ไม่ค่อยรู้เรื่องภาคใต้ เห็นข่าวน่าสนใจเลยขอเอามาแปะครับ...
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120497'เข้าใจและยอมรับ' แก้ปัญหาภาคใต้ สไตล์ 'ดร.รุ่ง แก้วแดง'
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 21 กันยายน 2554 17:54 น.
เหตุการณ์คาร์บอมบ์ 3 จุดพร้อมกันที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 118 คน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2554 ถือเป็นภาพสะท้อนอีกครั้งที่บ่งบอกว่า ถึงวันนี้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะอ่อนข้อเลยแม้แต่น้อย
ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมหนอปัญหาเรื่องภาคใต้นี้ถึงได้คาราคาซังมานานเกือบ 10 ปี อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยของความไม่สงบสุขนี้กันแน่ หรือที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ที่ภาครัฐผลักดันลงมาอย่างมหาศาลจะไม่ถูกใจคนในพื้นที่
เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงถือโอกาสนี้ไปพูดคุยกับ ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่วันนี้ตัดสินใจผันตัวเองมาทำงานประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะว่าเป็นโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชน หรือโครงการพัฒนาผู้นำชุมชนเพื่อสันติสุข ผ่านทางมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งถือเป็นช่วงแรกๆ ที่ไฟใต้กลับมาลุกลามครั้งใหญ่ จนยากจะดับไหวอย่างในปัจจุบันนี้
เหตุใดปัญหาเรื่องภาคใต้ในช่วงนี้ถึงกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง
ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาภาคใต้นั้นมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วพอมาถึงช่วงนี้ก็มักจะรุนแรงมากขึ้นเสมอ เพราะตอนนี้ไม่มีใครทำงานอยู่ในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้งหมด ทุกคนเขาวิ่งหาตำแหน่งกันหมดไง ฉะนั้นมันก็เลยเป็นช่องว่าง เหลือแต่ข้าราชการเด็กๆ ซึ่งบางครั้งก็เผอเรอบ้าง...เป็นแบบนี้ทุกปี
แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจไปว่า เพราะต้องการของบเพิ่ม ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่หรอก ลองไปดูก็ได้ ช่วงนี้ผู้ใหญ่ทั้งหมดไปอยู่ที่กรุงเทพฯ กัน แล้วก็วิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจกันหูดับตับไหม้ทุกคน เนื่องจากทุกคนอยากลงมาอยู่ที่นี่ เพราะอยู่ตรงนี้ก็จะได้ผลประโยชน์ อย่างเวลางานก็จะทวีคูณ อาวุโสก็จะแซงขึ้น ใครๆ ก็เลยอยากจะลงมา แต่พอถึงช่วงโยกย้าย มันต้องขึ้นไปวิ่งที่กรุงเทพฯ ไง นี่คือเหตุผลที่ทำให้ช่วงนี้เกิดความรุนแรงมากขึ้นเป็นพิเศษ
ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้ก็คงแก้ยาก เพราะถึงอย่างไรก็คงหลีกเลี่ยงเรื่องโยกย้ายไม่ได้อยู่แล้ว
มันเป็นความผิดพลาดของเรา ที่มุ่งให้ราชการเป็นคนแก้อยู่ฝ่ายเดียว เพราะราชการนั้นมีคนเยอะ ทรัพยากรเยอะ แต่จุดอ่อนคือเราไม่เคยนิ่ง คนจะมาอยู่นิดเดียวเอง เพื่อหาตำแหน่ง เสร็จแล้วก็ย้ายกลับไป เพราะฉะนั้นงานทั้งหลายก็เลยเกิดปัญหาคือ หนึ่ง-งานไม่ต่อเนื่องเลย สอง-คือด้วยความที่เขาแก่งแย่งชิงดีกัน ฐานข้อมูลของคนที่มาก่อน จะไม่ให้คนหลังเลย ปัญหามันก็เลยเกิดซ้ำซากแบบนี้แหละ แล้วเวลาที่รัฐบาลจะทำอะไรก็จะนึกแต่ทางราชการ เพราะเขาไม่ไว้ใจคนที่นี่ เนื่องจากเขาไม่ได้มองว่าเป็นคนไทย แล้วก็จะรู้สึกว่าคนพวกนี้ไม่จงรักภักดี ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่มีความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนมีไม่ถึง 5,000 คนมั้ง
ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ใช่ 5,000 คนจาก 1.6 ล้านคน แต่เขาก็ไม่ไว้ใจอยู่ดี ก็เลยพึ่งแต่ราชการ ซึ่งไม่เคยนิ่ง อย่างแม่ทัพภาค 4 อยู่ที่นั่นก็ทำงานปีเดียวก็ขึ้นพลเอกแล้ว เพราะฉะนั้นตราบใดที่เราพึ่งแต่ระบบแบบนี้ ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้หรอก
ผมว่าสิ่งสำคัญที่ราชการต้องทำตอนนี้ก็คือ 'คิดใหม่' ซึ่งแบบนี้มันยากที่คนกรุงเทพฯ จะทำความเข้าใจ โดยเราต้องคิดว่า คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ คนไทย เขาอยู่ที่นี่มานานแล้ว ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องประวัติศาสตร์บ้างแต่เขาก็คือคนไทย เขาก็รักในหลวงนี่แหละ เพียงแต่ว่า ถ้าเราไว้ใจเขา ให้เขาทำงาน เขาก็ไม่แยกไปไหนหรอก แล้วแม้แต่พวกมาเลเซีย เขาก็ไม่ชื่นชมก็คนมุสลิม 3 จังหวัดนะ อย่างผมพาคนมุสลิมออกไปมาเลเซีย ซึ่งถ้าอยู่ที่นี่เราเรียกเขาว่าคนมลายู แต่พอไปถึงด่าน เขาก็ไปแนะนำตัวว่าเป็นคนมลายู ยื่นพาสปอร์ตไปให้ ด่านบอกโนๆๆๆ คนไทย คนสยาม ฉะนั้นเขาไม่ยอมรับอะไรเลย แต่เราไปหวาดระแวงเอง
แล้วภาคประชาสังคมล่ะไม่มีบทบาทอะไรบ้างเลยหรือ
ที่นี่ถือว่าอ่อนแอมากเลยนะ โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับภาคอื่นๆ มูลนิธิที่ทำงานจริงๆ จังๆ เกือบไม่มีเลย ตอนนี้มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ถือว่าเป็นมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดในการทำกิจกรรม เพราะมูลนิธิอื่นจากกรุงเทพฯ เขาลงมา แต่มาชั่วคราว มาจัดสัมมนาแล้วก็กลับขึ้นมา หรือไม่ลงมาแล้วก็ถามๆๆ เซ็นชื่อกลับไปเลย ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ มันก็เลยอ่อนแอไปโดยปริยาย
สรุปก็เป็นแบบเดียวกับระบบราชการที่มาแล้วก็ไป
ใช่...แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ถึงอย่างไรระบบราชการก็จำเป็น แต่ในภาวะวิกฤตมันต้องลดบทบาท แล้วพุ่งตรงไปที่ภาคประชาสังคม ตัวอย่างเช่นตอนนี้จะมีกองทุนผู้หญิงเกิดขึ้น ซึ่งควรจะต้องพุ่งตรงไปที่กลุ่มผู้หญิงเลย แล้วจะได้อะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าลงไปแล้วยังไปขึ้นกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มันก็เหมือนเดิมอีกนั่นแหละ ค่าหัวคิว ร้อยแปดไปหมด แต่เชื่อเถอะทำยาก เพราะเอาแค่เคารพสิทธิชองเรา ไม่รังแกเรา ไม่จับลูกหลานเราไปเขาตาราง แค่นี้ส่วนกลางก็รับไม่ได้แล้ว คือเขาพูดได้ แต่พฤติกรรมที่ทำ...ไม่ใช่เลย
อย่างนี้บทบาทของราชการที่ควรจะลดไป มันน่าจะไปอยู่ที่ระดับไหน
ถ้าเรื่องทหารไม่ต้องไปลด เพราะเขาไม่ลดแน่นอน แต่ภาคราชการที่เกี่ยวกับการบริการทั้งหลาย โดยเฉพาะงานเกษตร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 8 ปี มีคนมหาศาลเลยที่ลงมา แต่ปรากฏว่าพอลงไปแล้ว ราชการเราไม่มีความรู้หรือความชำนาญอะไรเลย เพราะเขาไม่เคยทำ ตอนเรียนมาก็เรียนเกษตรจริง แต่ก็งูๆ ปลาๆ ดังนั้นถ้าต้องการทำจริง ก็ควรเอาบริษัทเกษตรที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ขอเป็นซีเอสอาร์ อย่ามุ่งมาหาผลประโยชน์ เอามาเลย เช่นที่มาเลเซียต้องการไก่มหาศาล แค่นี้ก็ทำโครงการเลี้ยงไก่ได้ทุกหมู่บ้านเลย แล้วส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเลี้ยงกันทุกแห่ง ซึ่งพอเลี้ยงไก่ก็จะมีภาระมากขึ้น แทนที่จะไปมั่วสุมก็น้อยลง เวลาที่จะทำอะไรออกนอกลู่นอกทางก็ไม่มี เพราะเขานึกถึงอาชีพของเขา แต่ถ้าเป็นราชการทำส่งแค่ 3 เดือนก็เลิกแล้ว
แสดงว่า ตอนนี้เยาวชนที่นั่นก็มีเวลาว่างมากเลย
ถูกต้อง เพราะเขาเป็นเด็กผู้ชายนะ แล้วจบแค่ ป.6 ก็ไม่เรียนหนังสือแล้ว พอไม่เรียนก็ว่าง แล้วพอไปนั่งคุยกันก็เหมือนชาวไทยพุทธกรุงเทพฯ นี่แหละ ถามว่าทำอะไร ตอนแรกก็เรื่องเล็กๆ ก่อน จากนั้นก็ต่อไปที่อันอื่นๆ ฉะนั้นเรื่องอาชีพถึงสำคัญ แต่ต้องใช้มืออาชีพไม่ใช่ราชการ เพราะราชการเราทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีที่ไหนหรอกที่ยังชีพด้วยการประกอบการ เราเรียนมาก็งูๆ ปลาๆ ผมมีตัวอย่างที่เห็นชัดๆ อยู่เรื่อง ครั้งหนึ่งผมเคยทำโครงการเรื่องแพะที่นี่ ผมก็ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบด็อกเตอร์เรื่องแพะมา ปรากฏว่าแกไม่เคยเลี้ยงแพะ แกอ่านแต่หนังสือแพะ พอมารุ่น 2 เราก็เอาวิทยากรเป็นคนเลี้ยงแพะมาเลย ปรากฏว่าเขาชอบมากเลย เพราะถามอะไร ตอบได้หมด เพราะเขารู้จริง
เช่นเดียวกับเรื่องสังคมก็เหมือนกัน ก็ต้องให้ภาคประชาสังคมทำ อย่างเรื่องเด็ก สตรี ต้องปล่อยเขาเลย ของมูลนิธิเราปล่อย ทำเอาคิดเอง อาจจะมีคอร์รัปชันบ้าง แต่คิดแล้วเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าราชการ หรือแม้แต่งานยุติธรรมก็ส่งเสริมชมรมทนายมุสลิมขึ้นมา ให้เขามาช่วย เพราะเขาก็พูดภาษาเดียวกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าแก้ปัญหาได้ ก็ต้องมีภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามาช่วย ถ้าทำแบบตั้งอกตั้งใจใช้เวลาไม่นานหรอก แค่ 3-4 ปีก็เรียบร้อย
ส่วนราชการก็ถอยมาทำแต่เรื่องนโยบาย อย่าลงปฏิบัติ เพราะลงจริงก็ไม่กล้า ลงไปก็กลัว สังเกตดูก็ได้เวลานายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ลงพื้นที่ครั้งหนึ่งมาเป็นร้อยเลย ทั้งทหาร ตำรวจ อส. (กองอาสารักษาดินแดน) คุ้มกันเต็มไปหมด
แล้วเรื่องระบบการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนามากขึ้นกว่านี้ไหม เพราะดูเหมือนเด็กที่นี่จะจบในวุฒิที่ไม่สูงเท่าใดนัก
มีผลเยอะเลย เพราะระบบการศึกษาเรานั้นไม่เอื้อต่อความต้องการ บางอย่างก็ขัดต่อหลักศาสนา แต่ผมว่าตอนนี้มันเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะเริ่มมีการปรับกันมากขึ้นแล้ว
แต่ก็มีบางคนวิตกว่า การศึกษานั้นเป็นบ่อเกิดชองแนวคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดน
ผมคิดว่ามันเพียงแค่สีสันเท่านั้นแหละ เพราะคนที่มีแนวคิดแบบนี้ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่างประเทศอีกที เป็นอียิปต์รุ่นแรกๆ ตอนยุคที่รัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนหลังก็มาจากปากีสถาน เรื่องพวกนี้เป็นสีสันทั้งนั้นแหละ มุสลิมเองก็มีหลายสาย ทั้งสายรุนแรงก็มี ซ้ายจัดก็มีเหมือนอิรัก อิหร่าน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปให้ความสำคัญ เอาเวลามานั่งคุยกันดีกว่า เอามาแลกกัน ไม่ใช่พอเสียงต่างก็จับทันที
หากคนส่วนกลางเปิดใจและราชการถอยออกมามากกว่านี้ แล้วในพื้นที่ล่ะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
ผมเชื่อว่า ถ้าเราเปิดโอกาส มันจะเกิดขึ้นเอง แต่ตอนนี้ไม่เปิดโอกาส มันเหมือนมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ต้นคือ ต้นราชการ ต้นอื่นก็งอกไม่ได้ เพราะแดดไม่ลง จริงๆ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องไปวางแผนอะไรมาก มันก็คล้ายๆ กับที่ในหลวงรับสั่งว่า อย่าวางแผนที่จะปลูกป่า แค่ไม่โคนป่าก็พอแล้ว แต่ราชการเอะอะก็จะปลูกป่าเรื่อย ปลูกทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เป็นป่า เพราะไปถางป่าเก่าแล้วไปปลูก ปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าเรายอมรับได้แค่นี้ก็จบแล้ว
>>>>>>>>>>>>
..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK