ผมดูข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยแถวโคราช ออกแบบใช้ผ้าใบแบบคลุมสินค้ารถบรรทุก+ตาข่ายตาใหญ่ขนาดประตูฟุตบอล ห่อรถยนต์ทั้งคันให้ลอยน้ำได้ ทดลองให้ดูทางทีวี เห็นว่าน้ำต้องลึก 40 ซม.ขึ้นไป...ลอยได้จริงครับ มทส. คิดวิธีห่อรถด้วยตาข่ายและผ้าใบ ลอยน้ำหนีน้ำท่วม แก้ปัญหารถจมน้ำและไม่มีที่จอดรถ
.โดย Suranaree University of Technology เมื่อ 21 ตุลาคม 2011 เวลา 5:01 น..มทส. คิดวิธีห่อรถด้วยตาข่ายและผ้าใบ ลอยน้ำหนีน้ำท่วม
แก้ปัญหารถจมน้ำและไม่มีที่จอดรถ
ตามที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย หลายพื้นที่ต้องประสบกับน้ำท่วมสูงมิดหลังคารถยนต์ ทำให้ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ 10,000-100,000 บาท หลังน้ำลด การห่อรถลอยน้ำ จึงเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งไม่มีปัญหาต้องซ่อมรถหลังน้ำท่วม และไม่ต้องวุ่นวายหาที่จอดรถในที่สูงเพื่อหนีน้ำ โดยอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้คิดค้นหาวิธี และทดสอบจนมั่นใจ ห่อรถยนต์ลอยน้ำหนีน้ำท่วมได้จริง
จากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงและมีระดับน้ำท่วมสูงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากปัญหาเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค อาหารน้ำดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นขาดแคลน ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้ประสบภัยคือการไม่มีที่จอดรถยนต์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องประสบกับน้ำท่วมสูงเกินหลังคารถ ซึ่งจะทำให้รถยนต์พังเสียหาย และต้องเสียค่าซ่อมหลังน้ำลดเป็นเงินจำนวนมาก อาจารย์และนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ (เจ้าของความคิดประดิษฐ์เรือน้ำใจปีบทอง) และอาจารย์ธีทัต ดลวิชัย สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงได้คิดค้นวิธีการ รถลอยน้ำด้วยตาข่ายและผ้าใบ ซึ่งเป็นวิธีการในการใช้ตาข่ายและผ้าใบคลุมรถ เพื่อให้รถยนต์ลอยขึ้นจากน้ำ โดยได้ทำการทดสอบ และสร้างต้นแบบเพื่อให้ประชาชนที่สนใจนำไปจัดทำเองได้ ใช้วัสดุที่หาได้ง่าย และใช้งานจริงได้ทันที
รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ กล่าวว่า ผมได้คิดไว้ก่อนหน้าแล้วว่า จะหาทางช่วยรถไม่ให้จมน้ำ เช่น รถที่จอดไว้ในที่จอดรถของบ้าน เจ้าของอาจวิตกว่าน้ำจะท่วมรถยนต์เสียหาย หากเอาไปจอดไว้ที่อื่นก็ไม่สะดวก ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับรถยนต์จำนวนมาก และปัญหาความปลอดภัยอาจจะถูกงัดแงะโจรกรรม วันนี้ผมเดินทางลงใต้เพื่อไปเป็นที่ปรึกษา รพ.กระบี่ และประชุมวิชาการ จึงได้ขอให้ อ.ธีทัต ดลวิชัย ได้ทำการทดลองที่ผมได้คิดค้นไว้ คือ เอาตาข่ายแข็งแรงมาหุ้มรถแบบตึงๆ เอาเชือกร้อยรัดให้แน่นเข้ากับหลังคารถ จากนั้นเอาผ้าใบหุ้มอีกชั้น มัดหลวมๆ ซึ่งจะทำให้รถลอยน้ำได้เมื่อน้ำท่วม โดยผ้าใบและตาข่ายจะทำหน้าที่รับน้ำหนักรถที่ล้อทั้งสี่ล้อ แล้วกระจายเฉลี่ยไปยังตาข่ายด้านในไม่กระทำเป็นจุด ผ้าใบและตาข่ายจะไม่ฉีกขาด และรับน้ำหนักรถให้รถลอยน้ำได้ทั้งคัน
อาจารย์ธีทัต ดลวิชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแล การจัดทำ และการทดสอบร่วมกับนักศึกษา กล่าวว่า วัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำรถลอยน้ำประกอบด้วย ตาข่าย ผ้าใบชนิดหนาพิเศษ และเชือกสำหรับมัด โดยจะคลุมเรือด้วยตาข่าย มัดและดึงให้แน่นก่อน แล้วคลุมด้วยผ้าใบอีกชั้นเพื่อกันน้ำ โดยใช้ผ้าใบขนาดประมาณ 4x7 เมตร เจาะตาไก่ร้อยเชือกคลุมเกือบทั้งคันหลวมๆ เมื่อระดับน้ำขึ้นสูง รถยนต์ทั้งคันจะลอยน้ำขึ้นมา ไม่ต้องกลัวปัญหารถจมน้ำ และลดปัญหาการหาที่จอดรถตามสะพาน หรือตึกสูง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย โดยวิธีการในการทำไม่ยากสามารถทำเองได้ โดยมีต้นทุนไม่เกิน 5,000 บาท
ผู้สนใจนำแบบ วิธีการจัดทำ รถลอยน้ำ ไปใช้ สามารถติดต่อได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4422-4410-1 หรือรองศาสตราจารย์ ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ โทร. 085-9033882 E-mail :
tabon@sut.ac.th ชมวิดีทัศน์อธิบายการทำงาน
http://www.youtube.com/watch?v=iM2zZYbHt34 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ข่าว+ภาพ : วราวุฒิ DPR.