ส่อเละ! คืนภาษีรถคันแรก ช่องโหว่ ได้แล้วเลิกผ่อน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
คืนภาษีรถคันแรกส่อแววเละ ช่องโหว่เพียบ โดยเฉพาะหลังได้เงินคืนแล้วเลิกผ่อน สรรพสามิต"รับไม่มีกฎหมายบังคับ เอกชนยันตามรถคืนได้ต้องจ่ายไฟแนนซ์ก่อนคืนรัฐ ฟรีดาวน์ 0% ไม่มีแน่ เพราะเสี่ยง
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงมาตรการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรกว่า ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูเว็บไซต์
www.excise.go.th ได้หลังวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งจะมีรายละเอียดและขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ โดยเฉพาะรายละเอียดรถยนต์แต่ละยี่ห้อ ว่ามีภาษีที่จะได้รับคืนจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้ซื้อรถคันแรกที่ขอคืนเงิน ต้องส่งหลักฐานครบ 7 อย่าง ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2555 ซึ่งกรมฯ จะใช้เวลา 7 วัน ยืนยันการได้รับคืนภาษี และผู้ซื้อรถจะได้รับเงินหลังซื้อแล้ว 1 ปี
"ตั้งงบไว้ 3 หมื่นล้านบาท รองรับในปี 2556 แต่หากมีผู้ใช้สิทธิมากก็อาจขอเพิ่มงบจากรัฐบาลในอนาคต"
ขณะที่ นายจุมพล ริมสาคร รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า มาตรการนี้จะยึดตามข้อมูลกรมขนส่งเป็นลำดับแรก แต่หากข้อมูลไม่สมบูรณ์ก็ต้องตรวจสอบต่อ ซึ่งหากพบภายหลังว่าไม่ใช่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกจริง ก็ต้องยึดเงินกลับคืน ส่วนกรณีรถติดไฟแนนซ์ก็มี 2 กรณีคือ ไฟแนนซ์ติดตามและนำมาคืนรัฐ แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย ก็ต้องให้ส่วนราชการติดตามคืน ทั้งนี้ การคืนไม่ใช่การคืนตามบทบัญญัติกฎหมาย และไม่ใช่คืนภาษี จึงไม่มีกฎหมายบังคับการกระทำผิด แต่จะมีเงื่อนไขระบุไว้ ซึ่งจะไม่มีเบี้ยปรับ แต่อาจมีดอกเบี้ยทางแพ่ง
ด้าน นายชลิต ศิลป์ศรีสุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ ในฐานะรองประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า กรณียึดรถนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่าซื้อก่อน คือคืนหนี้เช่าซื้อก่อน จึงคืนเงินให้รัฐได้ ซึ่งมาตรการครั้งนี้อาจทำให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ต้องเพิ่มเงื่อนไขมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการวางเงินดาวน์ 0% อาจไม่สามารถทำได้ เพราะภายหลังจากที่ครบ 1 ปี เมื่อผู้ซื้อได้รับเงินภาษีคืนไปแล้ว 1 แสนบาท อาจกระตุ้นให้ผู้ซื้อเลิกผ่อนชำระต่อ สถาบันการเงินจึงต้องเพิ่มเงินดาวน์ เพื่อลดความเสี่ยง และยังกังวลว่ามาตรการจะกระตุ้นให้ผู้เช่าซื้อกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อไม่ มากพอเข้ามาซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น หรืออาจสวมสิทธิซื้อแทนกันเพื่อหวังได้รับการคืนภาษี
ทางฝั่งของนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเงา กล่าวว่า ถือเป็นการใช้เงินภาษีที่ไม่คุ้มค่า โดยควรนำเงิน 3 หมื่นล้านบาทไปลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ดีกว่า เพราะรองรับผู้โดยสาร 5 แสนคนต่อวันได้ถึง 30 ปี
นายกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลชุดนี้จะรีดภาษีจากใครมากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากการดำเนินมาตรการตามนโยบายประชานิยม ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายคงไม่พ้นภาษีสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม และอยากให้ยืนยันกฎหมายภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ที่พรรคเพื่อไทยเคยยืนยันไว้ในหลายเวทีว่าพร้อมสนับสนุนด้วย
วันเดียวกัน นายเคร็ก สเตฟเฟนเซน ผู้อำนวยการ สำนักงานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย เผยว่า เอดีบีได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้จาก 4.5% เหลือ 4.0% และปีหน้าปรับจาก 4.8% เหลือ 4.5% โดยได้รวมผลของมาตรการนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และภาษีรถยนต์คันแรกแล้ว แต่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว เนื่องจากครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำมากเพียง 2.9% เพราะถูกกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่น
"ช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า และยังมีแรงกดดันจากการเร่งตัวเงินเฟ้อ" นายเคร็กระบุ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า การปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยของเอดีบีถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้อยู่แล้ว
ปล.อย่าลากเข้าการเมืองเลยนะครับ