จาก เดลินิวส์ on line
ครับ
นักวิชาการจุฬาฯ เผย 25 ปี กทม.จมน้ำ ถ้าป้องกันไม่ดี พร้อมแนะวางแผนแม่บทมาตรฐานการป้องกันน้ำท่วม
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในเชิงวิชาการ ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำของโลก พบว่าอนาคตสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศจะมีความถี่เพิ่มมากขึ้น และอาจก่อเกิดปัญหาประเทศไทยหลายเท่าตัว รวมถึงส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบทำได้ยากขึ้นโดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นต้องแก้ปัญหาโดยพิจารณาข้อมูลหลายมิติ และมีมาตรการเร่งด่วน ดังนี้1.เร่งวางแผนแม่บทมาตรฐานการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้าง 2.มีแผนพัฒนากรุงเทพฯและเมืองบริวารในอนาคต 3.มีมาตราการควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อลดปัญหาแผ่นดินทรุด 4.เร่งปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ 5.มีมาตราการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผ่นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและ 6. มาตราการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อจัดตั้งกองทุนชดเชยน้ำท่วม
ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับระบบการทำงานและองค์กรที่จะมาแก้ปัญหาน้ำท่วมให้เหมาะสมอย่างมืออาชีพ เน้นประสิทธิผลมากกว่าการทำกิจกรรม และต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ใช้ทฤษฏีขั้นพื้นฐานที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ดำเนินการใช้อยู่มาเป็นกรอบในการประยุกต์สารสนเทศเชิงพื้นที่ วิเคราะห์และประมวลผล จัดทำแบบจำลองเชิงพื้นที่ในหลายรูปแบบจากสารสนเทศเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง และตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันน้ำท่วม โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์และปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ได้อย่างทันเหตุการณ์
ศ.ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ นักวิจัยในโครงการศึกษาเรื่องการเคลื่อนตัวทางดิ่งของแผ่นดินและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยด้วยเทคโนโลยีอวกาศจากโครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากโครงการศึกษาร่วมระหว่างชาติโดยใช้ 3 เทคโนโลยี คือดาวเทียมจีพีเอส ตรวจวัดและติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกทางดิ่ง ชี้ให้เห็นว่าช่วง 5 ปีหลังเหตุแผ่นดินไหวสุมาตรา-อันดามัน พื้นที่บริเวณประเทศไทยมีการลดระดับของแผ่นเปลือกโลกในอัตรา 10 มมต่อปี ส่วนดาวเทียมวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอ่าวไทย บ่งชี้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยอยู่ที่ 5 มมต่อปี และ ดาวเทียมเรดาร์ วัดการทรุดตัวของชั้นดิน/ทรายบริเวณกทม. อยู่ที่ 15 มม.ต่อปี ซึ่งหากอัตราการเคลื่อนตัวทางดิ่งคงที่ไปเรื่อยๆ ภายใน 25 ปี กทม.อาจจะอยู่ในระดับเดียวกับน้ำทะเล และกทม.อาจกำลังจมลง แต่กทม.จะจมลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านด้วย
ด้านผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ ผอ.สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของจุฬาฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า เสาหลักของแผ่นดิน มีดังนี้ ทำรายงานน้ำท่วม รวบรวมข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะจากนักวิชาการจุฬาฯ เผยแพร่สู่สาธารณะ จัดสัมมนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจุฬาฯเป็นสื่อกลาง เพื่อหาแนวทางปฏิบัติทันที ขณะเดียวกันศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ได้ข้อมูล และนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ที่จะช่วยส่งเสริมองค์กรหลักในการป้องกัน เตรียมรับ แก้ไข และลดผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรวิชาการจัดการพิบัติภัย เพื่อพัฒนาบุคคลากรของประเทศให้มีความรู้ที่พร้อมจะปฏิบัติงานกับสถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคต.