http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=420&contentID=160368คณบดีวิทยาศาสตร์จุฬาฯ แจงคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ เหตุการณ์พญานาคโผล่บึงโขงหลงเป็นแค่คลื่นกระแทกผิวน้ำ ชี้ไม่ได้ลบหลู่
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และ ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ร่วมกันจัดงานเสวนา "วิเคราะห์ปรากฏการณ์คลื่นน้ำปริศนาในแบบวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ" หลังจากเกิดกระแสข่าวเรื่องการปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ จากสัตว์ในวรรณคดีอย่างพญานาคมาแสดงอิทธิฤทธิ์
ด้าน ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า ตามที่ได้มีข่าวในช่วงเดือนที่ผ่านมาตามสื่อต่างๆ ว่า พบปรากฏว่าการณ์ประหลาดที่บริเวณบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ว่ามีเงาดำเคลื่อนที่อยู่กลางบึงเป็นแนวยาวประมาณ 10-20 เมตร เหมือนมีอะไรบางอย่างเคลื่อนที่ดำผุดดำว่ายบิดไปบิดมาอยู่บริเวณนั้นไม่ไปไหนเป็นเวลานานหลายนาที บางจังหวะจับภาพได้ว่า เป็นแนวโค้งรูปคลื่น 3 โค้งที่ขึ้นลง สอดคล้องกับความเชื่อของคนในท้องถิ่นว่าเป็น พญานาค ที่อยู่ในแหล่งน้ำต่างๆของลำโขง ซึ่งจากกระแสข่าวดังกล่าวปรากฏว่า มีประชาชนคนไทยถึง 78 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นพญานาคจริง การเสวนาครั้งนี้จึงจะเคารพในความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่และจะไม่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของผู้ที่เชื่อถือ แต่จะมุ่งเน้นไปหาคำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์สำหรับคนส่วนที่เหลือเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวอีกว่า คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้มากกว่าและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในห้องหว้ากอ คือ พญานาคที่เห็นนั้นเป็นแค่คลื่นกระแทกผิวน้ำในทะเลสาบ หรือ เลคเวค (Lake Wake) เท่านั้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นมานานและเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติของภูมิภาคต่างๆของโลก และมักจะนำไปสู่ตำนานการเห็นสัตว์ประหลาดในทะเลสาบ ซึ่งปรากฏการณ์คลื่นกระแทกน้ำในทะเลสาบนี้มีต้นกำเนิดหลายกรณี ทั้งที่มีคนสร้างขึ้น เช่นเรือหางยาวที่ใบพัดจะตีน้ำเป็นห้วงๆ จนทำให้เกิดคลื่นเป็นห้วงๆ ตามมาหลังเรือแล่นผ่านไปได้สักครู่ หรือกรณีที่มีสิ่งก่อสร้างอยู่ในน้ำและขวางทางน้ำไว้ จนทำให้กระแสน้ำปั่นป่วน ตีกัน จนกลายเป็นคลื่นกระแทกผิวน้ำได้ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติอีกด้วยเช่น จากกระแสลมแรงในฤดูมรสุมที่มีความแปรปรวนของทิศทางลมสูง บางครั้งลมที่พัดสอบเข้ามา ทำให้น้ำม้วนตัวอย่างแรง และส่งทอดไปเป็นห้วงๆ ตามกระแสของคลื่นที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีบึงโขงหลงนั้นมีผู้จับตามองดูเป็นจำนวนมาก และไม่พบเห็นว่ามีเรือผ่านไป ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีเรือขนาดใหญ่แล่นผ่านไปอย่างช้าๆ แต่อยู่ไกลมากจนไม่มีใครสนใจมอง และคลื่นจากเรือค่อยๆเคลื่อนเข้ามาจนกระแทกกับแนวสะท้อนกลับของคลื่นที่กระทบบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง จนเห็นเป็นการม้วนตัวของคลื่นขนาดใหญ่ หรืออาจจะมีสิ่งก่อสร้างบางอย่างที่จมอยู่ใต้บึงโขงหลง เช่นโบสถ์วัดหรืออาคารเก่า ทำให้คลื่นที่เคลื่อนเข้ามาเกิดการยกตัวขึ้นกลายเป็นคลื่นกระแทกผิวน้ำได้
ส่วนกรณีที่มีผู้อ้างว่าสามารถติดต่อกับพญานาคได้และทำนายถูกต้องว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องเครื่องตรวจระเบิดวัตถุระเบิด จีที 200 ว่าทำไมถึงหาอาวุธเจอเมื่อตั้งด่านตรวจ ซึ่งก็คือจริงๆแล้วปรากฏการณ์นี้อาจจะมีผู้สังเกตพบว่า เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง และเกิดขึ้นได้ที่ตำแหน่งไหนของบึงและเกิดขึ้นช่วงไหน ขณะที่ประชาชนคนอื่นๆ ไม่ได้ตั้งใจสังเกตดู เมื่อทำนายไปจึงมีโอกาสสูงที่จะทำนายถูก สอดคล้องกับข่าวการปรากฏตัวของพญานาคในวันถัดๆมา แม้จะไม่ใช่วันทีนัดหมายกันไว้ก็ตาม
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้ตั้งใจจะนำมาหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่อยากเสนอแนะให้มีการพิสูจน์เรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น การตั้งกล้องถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ของพญานาค ให้เห็นว่า มีลักษณะเช่นไร มีครีบ มีหงอน หรือเป็นเพียงแค่เงาคลื่นเท่านั้น ซึ่งทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯควรเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ตามนโยบายของรมว.วิทยาศาสตร์คนใหม่ที่แถลงว่า จะพยายามทำให้สังคมไทยคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งหากว่า พญานาคเล่นน้ำในบึงโขงหลงนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาดูได้เพียงบางเวลาและเกิดขึ้นเพียงบางสถานที่ ก็น่าจะมีการส่งเสริมอย่างจริงจังให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ที่ผู้ไปเยี่ยมชมจะได้เห็นทั้งความงามตามธรรมชาติของระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ และมีสิทธิ์จะได้ลุ้นว่าเห็นพญานาคเล่นน้ำในวันที่ไปเที่ยวหรือไม่