นิตยสารสารคดี : ฉบับที่ ๓๓๒ :: ตุลาคม ๕๕ ปีที่ ๒๘
คอลัมน์รับอรุณ : ดาบสองคม
พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบน facebook Share การสังหารหมู่ที่นอรเวย์เมื่อเดือนกรกฎาคม ศกก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตายถึง ๗๗ คนนั้น เป็นข่าวสะเทือนขวัญคนทั้งโลก ฆาตกรคือแอนเดอรส์ บรีวิก ให้เหตุผลว่าที่ทำเช่นนั้นก็เพราะโกรธแค้นรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เท่ากับเป็นการทำลายสังคมนอรเวย์ เพราะเปิดช่องให้พวกมุสลิมมา
รุกรานประเทศ
ในระหว่างการพิพากษา บรีวิก ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาสังหารเหยื่อที่มาเข้าค่ายเยาวชนของพรรครัฐบาลในเกาะอุโทยา ส่วนใหญ่ถูกจ่อยิงที่หัว ใครที่ยังไม่ตายเขาก็ยิงซ้ำจนแน่นิ่ง รวมแล้วเป็นจำนวน ๖๙ คน เขายอมรับว่านั่นเป็นเรื่องที่
โหดร้าย และ
ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ แต่เขาจำเป็นต้องทำ ดังนั้นจึงพยายามบังคับตัวเองให้ลงมือสังหารคนเหล่านั้น
เขาเปิดเผยว่าเขาใช้เวลาเป็นแรมปีในการฝึกสมาธิ เพื่อจะได้กดข่มอารมณ์ของตัวไว้ไม่ให้หวั่นไหวในยามที่ต้องปลิดชีวิตผู้คน แล้วเขาก็ทำได้สำเร็จเพราะเขาสามารถฆ่าเหยื่อทีละคนได้โดยไม่สะทกสะท้าน
คำสารภาพของเขาได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะสมาธิในสายตาของคนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาความสงบในจิตใจ เป็นวิสัยของศาสนิกหรือผู้รักสงบ ไม่น่าจะเกี่ยวพันกับการสังหารโหดเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองแต่อย่างใด
ความเข้าใจเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะสมาธิมักถูกผูกโยงกับศาสนา โดยเฉพาะศาสนาทางตะวันออกเช่น พุทธศาสนา แต่ที่จริงแล้วสมาธิหรือความตั้งมั่นแน่วแน่ในจิตใจนั้นเป็นสิ่งกลาง ๆ คือ สามารถใช้ในทางที่ดีหรือชั่วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางศาสนาเท่านั้น จะใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางโลกหรือแบบโลกย์ ๆ ก็ได้ เช่น ในการแข่งกีฬา ที่จริงแม้กระทั่งขโมยเวลาถอดรหัสตู้เซฟก็ต้องใช้สมาธิมาก จะว่าไปแล้วสมัยก่อนเวลาเพชฌฆาตจะตัดคอคน ก็ต้องใช้สมาธิอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่าขวานที่เหวี่ยงลงไปจะตัดกลางลำคอ ไม่คลาดไปทางอื่น อันจะเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ต้องโทษ
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงมีการแยกแยะระหว่างมิจฉาสมาธิ กับ สัมมาสมาธิ สมาธิอย่างหลังนั้นเป็นไปเพื่อการทำจิตให้สงบ เป็นกุศล และเอื้อต่อการเข้าถึงความสุขประณีต (เช่น ฌาน) หรือเพื่อการพิจารณาให้เห็นความจริงของกายและใจ (ที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน) ซึ่งนำไปสู่การลดละกิเลส หรือละวางความยึดติดถือมั่นในตัวตน อันมีความพ้นทุกข์เป็นจุดหมายสูงสุด
ในยุคที่ผู้คนมีความทุกข์ทางใจมาก ทั้ง ๆ ที่มีความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสงบใจกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาและเสาะแสวงมากขึ้น การฝึกสมาธิจึงได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก แต่ส่วนใหญ่แล้วหวังเพียงแค่ให้ใจสงบ ลดความฟุ้งซ่าน เพื่อจะได้คลายความวิตกกังวลหรือหายจากโรคนอนไม่หลับ ขณะที่จำนวนไม่น้อยต้องการจิตที่เป็นสมาธิเพื่อเรียนให้เก่งหรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างหลังนี้เป็นสิ่งที่นักธุรกิจต้องการมากเพราะหวังทำกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามสมาธิหรือความสงบใจอย่างนี้ให้ความสงบหรือความสุขแค่ชั่วคราวเท่านั้น ตราบใดที่กิเลสหรือความเห็นแก่ตัวยังไม่ลดลง ก็ต้องมีเรื่องกระทบใจให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เช่น ร้อนใจที่เห็นคนอื่นร่ำรวย เลื่อนตำแหน่ง หรือประสบความสำเร็จมากกว่าตน ขุ่นเคืองใจเมื่อถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ เศร้าโศกเสียใจเมื่อสูญเสียทรัพย์ สถานะ หรือคนรัก กล่าวอีกนัยหนึ่งตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู การทำสมาธิก็ไม่ต่างจากแอสไพรินหรือยาระงับปวดชั่วคราวเท่านั้น
การฝึกจิตที่ก่อให้เกิดความสงบใจหรือความสุขอย่างแท้จริงนั้น ต้องเป็นไปเพื่อลดละกิเลสและความเห็นแก่ตัว ด้วยการน้อมใจให้เห็นชัดว่า วัตถุสิ่งเสพ อำนาจ และเกียรติยศนั้น แม้ให้ความสุข แต่ก็เจือไปด้วยทุกข์ โดยที่ทุกข์มักจะมากกว่าสุข เพราะต้องเหนื่อยในการแสวงหา(และแย่งชิง) ครั้นได้มาก็ต้องเป็นภาระในการรักษา แต่สุดท้ายก็ต้องพลัดพรากสูญเสีย โดยที่ระหว่างที่มันยังอยู่กับตนนั้น เสน่ห์หรือความสุขที่ได้จากมันก็มักจืดจาง ทำให้อยากได้ของใหม่หรือมากกว่าเดิม จึงต้องดิ้นรนแสวงหามาอีก เป็นเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น หลายคนเมื่อใกล้ตายถึงได้รู้ว่าเสียเวลาไปทั้งชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยหาสาระอะไรไม่ได้เลย แต่ถึงตอนนั้นก็สายเกินกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่เสียแล้ว
ความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่ยึดมั่นเป็นตัวกูของกูได้เลยสักอย่าง แต่เพราะความหลงจึงยึดอะไรต่ออะไรว่าเป็นตัวกูของกู ไม่แต่ทรัพย์สมบัติ อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียงเท่านั้น หากยังรวมถึงความคิดหรืออุดมการณ์ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเลื่อนไหลแปรเปลี่ยน หากยึดติดถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะเป็นทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของมันแล้ว ยังเป็นทุกข์เมื่อมีอะไรมากระทบมัน เช่น เจอคนที่คิดต่างเห็นต่าง ก็ไม่พอใจ จนเกิดความคับแค้น นำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นประหัตประหาร ดังสงครามระหว่างศาสนาหรือการฆ่าฟันในนามอุดมการณ์ทางการเมือง
สมาธิจะเป็นสัมมาสมาธิได้ก็ต่อเมื่อช่วยให้เกิดปัญญาแลเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นดังกล่าว ไม่ว่า สิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์ อำนาจ เกียรติยศ หรืออุดมการณ์ก็ตาม แลเห็นกระทั่งว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นเป็นตัวกูของกูได้เลย สัมมาสมาธิเช่นนี้แหละที่จะทำให้จิตใจสงบเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง แม้จะต้องประสบกับความผันผวนปรวนแปรหรือความพลัดพรากสูญเสียอันเป็นธรรมดาโลก แต่ก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด เพราะไม่มีตัวกูผู้ทุกข์อีกต่อไป ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไม่มีความยึดมั่นในตัวกูของกู ความเห็นแก่ตัวก็หายไป จิตใจเปิดกว้างเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา จึงสามารถเกื้อกูลผู้คนได้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
ในทางตรงข้าม สมาธิที่มุ่งเพียงแค่ความสงบใจหรือข่มอารมณ์นั้น อาจกลายเป็นโทษได้ เพราะสามารถถูกนำไปใช้เพื่อตอบสนองความหลงและก่อความพินาศอย่างน่าสะพรึงกลัว ดังกรณีของบรีวิกเป็นตัวอย่างอันชัดเจน
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่