ตามนี้ครับ
การจับปืนแบบในรูปที่พี่บุญนำมาให้ดูนั้น เป็นการจับปืนที่นักกีฬา IPSC นิยมใช้กัน เพราะสามารถจำให้จับปืนได้สูง และสามารถควบคุมปืนได้ดีกว่าในการยิงต่อสู้ครับ มีหลัก ๆ ดังนี้ครับ (จะอธิบายได้เหมือนครั้งที่แล้วมั๊ยเนี่ย 555)
เราต้องปรับการจับปืนตั้งแต่มือข้างถนัดเลยครับ เพราะเท่าที่สังเกตการจับปืนแบบทั่ว ๆ ไปที่ส่วนใหญ่มักจะทำกันแล้ว จะเป็นการจับในลักษณะเหมือนกับแฮนด์จักรยานหรือแบบกำหมัดชกมวยมากกว่า คือแนวของหลังมือจะตรงกับแนวแขน สังเกตจากการถือปืนมือเดียวแล้วเล็ง แนวหลังมือจะตรงหรือเกือบตรงกับแนวแขน แต่แนวลำกล้องปืนจะเยื้องกับแนวแขนอย่างชัดเจน เมื่อมันเยื้องอยู่อย่างนั้นจะทำให้เกิดแกนหมุนที่รีคอยล์ของปืนสามารถกระทำได้หลายแกน คือแทนที่แรงจะถ่ายทอดจากปืนสู่มือสู่แขนตรง ๆ แรงรีคอยล์จะถ่ายไปยังแกนหมุนเหล่านั้น ทำให้คุมแรงสะบัดของปืนได้ลำบาก เราต้องลดแกนหมุนเหล่านั้นให้น้อยลง คือจับปืนให้แนวลำกล้องอยู่ตรงกับแนวแขนมากที่สุด
เริ่มจากกางมือลักษณะง่ามแล้วสอดจับด้ามปืนโดยสอดมือไปข้างหน้าและล่างขึ้นบนครับ พยายามให้สามารถจับปืนได้สูงที่สุด นิ้วหัวแม่มือจะต้องอยู่บนใบเซฟ นิ้วกลางต้องชิดกับด้านล่างของโกร่งไก โดยหากแนวลำกล้องปืนตรงกับแนวแขน จะงอยหลังอ่อนจะเข้าไปอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางช่องว่างระหว่างกระดูกนิ้วหัวแม่มือกับกระดูกนิ้วชี้พอดีไม่โดนกระดูกนิ้วทั้งสอง ส้นมือจะยันอยู่กับส้นด้ามหรือบริเวณหลอดสปริงนกสับพอดีครับ เมื่อจับให้แนวลำกล้องตรงกับแนวแขนตามที่บอกแล้ว ลองยกปืนขึ้นเล็งมือเดียวดูครับ จะเห็นว่าแนวลำกล้องจะชี้ไปยังเป้าหมายโดยไม่ต้องดัดหรือขืนข้อมือเลย แต่จะรู้สึกเหมือนกับว่าเราจับด้ามได้น้อยลง ไม่ต้องกังวลครับ ดูขั้นตอนต่อไปดีกว่า แต่จะเห็นว่าด้ามปืนด้านที่ว่างอยู่จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีกเยอะเลย ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อไปครับ
ต่อด้วยมือข้างไม่ถนัดครับ แบมือและยื่นตรงไปด้านหน้าประกบกับด้ามปืน หักข้อมือให้ปลายนิ้วชี้ลงประมาณ 30 องศา หรือสังเกตดูว่าปลายนิ้วหัวแม่มือจะชี้ไปยังเป้าครับ แล้ววางหัวแม่มือโดยแนบขนานไปกับโครงปืน และด้านบนของมือข้างไม่ถนัดนี้จะต้องแนบชิดกับด้านล่างนิ้วหัวแม่มือของมือข้างถนัดด้วยครับ (ตามในรูป) แล้วรวบนิ้ว 4 นิ้วที่เหลือกำด้ามโดยให้นิ้วชี้ชิดกับโกร่งไกที่สุด แล้วจะรู้สึกได้เลยว่า เมื่อจับในลักษณะนี้จะสามารถจับด้ามปืนได้สูงขึ้น และเนินฝ่ามือในตำแหน่งโคนหัวแม่มือกับเนินส้นมือจะสามารถสัมผัสกับประกับด้ามปืนส่วนที่เหลืออยู่ได้มากกว่าเดิมครับ
การออกแรงบีบด้ามปืน ให้ออกแรงบีบระหว่างมือข้างถนัดกับข้างไม่ถนัดในอัตราส่วนอย่างน้อย 50/50 หรือ 60/40 หรือมือข้างไม่ถนัดออกแรงบีบด้ามปืนมากกว่าข้างถนัดเล็กน้อย หรือใช้แรงของมือข้างไม่ถนัดเป็นหลักครับ ทำไมต้องใช้มือข้างไม่ถนัดออกแรงมากกว่า ก็เพราะปืนจะดิ้นมากดิ้นน้อย นอกจากเรากำจัดจุดหมุนของข้อมือกับแขนของมือข้างถนัดให้น้อยลงแล้ว การบีบมือข้างไม่ถนัดให้แน่นจะเป็นเหมือนการดามไปอีกชั้น ก็จะทำให้ปืนดิ้นน้อยลงไปอีกครับ อีกทั้งการที่มือข้างไม่ถนัดได้สัมผัสกับด้ามปืนได้มากขึ้นและสูงขึ้นก็ช่วยในการลดการสะบัดของปืนได้เป็นอย่างดี คือแทนที่แรงจะถ่ายทอดไปตามข้อหรือแกนหมุนต่าง ๆ แรงก็จะสามารถถ่ายทอดมาสู้แขนได้มากขึ้นครับ
เมื่อแรงรีคอยล์ถ่ายมายังแขนแล้ว หากแขนตึง แรงก็จะถ่ายทอดผ่านขากท่อนแขงทั้งสองท่อนมาสู่ไหล่เต็ม ๆ ทำให้ตัวผงะหงายหลังทุกครั้ง (ยกเว้นตัวท่านจะใหญ่พอจะต้านทานแรงรีคอยล์ได้) จึงต้องหย่อนแขนโดยการงอข้อศอกเล็กน้อยไม่ให้แขนตึง เพื่อให้ข้อศอกทำหน้าที่เป็นเหมือนโช๊คซับแรงรีคอย จะทำให้ตัวนิ่งขึ้น เมื่อตัวนิ่งขึ้นการเล็งต่อเนื่องก็ทำได้ดีขึ้นครับ
การยืนและการถ่ายน้ำหนัก การยืน ให้ยืนกางขาให้เท่าระยะความกว้างของไหล่ และเท้าข้างไม่ถนัดอยู่หน้าข้างถนัดเล็กน้อยประมาณครึ่งก้าว ย่อเข่าลงเล็กน้อย โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยให้น้ำหนักลงที่ปลายเท้าครับ จะช่วยในการต้านแรงรีคอยได้ครับ