เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน
พฤศจิกายน 29, 2024, 09:40:49 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: เวบบอร์ดอวป.ยินดีต้อนรับสุภาพชนทุกท่าน กรุณาใช้คำสุภาพด้วยครับ
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีชีวิตในสังคมที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง  (อ่าน 3785 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
aniki
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 232
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 3074


สังคมดีไม่มีขาย...ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง


« เมื่อ: ธันวาคม 30, 2006, 04:08:12 PM »

ปีใหม่อยากให้เจอเรื่องดีๆที่น่าชื่นใจบ้าง หลงรัก  จึงขอแนะนำข่าวนี้มาลงครับ.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000157385
.................
..................
.....................................
ภาคอีสานของประเทศไทยเรานั้นรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่มายาวนาน ไม่เพียงแหล่งท่องเที่ยวตามประวัติศาสตร์และธรรมชาติ แต่การท่องเที่ยวกำลังเเชิงวัฒนธรรมป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติไม่แพ้กัน หนึ่งในเทศกาลสำคัญที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้คือ 'เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสที่ จ.สกลนคร'
       
       หากพุทธศาสนิกชนชาวไทยหลั่งไหลไปร่วมงานเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาที่ จ.อุบลราชธานี ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ในภาคอีสานก็ตั้งตารอเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสนี้ทุกปีเช่นกัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเพณีนี้เป็นประเพณีเก่าแก่เช่นเดียวกับชุมชนชาวคริสต์ที่ ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร ที่ไม่เพียงแต่มีอายุนับกว่าศตวรรษแล้ว หากยังเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
       
       'ผู้จัดการปริทรรศน์' พาท่านเปลี่ยนบรรยากาศจากการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยแสงไฟประดับประดาของห้างสรรพสินค้าในเมือง ออกไปโต้ลมหนาวเคล้าแสงดาวชมการเฉลิมฉลองของชาวคริสต์แท้ๆ ดั้งเดิมในภาคอีสานของประเทศไทย
       
       กำเนิดมิสซังท่าแร่ฯ
       
       ก่อนที่จะไปเยือนสกลนครเพื่อชมเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส เราขอพาท่านย้อนกลับไปยังต้นธารประวัติศาสตร์ก่อนว่า ชุมชนชาวคริสต์เก่าแก่แห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร
       
       จากการรวบรวมและค้นคว้าของบาทหลวงดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์ พบว่า ชุมชนชาวคาทอลิคที่ท่าแร่แห่งนี้ มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการเข้ามาของคริสตศาสนาในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้าที่คริสตศาสนาจะแผ่ขยายเข้ามานั้นมีศาสนาอยู่แล้ว คือศาสนาผีหรือวิญญาณ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสาน เช่น ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีเชื้อ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคนในครอบครัวหรือหมู่บ้าน และมีบทบาทในการลงโทษคนที่กระทำความผิดโดยอาศัยคนกลางที่เรียกว่า 'จ้ำ' คนอีสานยุคก่อนนั้นจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกจากนั้นยังมีผีอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า 'ผีปอบ' พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบจะอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อกันว่า ผีปอบเป็นผีที่กินตับไตไส้พุงของผู้คน ทำให้ถึงแก่ความตายจนเป็นที่เกรงกลัวและรังเกียจของสังคม ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงมักถูกขับไล่อยู่ตลอดเวลา บางแห่งรุนแรงถึงขั้นขว้างปาหรือเผาบ้านเรือน
       
       ส่วนพุทธศาสนาเพิ่งจะเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง แต่ก็สามารถผสมผสานให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสานได้อย่างกลมกลืน เป็นพุทธศาสนาที่ปะปนอยู่กับความเชื่อเรื่องผีแและเป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับตั้งแต่ชนชั้นปกครองลงมาถึงราษฎร โดยได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในรูปของธรรมเนียม ประเพณีต่าง ๆ ความเชื่อเรื่องผีที่ปะปนอยู่กับความเชื่อในพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนอีสานในลักษณะดังกล่าว นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการกลับเข้ารีตเป็นคริสตชนของคนอีสานจำนวนหนึ่งในเวลาต่อมา
       
       จังหวัดสกลนคร มีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นที่ตั้งของอัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง หรือสำนักมิสซังท่าแร่ฯ ซึ่งดูแลรับผิดชอบคริสตศาสนาใน 4 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ในอดีตประมาณปี พ.ศ.2427 ประชากรชาวท่าแร่ที่เป็นคริสตชนอพยพจากประเทศเวียดนาม ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงาน (ทาส) และมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบจำนวน 40 คนมาอาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร โดยมีบาทหลวงเกโก มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแล
       
       ต่อมาประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเริ่มมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน บาทหลวงเกโกจึงได้คิดหาทำเลสำหรับตั้งหมู่บ้านคริสตชนแห่งใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังการฉลองนักบุญทั้งหลายปี พ. ศ.2427 โดยจัดทำแพใหญ่ทำด้วยเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกัน บรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบเรือให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ในที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารอย่างปลอดภัย และตั้งหลักแหล่งที่นั่น กลายเป็นถิ่นฐานชุมชนชาวคริสต์แห่งใหม่ หรือที่รู้จักในนามมิสซังท่าแร่ในปัจจุบัน
       
       อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ. ศ.2493 เรียกว่า 'มิสซังท่าแร่' ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมดของประเทศไทย ( รวมถึงนครราชสีมาที่มอบให้อยู่ในความดูแลของมิสซังกรุงเทพฯเป็นการชั่วคราว) ก่อนหน้าที่จะแยกออกเป็น 3 มิสซังในเวลาต่อมา คือ เทียบเท่ามิสซังอุดรธานี (Prefecture) มิสซังอุบลราชธานี และมิสซังท่าแร่ ต่อมามิสซังท่าแร่ได้รับยกฐานะเป็น 'สังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง' เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ. ศ.2503 โดยเพิ่มชื่อ 'หนองแสง' เข้ามาในฐานะที่หนองแสงเคยเป็นศูนย์กลางมิสซังในระยะเริ่มแรก และได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมเป็น 'อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง' เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ. ศ.2508
       
       การปกครองดูแลเขตสังฆมณฑลชาวคริสต์ในภาคอีสานของประเทศไทยนี้ ก็เช่นเดียวกับชุมชนคาทอลิกแห่งอื่นในโลกที่สมเด็จพระสันตปาปาจะเป็นผู้แต่งตั้งบาทหลวงในแต่ละประเทศดูแล สำหรับ 'มิสซังท่าแร่ฯ' มีพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นผู้ดูแล โดยพระคุณเจ้าหลุยส์จำเนียรเปิดเผยว่า ปัจจุบันชุมชนท่าแร่เป็นชุมชนคาทอลิคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์กว่า 13,000 คน มีโรงเรียนคาทอลิคในเครืออีกหลายแห่งรองรับเด็กๆ ในชุมชน
       
       "97 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนโรงเรียนของมิสซังเป็นพุทธ เราได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องที่เป็นพุทธ เพราะว่าเราดูแลเด็กๆ ของเขาได้ใกล้ชิดและด้วยความรักที่ส่งเสริมให้เขาสามารถที่จะไปได้ไกล ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 1 หมื่นคน เฉพาะโรงเรียนของมิสซัง นอกนี้ก็ยังมีโรงเรียนของนักบวช และบราเธอร์ด้วยก็อีกประมาณ 900 คน"
       
       เยือนชุมชนคาทอลิคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
       
       บ้านท่าแร่ หรือ ท่าแฮ่ จ.สกลนคร เป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะหมู่บ้านคาทอลิคที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมหนองหาร (ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองสกลนคร) หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนคาทอลิกเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนนับถือศาสนาคริสต์ หมู่บ้านนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจอยู่ตรงที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุก คล้ายกับบ้านเมืองในแถบประเทศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสที่งดงามเรียงรายสองข้างทางในถนนสายหลักของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก
       
       ในวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี ที่นี่จะจัดงานเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสอย่างยิ่งใหญ่ บ้านเรือนทุกหลังจะประดับประดาด้วยดวงไฟหลากสีสันและตกแต่งด้วย 'ดาว' สัญลักษณ์การประสูติของพระเยซูเจ้า ศาสดาของศาสนาคริสต์ กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นสีสันของเทศกาลดังกล่าวคือ 'ขบวนแห่ดาวคริสต์มาส' ในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ณ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง อำเภอเมือง จ.สกลนคร
       
       โดยขบวนแห่ดาวคริสต์มาสนั้น ประกอบด้วยดวงดาวขนาดใหญ่ที่ประดับด้วยดวงไฟวิทยาศาสตร์หลากสีสันที่ชุมชนชาวคริสต์ประดิษฐ์ขึ้น และนำไปตกแต่งในขบวนรถที่ประดับประดาอย่างสวยงาม ส่วนใหญ่มักจะสื่อถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประสูติของพระเยซู เช่น การตกแต่งและจำลองบรรยากาศให้เป็นถ้ำพระกุมาร อันเป็นสถานที่ประสูติของพระเยซู ในบางขบวนจะใช้คนแสดงเรื่องราวประกอบเกี่ยวกับการประสูติฯ ทุกๆ ปีจะมีรถดาวเข้าร่วมขบวนแห่จำนวนกว่า 200 คัน โดยขบวนแห่จะเริ่มต้นที่ซุ้มประตูถนนศูนย์ราชการ เคลื่อนไปตามถนนสุขเกษม เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกมิตรอุปถัมภ์ ตามถนนมรรคาลัย มุ่งสู่สนามมิ่งเมืองสกลนคร
       
       กิตติกา ลิขิตวศินกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า ปัจจุบันการแห่ดาวคริสต์มาสอย่างยิ่งใหญ่สวยงามในประเทศไทย จะมีที่จังหวัดสกลนครเท่านั้น การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของชาวคริสต์ที่นี่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี โดยทุกครัวเรือนจะมีการทำโคมไฟดาวอย่างสวยงามประดับไว้หน้าบ้าน แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ ชาวคริสต์ในจังหวัดใกล้เคียงอย่าง นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ก็จะนำขบวนรถแห่ดาวมารวมตัวกันในวันคริสต์มาสด้วย หลังจากเคลื่อนขบวนแห่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการตัดสินผลการประกวดรถแห่ดาวคริสต์มาสที่ตกแต่งสวยงามที่สุดด้วย
       
       นอกจากนักท่องเที่ยวตลอดจนผู้มาร่วมงานจะได้ชมขบวนรถแห่ดาวอันสวยงามตระการตาแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ การแสดงละครเวทีโดยคณะครูและนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยแซฟสกลนคร เกี่ยวกับละครเทวดาและคริสตสมภพ, การร้องเพลงคริสต์มาสประสานเสียง, การจุดพลุไฟ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง
       
       พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ กล่าวว่าศูนย์กลางในเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสนี้ ไม่ได้อยู่ที่ดวงดาว ไม่ใช่ที่ต้นคริสมาสต์ หรือซานตาคลอส หากอยู่ที่ความชื่นชมยินดีในการเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ในวันที่พระเยซูเจ้าบังเกิดนั้นมีดาวหางปรากฏขึ้นที่ท้องฟ้า อีกความหมายหนึ่งก็คือว่าพระเยซูเจ้าคือแสงสว่างของชาวคริสต์ การจำลองดาวและการแห่เดินตามดาวก็เหมือนการเดินตามแสงสว่างของพระเยซูเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกว่านี่คือความชื่นชมยินดีที่ต้องมาจากภายใน
       
       "ประเพณีที่เรารับมาจากมิชชันนารีก็คือ การฉลองคริสต์มาสทั้งภายในและภายนอก เราเลี้ยงฉลองขอบคุณพระองค์ที่มาจุติ จากนั้นเราก็ขอพรจากพระองค์ให้เรามีสันติ เพราะการที่พระเยซูเจ้ามาเกิดหมายถึงการนำสันติภาพของพระเจ้ามาให้แก่มนุษย์"
       ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสของมิสซังท่าแร่ฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน เป็นผู้เริ่มต้นและยึดถือกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนกระทั่งปัจจุบัน มีทั้งชาวไทยพุทธและชาวคริสต์ในชุมชนเข้าร่วมงานทุกปี โดยในปีนี้ทางมิสซังท่าแร่ฯ ได้เชิญพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดสกลนครที่มีอยู่จำนวนร้อยกว่าคนมาร่วมงานด้วย
       
       "ญาติโยมทั้งสองฝ่ายเป็นพุทธและคริสต์ เวลามีงานพุทธเราก็ไป เวลางานคริสต์เขาก็มา เพราะฉะนั้นการแต่งงานเกือบจะมองไม่เห็นว่าใครเป็นพุทธใครเป็นคริสต์ บางทีก็แต่งงานระหว่างคนพุทธกับคนคริสต์ แล้วเวลามีงานต่างๆ พวกเราไม่เคยทิ้งกันเลย อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพระเยซูเจ้ามาเกิดและทำให้เราเป็นพี่น้องกัน ตรงนี้สำคัญ ต้องทำให้ได้ เพราะฉะนั้นการเป็นคริสต์ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าหากรักคนอื่นไม่เป็น ก็อยากจะบอกกับพวกเราชาวไทยว่า ในเมื่อพวกเราเป็นพี่น้องกันก็พยายามที่จะมองเห็นคนอื่นเป็นพี่เป็นน้องจริงๆ เพราะหัวใจของสันติภาพนั้นไม่ใช่อะไรอื่น คือคน เพราะฉะนั้นถ้าหากเรารับคนอื่นเป็นคน สันติภาพเกิดในใจของเรา เกิดในครอบครัว ในสังคมของเราทั้งทั่วประเทศและทั่วโลก เพราะเราไม่มีทางได้สันติภาพจากภายนอก" พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ทิ้งท้าย
       
       คำบอกเล่าของชาวท่าแร่
       
       ปัจจุบันท่าแร่ได้รับการยกฐานะให้เป็นเทศบาลตำบล แต่ลูกหลานชาวท่าแร่แต่กำเนิดอย่าง ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการด้านศาสนาและผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กลับบอกว่าชาวท่าแร่ส่วนใหญ่กลับไม่อยากขึ้นเป็นอำเภอ
       ครั้งหนึ่งในอดีต ชุมชนท่าแร่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นชุมชนปิดตายจากโลกภายนอกก็ว่าได้ แม้จะอยู่ร่วมกับชุมชนชาวพุทธรอบๆ อย่างสันติ แต่ด้วยความเป็นคาทอลิคที่เคร่งครัดทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนศาสนาอื่นด้วยข้อห้ามทางศาสนา
       หลายอย่าง หากแต่ในปัจจุบัน แม้แต่ตัวบาทหลวงเองก็ยังไปร่วมพิธีงานบุญงานแต่งของเพื่อนบ้านในชุมชนต่างศาสนาได้ เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธมาช่วยเหลือหรือเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองกับชาวคริสต์ ทำให้ท่าแร่มีความหลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
       
       คนท่าแร่มีหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย ญวน และลาว ปัจจุบันก็ผสมกลมกลืนเป็นญาติพี่น้องกันหมด เช่นตัวของดร.เสรีเองนั้น เขาสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสกลนครซึ่งเป็นทวดทางฝ่ายแม่ (สกุล 'พรหมสาขา ณ สกลนคร' ) ขณะที่พ่อเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ดร.เสรีจึงเติบโตมาในสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมประสานความแตกต่างของกลุ่มคนในชุมชนนี้ไว้
       
       "ชาวท่าแร่ครึ่งหนึ่งเป็นคนเชื้อสายเวียดนาม อีกครึ่งก็เป็นเชื้อสายลาวเผ่าพันธุ์ต่างๆ คนในชุมชนสมัยก่อนส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายเพราะไม่มีที่นา ตลาดท่าแร่เป็นตลาดใหญ่มาก จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นตลาดค้าส่ง คนละแวกนั้นก็จะมาหาซื้อสินค้าแลกเปลี่ยนข้าวของกันที่นี่ ท่าแร่จึงเป็นเหมือนชุมทาง และเป็นชุมชนคริสต์ที่มีอิสระเป็นของตนเอง สมัยนั้นชาวคริสต์ในชุมชนท่าแร่จะเคร่งกว่าปัจจุบันนี้มาก ไปร่วมพิธีกรรมของศาสนาพุทธไม่ได้ เป็นบาป คือไปมาหาสู่กันได้แต่จะร่วมงานบุญงานอะไรไม่ได้ ในแง่หนึ่งก็เป็นชุมชนปิดในทางวัฒนธรรม อีกแง่หนึ่งก็เป็นชุมชนเปิดในแง่ของสังคมเศรษฐกิจ การทำมาค้าขาย"
       
       ดร.เสรีเองก็ดำเนินรอยตามวิถีของชุมชนนั้น ด้วยการเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิคที่มีชื่อเสียงอย่างเซนต์ยอแซฟสกลนคร จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนจะได้รับคัดเลือกจากนักบวชในชุมชนให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวรธรรมวิทยาคาร เพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อเพื่อเป็นนักบวชที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
       
       ดร.เสรีเล่าว่าบาทหลวงแต่ละหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกเด็กที่มีความประพฤติดีและมาจากครอบครัวคาทอลิกที่ดีจากทุกเขตมิสซังในภาคอีสานมาเข้าเรียนที่นี่ ซึ่งก็เรียนเหมือนในโรงเรียนปกติทั่วไป แต่จะมีเพิ่มเติมในส่วนของวิชาภาษาละติน อังกฤษ ฝรั่งเศสที่จำเป็นในการศึกษาต่อด้านปรัชญาศาสนาและเทววิทยาที่กรุงโรม โดยแต่เดิมนั้นศูนย์กลางของโรงเรียนสำหรับคนที่จะบวชเป็นพระในภูมิภาคนี้จะอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาก็ย้ายไปที่ปีนัง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยก็คือวิทยาลัยแสงธรรมที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม
       
       เขายอมรับว่าภาพของชุมชนท่าแร่ในสายตาโลกภายนอก ถูกมองในแง่ลบจากการกินเนื้อสุนัข โดยเฉพาะคนเชื้อสายเวียดนาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่บริโภคเนื้อสุนัขส่วนใหญ่ก็คือคนยากจน เพราะมีราคาถูก ดร.เสรีกล่าวว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าจะมองแค่ผิวเผิน ทั้งนี้เขาเห็นด้วยกับการที่จะให้เลิกกินเนื้อสุนัข แต่ทางการต้องหาทางแก้ไขปัญหาความยากจนที่เป็นสาเหตุให้ได้ก่อน มิฉะนั้น การออกคำสั่งห้ามก็ปราศจากผล
       
       "ผมบอกกับผู้ว่าฯ สกลนครนครว่า ควรจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์และเรียนรู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปบอกให้เขาเลิกหรือทำอะไร แต่ต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าสาเหตุที่เขาทำเป็นเพราะอะไร ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจนลง ทำไมแต่ก่อนถึงไม่ทำ เขามาทำตอนหลัง คนไม่มีจะกิน คนที่ซื้อเนื้อสุนัขไปกินน่ะเป็นคนจนนะ เอาล่ะ...คนรวยก็มีขี่รถเบนซ์ไปจอดแล้วก็ไปซื้อ พวกนี้กินแกล้มเหล้า กินแบบเปิบพิศดาร แต่ว่าคนส่วนใหญ่ที่ซื้อกินก็เพราะว่ามันถูก
       
       มันมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม มันซับซ้อนเกินกว่าที่เราอยู่ดีๆ จะไปบอกเขาว่า เฮ้ย! หยุด...เลิก อะไรทำนองนี้ ถ้าจะเลิกผมก็เห็นด้วย แต่มันต้องมีวิธีที่เรียนรู้ดีกว่านั้น มันต้องมีวิธีที่จะช่วยให้ฐานะเขาดีขึ้น ผมคิดว่าในขณะที่ระบบอุปถัมภ์ในทางการเมืองมันทำให้คนพึ่งตนเองไม่ได้ ก็ต้องพึ่งนักการเมือง ในทางเศรษฐกิจคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้เขาก็ต้องหาทางออกทุกวิถีทาง มันก็ต้องทำหลายอย่างที่เราคิดว่าไม่ควรจะทำ ทีนี้ถ้าจะต้องแก้มันต้องแก้ด้วยหลายอย่าง แก้ด้วยการศึกษา แก้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ใช่พัฒนาโดยการเอาแต่ของหรือเงินไปให้ แล้วไปบอกให้เขาเลิก"
       
       ทั้งนี้ ดร.เสรียืนยันว่า การกินเนื้อสุนัขไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหรือความเชื่อทางศาสนาในการบริโภค "คนจีน คนเกาหลี ไต้หวัน เวียดนามก็กินหมา ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่ออะไรเลย ตอนรายการคนค้นคนไปทำผมก็ยังประหลาดเลย เอ๊ะ! ไปถามพระได้ไง ไปถามว่ามันเกี่ยวยังไงกับศาสนา ผมบอกว่ามันไม่เกี่ยวเลย มันเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ สังคมทั่วไป"
       
       ย้อนกลับไปยังบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมาในความทรงจำ ดร.เสรีบอกว่าครอบครัวและชุมชนของเขาจะฉลองกันอย่างเรียบง่าย ไม่ได้มีการกินเค้ก กินเลี้ยง หรือของขวัญอย่างฝรั่ง แต่จะเป็นไปแบบไทยๆ มากกว่า ดวงดาวก็ทำจากวัสดุไม้ไผ่ ประดับตกแต่งไฟอย่างง่ายๆ โดยใช้เทียนหรือตะเกียง แต่ความประทับใจไม่รู้ลืมก็คือภาพแสงไฟของคนในชุมชนเดินตามขบวนแห่ดาวคริสต์มาสเป็นสายในตอนกลางคืน ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ที่มีความยาวของขบวนเกือบสองกิโลเมตร
       
       และถึงวันนี้ แม้เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสที่จังหวัดสกลนครจะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่แตกต่างไปจากในอดีต แต่หัวใจสำคัญของเทศกาลคริสต์มาสก็ยังคงอยู่ที่การได้อยู่พร้อมหน้าของคนในครอบครัว และความร่วมแรงร่วมใจระหว่างคนในชุมชน เพื่อเฉลิมฉลองการมาจุติของผู้เป็นดั่ง 'ดวงดาว' ที่พวกเขาเชื่อมั่นและศรัทธา.

................อ่านแล้วเป็นปลื้มมากครับ  อยากให้ชาวไทยทุกภาคมีความรักและสันติเยี่ยงนี้ หลงรัก
บันทึกการเข้า

ขอคืนคุณสู่แผ่นดิน  รักในหลวง
คูณ 3 superแก๊งค์
Sr. Member
****

คะแนน 40
ออฟไลน์

กระทู้: 790



« ตอบ #1 เมื่อ: ธันวาคม 30, 2006, 06:02:26 PM »

ขอบคุณครับ  Cheesy Cheesy Cheesy Cheesy Cheesy Cheesy
บันทึกการเข้า

***....จงมีและใช้ธรรมะ    เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ ....***
carrera
กินลูกเดียวเที่ยวสองลูก
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 2329
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 84478


« ตอบ #2 เมื่อ: ธันวาคม 31, 2006, 06:58:24 AM »

ไปสอนคริสที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หน่อยสิครับ  Grin Grin Grin  อยากให้สงบจริงๆ  Grin Grin Grin 
บันทึกการเข้า

เนื้อร้ายตัดทิ้ง
www.ipscthailand.com
โทน73 -รักในหลวง-
มือปืนกาวช้าง
Hero Member
*****

คะแนน 586
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 8574


« ตอบ #3 เมื่อ: ธันวาคม 31, 2006, 09:18:35 AM »

สมัยจอมพล ป  ยุค "รัฐนิยม"  ชาว คาทอลิก ย่านนี้ เคยถูกตำรวจ ลากไปยิงทิ้ง 8 ศพ มีเด็กอยู่ด้วย เพียงเพราะไม่เปลี่ยนศาสนา ตกใจ ตกใจ
บันทึกการเข้า

....ตามล่า...อีตอแหล
ณัฐพนธ์
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #4 เมื่อ: ธันวาคม 31, 2006, 09:52:22 AM »

จริงอย่างพี่ว่าเนื้อหมาราคาถูก คนจนเลยนิยมกิน
แต่คนจนก็มีแทบทั่วประเทศ ทำไมต้องท่าแร่
ที่นิยมกินกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.4 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.125 วินาที กับ 22 คำสั่ง