วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7531 ข่าวสดรายวัน
พระ"เบ่ง"กล้าม ตอนที่ 1
คอลัมน์ คำคมคารมเซียน
คําคมฯ ตอนนี้ขอเสนอคำว่า "เบ่ง"เป็นอีกศัพท์ธุรกิจที่ใช้เฉพาะในวงการพระเครื่อง
สั้นๆ หนึ่งพยางค์ แต่รายละเอียดอย่างเยอะ
ต้องเล่ายื้อกัน 3 ตอนแต่รับรองไม่ยืดยาดครับ
เบ่ง : อาการของความพยายามที่จะขายพระให้ได้ราคา
เป็นกฎตายตัวของพ่อค้าวาณิชทั่วทั้งโลกที่มักจะเรียกราคาขายของทุกสินค้าให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้
หน้าที่ของลูกนก-ลูกกาอย่างเราก็เพียงแต่ต่อรองลงมา ให้เจอกับราคาที่พอรับได้
สนามการค้าอื่นๆ เรียกพฤติกรรมนี้ว่า... โก่งราคา
แต่บรรดาเซียนเค้าจะเรียกกันอีกอย่างว่า...เบ่ง
คิดจะ "เบ่ง" ก็ต้องมี "กล้าม" ให้เบ่ง
ขืนเบ่งซี้ซั้วมั่วๆ มีหวังป่องแตกตาย
คล้ายอึ่งอ่างสู้วัว-สู้ควายในนิทานอีสป
"กล้าม" ของเซียนที่ผมหมายถึงในที่นี้ก็คือ "จุดขาย-จุดแข็ง"
เพิ่มมูลค่าความพิเศษ-ความแรง เพื่อให้เกิดความแพงของราคาพระองค์นั้นๆ ที่อยู่ในมือ
จนทำให้กลายเป็นความแตกต่างห่างชั้นขั้นเทพกว่าพระองค์อื่นๆ ในรุ่นเดียวกันหรือรุ่นใกล้เคียง
เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ชอบความพิเศษ
และแน่นอน ความพิเศษย่อมหมายถึงปริมาณที่มีน้อย
แต่จะทำยังไงเมื่อความอยากได้...มีมาก
จึงจำเป็นต้อง...เบ่ง
ผมจะลองแยกแยะ "กล้าม" ที่เขาใช้ "เบ่ง" ให้เห็นภาพชัดๆ
1. "รุ่นแรก" ไว้ก่อน เซียนสอนไว้
เพราะคนเราชอบความเป็นที่หนึ่ง
คำว่า "รุ่นแรก" จึงเป็นที่แสวงหา
ทำให้พระราคาแพงกว่า ถ้าสร้างเป็นรุ่นแรก
อย่างเหรียญพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
มีผู้ขออนุญาตจัดสร้างกว่า 100 รุ่น
หลวงปู่ท่านก็เมตตาอธิษฐานภาวนาให้เท่าเทียมทุกรุ่น
แต่ลูกศิษย์กลับเลือกชอบแบบเหลื่อมล้ำ
ทุกรุ่นมีค่านิยมแตกต่าง ตั้งแต่หลักร้อยยันหลักแสน
ครั้นถามถึงเหรียญรุ่นแรก...อย่าแปลกใจ
เบ่งราคากันจนเกินล้าน!
2. "พิมพ์นิยม" องค์เดียวจบ
คนบางคนไม่ชอบปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ
จะหาพระไว้บูชา ถ้าไม่มีรุ่นแรกก็มักจะเลือกแต่หัวๆ
พูดกันเสมอว่า "พิมพ์นิยม...องค์เดียวจบ"
เมื่อยอดนิยมก็ต้องอยู่หัวแถว มีคนต่อคิวยาว...อยากได้
ส่วนใหญ่ที่มักได้ยิน จะตั้งฉายาว่าพิมพ์ "ใหญ่" หรือไม่ก็พิมพ์ "A"
แล้วเรียกเสริมต่อท้ายว่า...นิยม
พระสมเด็จฯ ของเก่าหรือสร้างใหม่ก็ต้องพิมพ์ใหญ่
พระรอดก็ต้องพิมพ์ใหญ่
พระหลวงปู่ทวดก็ต้องพิมพ์ใหญ่...ฯลฯ
บางครั้งก็ทั้ง "ใหญ่" ทั้ง "A"
เรียกรวมว่าพิมพ์ "ใหญ่ A"...ว่าเข้านั่น!
เจอแบบนี้รับรอง ...ต้องเบ่ง!
3. "บล็อกนิยม" สะสมแล้วเท่
มักเกิดกับพระเหรียญ-โลหะ ที่ต้องใช้บล็อกแม่พิมพ์ในการปั๊ม
วงการก็จะชอบแยกบล็อกเด่น-เห็นชัด จัดอันดับความเหนือชั้น
ตั้งชื่อตามตำหนิที่ปรากฏ ไม่เหมือนกัน
ขอยกเหรียญทองแดงหลวงพ่อคูณรุ่นดัง ปี 2517 เป็นอาทิ
ในรุ่นนี้แม้รูปแบบเหรียญจะเหมือนกัน
แต่ดันมีรายละเอียดเล็กๆ ที่แตกต่าง แบ่งกันไปได้หลายบล็อก
แยกย่อย-เยอะแยะจนเวียนหัว
นิยมสุดก็ต้องบล็อก "นวะไหล่ จุด"
โดยมีตำหนิเหมือนเหรียญที่เป็นเนื้อนวโลหะทุกประการ
ความหมายคือเป็นบล็อกเดียวกันกับที่ใช้ปั๊มเหรียญนวโลหะ
มีตำหนิเป็นจุดที่เหนือหัวไหล่ของหลวงพ่อ
ก็เลยนิยมว่า...เท่!
นอกนั้นยังมีบล็อกนวะหูขีด-บล็อกอมหมาก-บล็อกคอปาด
ยังไม่พอ ยังแบ่งบล็อกนิยมจากด้านหลังเหรียญเพิ่มเติม
เป็นบล็อก 5 แตกวงเดือน - 5 แตกหูขีด - 5 แตกธรรมดา
คงกลัวยาพาราฯ ขายไม่ดี
ความจริงบล็อกพิเศษเหล่านี้มักเกิดจากรอยแตก-ชำรุดในแม่พิมพ์
เมื่อนำไปปั๊มเหรียญ จึงทำให้เกิดตำหนิพิสดาร
เหตุการณ์นี้เกิดกับเหรียญอีกหลายหลวงพ่อ แต่คงต้องพอก่อนแค่นี้
เซียนไหนใครมี "บล็อกนิยม" คงต้องเบ่งจนหน้าเขียว
แต่ผมไม่มีสักองค์เดียว
ต้องขออั้น...กลั้นไว้เบ่งกันต่อตอนหน้านะครับ
***************************************************************************************************************************************ก๊อปปี้มาจาก นสพ.ข่าวสด อ่านแล้วสนุกดีแกมความรู้ตื้นลึกหนาบาง
มิมีเจตนาเป็นอย่าอื่น นอกจากนำมาเผื่อ สมช.อวป. ที่สนใจเรื่องพระ >>> สวัสดีครับ <<< >>> pasta <<<