เครื่องเสียงต่างๆ เมื่อเล่นเวลานานๆจะเกิดขยะในระบบ ทั้ง ซีดี สายสัญญาน สายลำโพง แอมป์ และลำโพง ซีดี MDMS จากค่ายเชฟฟิลล์แลบ ที่ทำแผ่น CD HIEND แผ่นนี้ทำงานโดยปล่อยความถี่ย่านต่างๆออกมาเป็นจังหวะ เพื่อทำการล้างขยะในระบบเครื่อง
รายละเอียดที่นี่ครับ
http://www.amazon.com/MDMS-System-Conditioning-Various-Artists/dp/B0000009F3MDMS (Magnetic Domain Matrix Signals)
System Conditioning And Degaussing CD
Sheffield Lab
10065-2-G | 1997
- ซีดีแผ่นนี้เคลือบทอง 24K อยู่ในชุด The Audiophile Reference Series ในการบันทึกลงบนซีดีแผ่นนี้ จะใช้เทคนิค 20+->16 Ultra Matrix Processing ใช้ A-to-D แบบ 20 บิทของเขาเอง ร่วมด้วย Apogee UV22 Processor เป็นแผ่นสำหรับล้างสนามแม่เหล็ก ปรับปรุงคุณภาพเสียงจากระบบเสียงที่ใช้กันอยู่
- ในแทร็คต่างๆ นั้น มีเพลงทั้งบรรเลงและเพลงร้องอยู่ทั้งหมดสี่เพลงด้วยกัน นอกนั้นที่เหลืออีกเก้าแทร็คใช้สำหรับปรับปรุงเสียง และอีกหนึ่งแทร็คจะใช้สำหรับทดสอบอิมเมจของเสียงในเวที อีกสองแทร็คจะเป็นเสียงกลองชุดแล้วตามด้วยเสียงอะคูสติค กีตาร์ ที่ดัวแผ่วๆ ในแทร็คหนึ่งกับแทร็คสุดท้ายจะเป็นเสียงอะคูสติค กีตาร์ แล้วตามด้วยเสียงบรรเลงกลองชุดอีกครั้ง
- Sheffield Lab แนะนำว่า ให้ใช้แทร็คใดแทร็คหนึ่งในสี่แทร็คแรกก็ได้ สำหรับฟังก่อนเป็นเรเฟอเรนซ์ เลือกแทร็คที่ชอบ ซึ่งน่าจะเป็นแทร็คที่สี่ เพราะฟังได้ง่ายดี และสะดวกที่จะได้เล่นต่อไปด้วย เร่งโวลูมดังเท่าที่คุณเคยฟังอยู่ในระดับที่ดังที่สุดที่ฟังได้ ใช้ระดับโวลูมนั้นเพื่อเพลย์แทร็คที่ใช้สำหรับปรับปรุงเสียง คือ (แทร็คที่ห้าถึงแทร็คที่สิบสาม) ให้เพลย์ตั้งแต่แทร็คที่ห้าไปจนยังแทร็คที่สิบสามจนจบแทร็คนี้ ซึ่งเขาออกแบบให้ทำงานในลักษณะต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้น ก็อย่าเพลย์สลับแทร็คกัน หากเผลอไปกดที่แทร็คใดแทร็คหนึ่งในระหว่างแทร็คที่ห้าถึงแทร็คที่สิบสาม แล้วเครื่องได้เพลย์เสียงออกมาแล้ว ก็ขอให้กลับมาเริ่มต้นที่แทร็คห้าอีกครั้ง แล้วเล่นไปจนจบแทร็คที่สิบสาม
- แทร็คที่หนึ่ง ชื่อเพลง The Traveler ความยาวเพลง 3.33 นาที ตัดมาจาก Michael Allen Harrison & Friends (CD10060) ซึ่งบันทึกที่ Schnee Studios เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1995 เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงฟังได้สบายๆ และไพเราะใช้ได้ทีเดียว
- แทร็คที่สอง ชื่อเพลง My Heart Is Offered Still to You ความยาวเพลง 2.33 นาที ตัดมาจากอัลบั้ม The Madrigals Of SBHS (CD10049) บันทึกที่ The Santa Barbara Mission เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1994 เป็นเพลงร้องหมู่แบบโอเพราที่ไพเราะดีทีเดียว เสียงที่ได้ชัดเจนและเป็นธรรมชาติมาก เชฟฟิลด์บอกว่า ขอให้ตั้งใจฟังเสียงร้องในเวลาประมาณ 2.05 นาทีที่เป็นเสียงโซพราโน โดยเสียงจะค่อยๆ เคลื่อนจากกึ่งกลางไปทางซ้ายของเวที ซึ่งจะชัดเจนและโปร่งใสมากทีเดียว คือหลังจากนั้นจะฟังแยกแยะต่อเนื่องกลับมาตรงกลางและขวาเป็นกลุ่มๆ ได้อย่างถนัดต่อเนื่อง มีบรรยากาศ และมีระยะทอดห่างทั้งด้านหน้าและหลังหมู่นักร้องอย่างดีทีเดียว
- แทร็คที่สาม Toccata เวลา 3.33 นาที ตัดมาจากอัลบั้ม The Newman & Oltman Guitar Duo (CD10058) บันทึกที่ณนี สติวดิโอส์ เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1995 ใช้ไมโครโฟนแบบ Ribbon ซึ่งเชฟฟิลด์เชื่อว่าจะสามารถถ่ายทอดเสียงได้เที่ยงตรงที่สุด เป็นบรรเลงของอะคูสติค กีตาร์ สองตัว ซึ่งตำแหน่งกีตาร์จะชัดเจนมากเป็นตัวตน มีความต่อเนื่องและจะอยู่แยกห่างออกไปจากตัวลำโพงแต่ละข้าง ฟังดูเปิดและโปร่งใสมาก เป็นธรรมชาติ รายละเอียดต่างๆ จากเสียงการบรรเลงฟังว่ามีความเป็นจริงสูงทีเดียว
- แทร็คที่สี่ ชื่อเพลง Time Will Bring You Love ความยาวเพลง 4.31 นาที ตัดมาจากอัลบั้ม Bill Champlin (CD10053) บันทึกที่ณนี สติวดิโอส์ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1991 เป็นเพลงร้องแบบพ็อพ-ร็อคที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากของเสียงร้องแบบที่ว่าโปร่งใส ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย(อีกแล้ว) เสียงของบิลล์ แชมพลิน จะบันทึกกับไมค์เพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นไมค์ของเชฟฟิลด์เอง ซึ่งเชฟฟิลด์บอกว่า จะให้เสียงที่สะอาดและรังสรรค์เสียงออกมาอย่างชนิดที่ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนทีเดียว เสียงโดยรวมเปิดโล่ง ราบเรียบมาก สะอาดมากแม้จะเป็นที่เสียงเบสส์ ซึ่งจะหาเจอได้ไม่บ่อยครั้งนัก กังวานเสียงดีมาก ทั้งเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องทีเดียว
- แทร็คที่ห้าถึงแทร็คที่สิบสาม เป็นแทร็คปรับปรุงเสียงและล้างสนามแม่เหล็กออกจากระบบ เป็นเสียงที่ใช้เวลาไม่มากนัก แทร็คละไม่กี่วินาที บางแทร็คที่ยาวหน่อยก็หนึ่งนาทีกว่าๆ ในหนังสือที่แนบมาจะมีรูปคลื่นให้ดูอีกด้วย เขาบอกว่าให้ใช้ระดับเสียงระดับเดียวกับที่ใช้ฟังอยู่ แต่ทางที่ดีลดระดับเสียงลดลงเล็กน้อยก็ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะท่านที่ชอบฟังในระดับความดังสูงมากๆ แม้ว่าทางเชฟฟิลด์บอกว่า เขารับรองว่ามีความปลอดภัย แต่เสียงแต่ละแทร็คที่ออกมาก็ดูน่ากลัวอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะแทร็คที่เป็นเสียงย่านต่ำมากๆ เช่น แทร็คที่ห้าเป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้แอมป์คลิพในกรณีที่เร่งโวลูมไว้สูงๆ ได้เหมือนกัน ทางที่ดีก็ลดระดับโวลูมลงหน่อยหนึ่งก็น่าจะใช้ได้ดี
- แทร็คที่สิบสี่ Imaging เวลา 2.19 นาที เป็นเสียงพูดของดัก แช็กส์ และเคาะไม้ไปด้วย เขาจะยืนพูดอยู่ในห้องที่กว้างมาก โดยใช้ไมค์เพียงสองตัว เสียงพูดของเขาจากด้านขวาของห้องที่อยู่ลึกเข้าไปมาก ต่อมาจะเดินไปตรงกลางห้อง เสียงของเขาเปิดเผยและชัดเจน (ชัดโปร่งขึ้นอีกเมื่อเพลย์ผ่านแทร็คห้าถึงสิบสามซ้ำอีกที) ติดตามได้ต่อเนื่องทีเดียว จากนั้นจะเดินไปทางซ้ายแล้วก็มาทางขวา วนไปด้านหลังมาตรงกลางแล้วก็เดินตรงใกล้เข้ามาด้านหน้าตรงๆ แล้วกลับไปด้านหลัง แล้วก็เดินมาด้านหน้าอีกครั้ง
- แทร็คที่สิบห้า Drum to Guitar เวลา 1.50 นาที เป็นเสียงบรรเลงกลองชุดที่บรรเลงโดย Mike Shapiro ซึ่งบันทึกที่ณนี สติวดิโอส์ เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1995 ใช้ไมค์ชนิดหลอดของเชฟฟิลด์เอง วางห่าง 22 ฟุตจากชุดกลอง และ 22.5 ฟุตจากกีตาร์ เสียงกลองชุดหนักแน่น เรโซแนนท์จะได้ยินอย่างชัดเจน แอมเบียนซ์ปรากฏออกมาเต็มห้องทีเดียว เหมือนมีคนกำลังบรรเลงกลองชุดให้ฟังอยู่เบื้องหน้าทีเดียว ไดนามิค เรนจ์ของเสียงกลองจะสูงมาก จากนั้นจะเป็นเสียงอะคูสติค กีตาร์ บรรเลงโดย Greg Nester ที่ดังค่อนข้างแผ่ว ปรับระดับโวลูมเล่นแทร็คห้าถึงจบแทร็คสิบสาม และเซ็ทลำโพงดีๆ ท่านก็จะฟังเหมือนว่าทั้งอะคูสติก กีตาร์ และกลองชุดต่างก็อยู่ในห้องตรงหน้าท่านเหมือนๆ กัน
- ต่อไปก็จะเปรียบเทียบเสียงเมื่อเล่นแทร็ค MDMS แล้ว (แทร็คห้าถึงสิบสาม) เสียงแทร็คที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงคือ แทร็คที่สี่ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากการเล่นผ่านแทร็ค MDMS ครั้งแรกและในครั้งต่อๆ มา ที่จะเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นๆ คือ เวทีเสียงจะเปิดมากขึ้น หางเสียงยาวขึ้น แยกเสียงหลักกับแอมเบียนซ์มากกว่า อะคูสติก กีตาร์หน้าซ้ายของเวทีเสียงจากแทร็คที่สี่นี้จะชัดเจน เป็นตัวตนมากได้อย่างไม่น่าเชื่อ มีบรรยากาศรายรอบและลอยเด่นต่อเนื่องขยับใกล้เข้ามา เสียงกลองกังวานเปิดขึ้น แอมเบียนซ์กังวานทอดลึกออกไป เบสส์ราบเรียบขึ้นอีก เบสส์จะฟังได้ทอดลึกมากขึ้น เปิดตัวขึ้น แทนที่จะหนักอยู่ในช่วงแคบๆ กว่า เสียงร้องเปิดมากขึ้น เสียงตัวเอสสะอาดใส เสียงลูกคอและรายละเอียดต่างๆ จะมากขึ้น เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะอยู่ห่างกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นตัวตนและชัดมากขึ้น เสียงฉาบสะอาดและต่อเนื่องมากกว่า กลองกระแทกมากกว่าเดิม เวทีขยายกว้างและลึกมากขึ้น
- เพลย์แทร็ค MDMS ซ้ำอีกครั้งก็มีผลให้คุณภาพเสียงดังกล่าวแสดงออกมามากขึ้นไปอีกลำดับขั้นหนึ่ง จนเมื่อใช้เครื่องผ่านไประยะหนึ่ง พบว่าคุณภาพเสียงเปลี่ยนไปก็กลับมาเพลย์แทร็ค MDMS อีกครั้ง ใช้เวลาน้อยดี ไม่เสียเวลารอนาน ก็ดูท่าน่าใช้ดี ไม่จำเป็นต้องเพลย์แทร็ค MDMS กันทุกวัน หรือถี่จนเกินไปหรอก คุณไม่ควรจะซีเรียสถึงขนาดนั้น แม้มันจะได้ผลดีมาก แต่ก็ไม่คุ้มกับวิธีการที่จะกระทำเช่นนั้น ยิ่งในช่วงเวลาเป็นเงินเป็นทองเยี่ยงปัจจุบันอย่างนี้
สรุปว่าเป็นแผ่นซีดีที่คุณน่าจะมีไว้ในซิสเต็มมากที่สุดแผ่นหนึ่งทีเดียว ขอเน้นแนะนำ
บทความจาก Audiophile's CD โดย ลักษณ์พิจารณ์, HI-FI STEREO ปีที่ 19/2540 ฉบับที่ 122 ประจำวันที่ 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน