พ่อหลวง ของชาวไทย (1)
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
www.watdevaraj.comวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรารู้โดยทั่วไปว่า วันพ่อแห่งชาติ วันสำคัญเช่นนี้ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดย คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่ม เหตุผลสำคัญในการจัดงานวันพ่อ เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณ เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อ เพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น พระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่งดงาม ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทรงมีพระปฐมบรมราชโครงการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์ ซึ่งยาวนานที่สุดกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกนี้ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม สละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทย โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ แม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารไกลแสนไกลเพียงใด พระองค์เสด็จไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ช่วยเหลือและให้กำลังใจเสมอมา
อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ในวโรกาสต่างๆ ในครั้งสำคัญยิ่งคือเมื่อเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ใจความตอนหนึ่งทรงเน้นย้ำให้นึกถึงคุณธรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรักสามัคคีกัน ที่ทำให้คนไทยสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง
ประการแรก คือ การที่ทุกคน คิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกาและในระเบียบ แบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุผล