พิจารณาตนเอง ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร / www.watdevaraj.comการพิจารณาตนเอง คือ การตรวจตราตนเอง สอบสวนตนเอง ใช้สติปัญญาให้รู้ว่า ขณะนี้ตนเองเป็นอย่างไร มีสถานภาพเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ติชมตนเองได้ว่ายังขาดสิ่งใดที่ต้องเติมเต็ม สิ่งใดเพียงพอแล้วก็รักษาระดับไว้ เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิดไม่ถูกต้อง ก็ใช้สติเป็นเครื่องยับยั้งใจไว้ ไม่ปล่อยใจไปตามกระแสของอารมณ์ฝ่ายต่ำ คอยควบคุมพฤติกรรมที่เราแสดงออกทางกายและทางวาจา เพราะพฤติกรรมนั้นย่อมมีผลกระทบถึงผู้อื่นด้วย มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าพฤติกรรมนั้นไปกระทบต่อกฎเกณฑ์ของสังคมเท่าไร
การดำเนินชีวิตของคนเรา แม้จะเป็นส่วนที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การกิน การนอน ก็เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ต้องอาศัยผู้อื่นช่วย คือ ขณะที่ยังเป็นเด็ก ก็อาศัยพ่อแม่แนะนำ ฝึกฝนให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบอาชีพก็ต้องมีการฝึกงาน ทดลองงานก่อน
ทุกขั้นตอนของชีวิตต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เริ่มตั้งแต่สังคมเล็กๆ คือ ครอบครัว ต้องเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และที่กว้างออกไปก็เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมงาน ร่วมอาชีพ แต่การที่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกัน เป็นการละลายพฤติกรรมเข้าหากัน ยิ่งมีความสนิทสนมมากเพียงใดก็จะมีลักษณะนิสัยใกล้เคียงกันเพียงนั้น
การใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตนให้ทราบชัด ว่าสิ่งที่กำลังทำ คำที่กำลังพูด ผิดหรือถูก ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ ท่านผู้รู้ติเตียนได้หรือไม่ ถ้ารู้ชัดว่าผิดพลาด ยังบกพร่องอยู่ ต้องรีบปรับปรุงแก้ไข ยอมลดมานะทิฐิไม่ถลำลึกต่อไป เมื่อเราพิจารณาใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตนเอง ตักเตือนตน เอง ไถ่ถอนตนเองจากกิเลสตัณหาและความชั่วต่างๆ ได้เอง ปรับปรุงตนเองได้ นับว่าประเสริฐสุด เพราะคนส่วนมากมักเข้าข้างตนเอง มองไม่เห็นความผิดพลาดของตน เห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น ดังภาษิตที่ว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเห็นยาก
บุคคลผู้หวังความเจริญ จงทำใจให้เป็นกลาง น้อมรับคำแนะ นำของผู้รู้ ไม่เข้าข้างตนเอง พิจารณาใคร่ครวญให้เห็นข้อดี ข้อเสียของตน แล้วปรับปรุงแก้ไข ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ถลำลึก ก็จะถึงความเจริญได้ดังประสงค์
มีคำสุภาษิตที่ท่านได้กล่าวเตือนตนเอาไว้ว่า
"ตนเตือนตนของตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ"
เมื่อตนเตือนตนได้แล้ว ตนก็เป็นที่พึ่งแห่งตน นอกจากตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว ก็ยังเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย