ความซื่อตรง
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ความซื่อตรง ถือสัตย์ไร้มายา มีความถูกต้องจริงใจในหน้าที่การงาน มีการดำเนินชีวิต โดยสุจริต ไม่หลอกลวงปวงชน เป็นลักษณะของความซื่อตรง- ซื่อตรงต่อตนเอง คือ การไม่หลอกตนเอง ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ของตน คิดอยู่เสมอว่าความลับไม่มีในโลก แล้วงดเว้นการทำ พูด คิดในทางชั่ว ตั้งใจใฝ่ดีมุ่งมั่นทำ พูด คิด อยู่ในทำนองคลองธรรม พร้อมรักษาความดีให้คงมั่นตลอดไป ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
- ซื่อตรงต่อบุคคล คือ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับตน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นสูง ต่ำ หรือเสมอกัน ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่นินทาว่าร้ายใครในที่ลับหลังด้วยเจตนาชั่ว ไม่คิดร้าย ทำลายกันและกัน ที่สำคัญคือผู้มีพระคุณ ไม่ประพฤติตนเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก
ในครอบครัว หากสามีภรรยาไม่ซื่อตรง ไม่จริงใจต่อกัน ความทุกข์เบื้องต้นจะปรากฏชัด คือ ความไม่ไว้วางใจกัน ต่อจากนั้นจะเกิดการทะเลาะ เบาะแว้งกัน เป็นเหตุให้เกิดปัญหาครอบครัวแตก แยก เป็นปัญหาสังคมมากมาย
ในสังคม หากผู้นำและผู้ตามไม่ซื่อตรงไม่จริงใจต่อกัน จะก่อให้เกิดปัญหาความหวาดระแวง ไม่ยอมรับนับถือกัน งานในองค์กรจะไม่เจริญก้าว หน้าและสำเร็จตามเป้าหมาย
ดังนั้น ชนทุกระดับชั้นในสังคมควรมีความซื่อตรงเป็นหลัก จะก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเจริญและสันติสุขร่วมกัน
- ซื่อตรงต่อเวลา คือ ได้นัดหมายกับใครแล้วไม่ผิดนัด ตรงตามเวลา หรือตั้งใจจะทำอะไรแล้วลงมือทำให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าทุกคนนิยมตรงต่อเวลา ไม่มีใครต้องการเสียเวลา ทุกภารกิจจึงต้องกำหนดเวลาเป็นสำคัญ
- ซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ของตน ไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหาย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดถึงญาติมิตรมีช่องทางทำการทุจริตคิดมิชอบ เบียดบังภาษีอากรของชาติมาเป็นของตน ไม่ปล่อย ให้งานคั่งค้าง ไม่ละทิ้งหน้าที่ความรับผิดชอบ
- ซื่อตรงต่อความดี คือ การยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตใจ และขนบธรรมเนียมจารีตประ เพณีอันดีงามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระศาสนา บูชาความถูกต้องเหนือสิ่งอื่นใด ความซื่อตรงต่อความดีเป็นยอดของความซื่อตรง เพราะครอบคลุมความดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความดีทางกาย วาจา และใจ โดยอาศัยหลักธรรมประจำใจ
ความซื่อตรง จึงมีความสำคัญสำหรับคนที่เป็น ผู้นำในทุกระดับชั้น เพราะถือว่าเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นด้วย
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ ถ้าประพฤติไม่เป็นธรรม คนทั้งหมดก็ทำตามอย่าง ประเทศชาติก็เดือดร้อน แต่ถ้าประพฤติเป็นธรรม คนทั้งหมดก็ประพฤติตามอย่างบ้าง ประเทศชาติก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนกับฝูงโคที่กำลังข้ามฟาก ถ้าโคจ่าฝูงนำไปคด โคทั้งหมดก็เดินคดเคี้ยวตาม หากโคจ่าฝูงนำไปตรง โคทั้งหมดก็ไปตรงฉะนั้น"
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
www.watdevaraj.com