หมวดข่าว / ข่าวออนไลน์
โดย บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 10:32:00 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2554
สกู๊ป : "เรือดำน้ำ" กับอีกหลายคำถามที่ทหารต้องตอบสาธารณชน
การจัดซื้อ "ยุทโธปกรณ์" ของกองทัพเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บ ในยุคปลาย นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเนื่องยุค นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูเหมือน “กองทัพเรือ” กำลังตกขบวน หลังจากที่ “กองทัพบก” ได้รับอนุมัติการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป หรือ “แบล็กฮอว์ก” จำนวน 2 ลำ วงเงินประมาณ 2,841 ล้านบาท มีระยะเวลาในการก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 54 จำนวน 570 ล้านบาท ปีงบประมาณ 55 จำนวน 789 ล้านบาท และปีงบประมาณ 56 จำนวน 1,482 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน “กองทัพอากาศ” ก็เพิ่งต้อนรับ เครื่องบินกริพเพน 39 C/D จำนวน 6 เครื่อง จากประเทศสวีเดน ในโครงการจัดซื้อระยะที่ 1 เข้าประจำการ ฝูงบิน 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี
ส่วน “กองทัพเรือ” ที่ใฝ่ฝันมี “กองเรือดำน้ำ” ก็พยายามผลักดันเข้าสู่ ครม. ทั้งยุคสมัย นายกฯ อภิสิทธิ์ และ นายกฯยิ่งลักษณ์ แต่ดูเสมือนติดขัด ไม่ราบรื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความจำเป็น เหตุผลสมรรถภาพ เหตุผลความจำเป็นของท้องทะเล ซึ่งล้วนยังมีสิ่งที่เป็น “คำถาม” ซึ่งต้องการ “คำตอบ” ในหลายด้านที่สังคมควรรับรู้เช่นกัน
มีทัศนะที่น่ารับฟังไม่น้อยจาก ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ นักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายพลเรือนเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เข้าร่วมอยู่ใน “คณะกรรมการพิจารณาโครงการเรือดำน้ำ” กระทรวงกลาโหม
แม้ว่าหลายคนเคยได้พบเธอในหลายบทบาทที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านการสื่อสารระดับแถวหน้าของประเทศ แต่ ศ.ดร.ปาริชาต บอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากเธอเองเคยทำงานด้านความมั่นคงให้กับภาครัฐมาแล้วหลายวาระ
บทบาทสำคัญของการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสาธารณะ ให้ความเห็นว่า เป็นการเข้ามาช่วยตั้งคำถาม ที่คาดว่าสาธารณชนต้องการรับรู้เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค หน้าที่ของนักวิชาการท่านนี้คือ พิจารณาโครงการเรือดำน้ำในทุกมิติ ทุกมุมมอง อย่างครอบคลุม และขอให้ทางหน่วยผู้จัดซื้อคือกองทัพเรือ ตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับโครงการฯ ที่ได้ถามไป พร้อมกับจะต้องมีหลักฐานและรายละเอียดมาคลี่คลายข้อสงสัยอย่างเป็นรูปธรรม
คำถามสำคัญที่ได้ส่งให้คณะกรรมการชุด พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง อดีต ผบ.ทร. เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาซักถามทางกองทัพเรือ เป็นคำถามที่ประชาชนและสื่อมวลชนต้องการรับรู้ เช่น โครงการนี้จะมีความคุ้มค่าเพียงใด? เหมาะสมหรือไม่ที่จะจัดซื้อในขณะนี้? มีรายละเอียดขั้นตอนและความเป็นไปได้ที่สังคมจะได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร? เป็นต้น คำถามต่างๆ เหล่านี้จะสะท้อนความสนใจและการประเมินความต้องการของภาคประชาชนที่อยากเห็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมีความคุ้มค่าและโปร่งใส
หากกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมไม่สามารถสร้างความชัดเจนในระดับคณะกรรมการฯ แม้ว่าโครงการจะผ่านไปได้ แต่กระทรวงกลาโหมหรือกองทัพเรือก็จะต้องไปตอบข้อสงสัยของสื่อมวลชน และสาธารณชนในอนาคตอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่กองทัพเรือน่าจะทำมากที่สุดคือทบทวนโครงการนี้ให้ชัดเจน และอุดช่องโหว่ต่างๆ ที่อาจมีอยู่ กับพร้อมที่จะปรับปรุงรายละเอียดที่พบว่าอาจมีปัญหาในอนาคต
เมื่อถามว่า การที่โครงการเรือดำน้ำยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เป็นเพราะว่ากองทัพเรือยังไม่สามารถตอบคำถามสำคัญของคณะกรรมการฯ ได้ใช่หรือไม่? ศ.ดร.ปาริชาต กล่าวว่า ขั้นตอนนี้คงเป็นสิ่งที่กองทัพเรือกำลังทำอยู่คือหาคำตอบและหาข้อมูลหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่ กห.จะนำเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติ ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาเรือดำน้ำในฝ่ายทหารและทางกลาโหมคงกำลังพิจารณาอยู่
ส่วนที่ว่ากองทัพเรือจะได้จัดซื้อเรือดำน้ำภายในปีนี้ตามที่ตั้งใจหรือไม่นั้น ศ.ดร.ปาริชาต ให้ความเห็นว่า ได้ทำหน้าที่ในการตั้งคำถามในมุมมองข้อสงสัยภาคประชาชนไปอย่างครบถ้วนแล้ว จึงขึ้นอยู่กับการชี้แจงของกองทัพเรือ การพิจารณาของคณะกรรมการฯ และการตัดสินใจของกระทรวงกลาโหม
โครงการจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำตามเป้าหมายของกองทัพเรือในครั้งนี้ คงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะทางเทคนิคที่จะตัดสินใจกันอย่างคลุมเครือในแง่มุมของกองทัพหรือฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังควรจะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความคุ้มค่าที่ภาคประชาชนจะได้รับให้มีความชัดเจนเป็นหลักเป็นฐานด้วย
เมื่อปลายเดือน ก.ย.54 ที่ผ่านมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กห.ได้รับทราบผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ และได้ขอให้ ทร.กลับไปทบทวนในรายละเอียด โดยยังจะไม่มีการนำเข้า ครม. นอกจากนี้ รมว.กห.ยังแสดงความกังวลว่า โครงการนี้อาจจะยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอต่อการตอบข้อสงสัยของ สตง. และ ส.ว.บางส่วน รวมทั้งอาจกลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายฯ ได้ หากโครงการไม่ชัดเจนในแง่ความคุ้มค่าอย่างเพียงพอ
ศ.ดร.ปาริชาต ได้ให้ความเห็นในท้ายที่สุดว่า การจัดซื้อจัดหาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ รวมทั้งของฝ่ายทหาร น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดำเนินการโดยขาดความชัดเจนโปร่งใสได้อีกต่อไป เพราะนอกจากจะมีกระบวนการคัดกรองของคณะกรรมการและที่ปรึกษาภาครัฐแล้ว สื่อมวลชนและภาคประชาชนก็มีความตื่นตัวและให้ความสนใจติดตามโครงการลักษณะนี้มากขึ้น
จึงคงต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไปว่า กองทัพเรือจะสามารถพิสูจน์ความคุ้มค่า การมีศักยภาพและความพร้อม ที่จะมีเรือดำน้ำที่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ หรือจะเป็นแค่อีกหนึ่งโครงการอันคลุมเครือและขาดประสิทธิภาพเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่าง GT200 รถหุ้มเกราะ และเรือเหาะ ที่ไม่เคยใช้งานได้จริง
กัญชลา แจ่มพัฒน์
ที่มา บ้านเมืองออนไลน์ เมื่อเวลา 10:32:00 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2554
http://www.banmuang.co.th/politic.asp?id=250114แล้วที่กองเรือดำน้ำชี้แจงไปไม่ได้ดูหรือ