้ยวราพาสี มีลักษณะพิเศษ และสวยงาม โดยตัวผู้ และตัวเมียจะเปล่งเสียงร้องประสานกัน ตัวผู้จะร้องเสียงยาวระดับต่ำ ขณะร้องจะยืดคอ และเงยปากขึ้นสูง กางปีก และยกสูงขึ้นเหนือระดับหลัง ส่วนตัวเมียจะยืนข้างตัวผู้ หุบปีก เงยปากไปด้านหน้า และเปล่งเสียงร้องสั้นๆ 2 - 3 ครั้ง ประสานกับเสียงของเพศผู้ และการสร้างรังรักจะใช้วัสดุจำพวกพืชน้ำ ลักษณะรังคล้ายกระจาด วางไข่บนพื้นดิน เฉลี่ยครั้งละ 2 ฟอง ฟักไข่ 30 - 32 วัน
ที่มา
http://entertainment.goosiam.com/news/html/0022218.html