ถังหูลู่ (Tanghulu /糖葫芦) ก็คือ
พุทราเชื่อมเคลือบน้ำตาล ซึ่งเป็นขนมหวานแบบโบราณของชาวจีน เชื่อว่าเหล่าสหายจอมยุทธ
ทั้งหลายคงคุ้นเคยกับมันดี เนื่องจากพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ
ในหนังและละครนะคะ ดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นลูกชิ้นปิ้ง แต่จริงๆ แล้ว
เป็นของหวาน มีรสชาติออกหวานอมเปรี้ยว สีแดง เสียบบนไม้ไผ่ยาว
ประมาณ 20 ซ.ม. เป็นของกินที่อยู่คู่กับชาวปักกิ่งมาช้านานและ
ไม่เคยถูกทอดทิ้ง แม้จะโดนกระแสรุกไล่ของขนมขบเคี้ยวรุ่นใหม่
อย่างมันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว และช็อคโกแลตก็ตามที
ข้อนี้ต้องขอชื่นชมคนจีนค่ะที่ไม่ทิ้งของโบร่ำโบราณอย่างนี้
นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ตามความเชื่อของชาวปักกิ่ง ถังหูลู่
ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล และเป็นพระเอกของงานวัด
ที่จัดขึ้นในช่วงวันตรุษจีนของปักกิ่งอีกด้วย คนส่วนใหญ่เมื่อซื้อถังหูลู่มาแล้ว
จะไม่กิน แต่จะนำกลับบ้านไปเพื่อเป็นสิริมงคล โดยพวกเขาเชื่อว่า
ถังหูลู่จะนำโชคดีและความมั่งคั่งมาสู่พวกเขาในช่วงปีที่ใกล้จะมาถึง ถังหูลู่เกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร เรื่องนี้คงต้อง
ย้อนอดีตกลับไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือ ซ้อง (ค.ศ.960-1279) ภายใต้การปกครองของฮ่องเต้กวงจง
(ค.ศ.1147-1200) ในครั้งนั้น
พระสนมที่ฮ่องเต้กวงจงทรงโปรดที่สุดเกิดล้มป่วยอย่างหนัก หน้าตาซีดเซียว ร่างกายผ่ายผอม และเบื่ออาหาร
หมอหลวงพยายามแสวงหายาสารพัดอย่างมารักษา แต่ก็ไร้ประโยชน์
และแล้ววันหนึ่งก็มีหมอจากนอกวังขันอาสาเข้าวังรักษาอาการป่วยของพระสนม
หลังจากตรวจวินิจฉัยโรค
หมอชาวบ้าน ก็เขียนใบสั่งยาอย่างง่ายๆ
ระบุให้นำพุทรามาเคี่ยวกับน้ำเชื่อม และให้พระสนมเสวยวันละ 5-10 ลูก
ก่อนมื้ออาหารทุกมื้อ หากทำเช่นนี้ไม่เกินครึ่งเดือนอาการก็จะดีขึ้น
ในทีแรกทั้งฮ่องเต้และหมอหลวงยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับคำกล่าวของหมอคนนี้
แต่หลังจากพระสนมทำตามคำแนะนำแล้วก็มีอาการดีวันดีคืน ที่แท้พุทรานั้น
มีสรรพคุณมากมาย แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้โรคบิด บรรเทาอาการเลือดคั่ง
ขับพยาธิเส้นด้าย แต่สรรพคุณที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ช่วยย่อย นั่นเอง
(ที่แท้พระสนมอาหารไม่ย่อยนั่นเอง ต้องกินไฟเบอร์เยอะๆ นะคะ)
ต่อมาวิธีรักษาดังกล่าวได้แพร่กระจายไปในหมู่สามัญชน ทำให้คนขายอาหาร
เริ่มนำพุทราเชื่อมมาเสียบไม้ขายเป็นของกินเล่น และพอนำมาจุ่มกับน้ำเชื่อมร้อนๆ
พุทราเสียบไม้ก็กลายเป็น
ถังหูลู่ อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันนี้
ใช่ว่าจะมีแต่พุทราเสียบไม้ ยังมีผลไม้อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
อาทิเช่น กีวี สตรอเบอรี่ ส้ม องุ่น ฯลฯ
ชื่อของถังหูลู่นั้น ตามภาษาจีน แปลว่า
น้ำเต้าเคลือบน้ำตาล เนื่องจากเดิมทีพุทราเสียบไม้มีแค่สองลูกเท่านั้น ลูกเล็กเสียบอยู่บน
ลูกใหญ่เสียบอยู่ข้างล่าง รูปร่างคล้ายกับน้ำเต้า แม้ภายหลังถังหูลู่
จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4-8 ลูก แต่ก็ยังคงชื่อเดิมมาจนถึงทุกวันนี้
หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนจีน อย่าลืมชิมขนมหวานแบบโบราณนี้ด้วยนะคะ
เครดิต
http://mmerosegarden.blogspot.com/2012/06/tanghulu-traditional-chinese-candied.htmlhttp://image.baidu.com/http://news.xinhuanet.com/photo/2008-01/30/content_7526734.htmhttp://youmameishi.blog.sohu.com/258192150.html