สกู๊ปหน้า 1 .... เดลินิวส์ 4 กุมภาพันธ์ 2555 ครับ
... ข้อเสนอให้ซีลปืน
http://www.dailynews.co.th/article/223/10647หลังเหตุพลุระเบิดในงานฉลองตรุษจีนที่สุพรรณบุรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นการเตรียมการจุดพลุโดยมืออาชีพ นี่ก็คงจะทำให้คนไทยตระหนักถึงภัยจากการเล่นพลุดอกไม้ไฟอย่างเลยเถิด อย่างไม่เหมาะสมกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามกับภัยที่เกิดขึ้นในช่วงของการฉลองต่าง ๆ ก็ยังมีอีกหลายภัย หลายรูปแบบ ที่ไม่ควรมองข้าม
ภัยในช่วงการฉลองนี่ก็รวมถึง ภัยยิงปืนขึ้นฟ้า
ที่ผ่านมาคนไทยเจ็บตายเพราะภัยนี้ไปไม่น้อย!!
ทั้งนี้ กับ ภัยยิงปืนขึ้นฟ้า นี้ ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. and MS. In Logistics and SupplyChain Management มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ปรึกษาตัวอย่าง (สาขาบริหารจัดการ) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในผู้ให้ความสนใจ และล่าสุดมีการเสนอแนะผ่านมาทาง สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ โดยระบุว่า... หลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าวประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บ จาก คมกระสุนปืน ที่ อาชญากรมือสมัครเล่น ยิงขึ้นฟ้า ในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าตำรวจจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายแล้ว แต่ปัญหานี้กลับดูทวีความถี่และรุนแรงขึ้น ไม่นับรวมถึงกรณียิงปืนขึ้นฟ้าแต่ไม่เป็นข่าวเพราะกระสุนที่ตกลงมาไม่โดนคน ซึ่งน่าจะมีมากกว่าที่เป็นข่าวหลายเท่า
ภัยยิงปืนขึ้นฟ้านี้ เป็นอีกหนึ่งภัยที่คนไทยต้องกลัว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น ส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ อาจเป็นเพราะยากที่จะสืบและจับกุมผู้กระทำความผิด ขณะที่เรื่องนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กสำหรับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง
วัวหาย คนตายไปหลายศพแล้ว แต่ก็ยังไม่มีมาตรการล้อมคอกที่เป็นรูปธรรมไปมากกว่าเพียงออกมาเตือนให้ได้เป็นข่าวกันเป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นเราพอจะมีมาตรการใดบ้างที่สามารถช่วยป้องปรามให้ปัญหาดังกล่าวนี้ลดน้อยลง? ...ดร.อัศม์เดช ระบุเชิงตั้งคำถาม พร้อมทั้งเสนอว่า...
คนที่ยิงปืนขึ้นฟ้าจำนวนมาก ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าเป็นความผิด หรือไม่รู้ว่าผู้อื่นอาจได้รับความเสียหาย และก็คงมีคนที่ยิงปืนขึ้นฟ้าจำนวนไม่น้อยที่คิดว่ายิงแล้วก็ถูกสืบจับไม่ได้ ซึ่งคนมีอาวุธปืนก็ย่อมอยากจะลองใช้ลองยิง ซึ่งไทยควรมี ระบบตรวจสอบ ที่ช่วยให้ทราบได้ว่ามี การยิงปืน ก็จะช่วยป้องปรามปัญหานี้ได้มาก
อาจทำได้ง่าย ๆ โดยวิธี ซีล (seal) ซึ่งอาจใช้สติกเกอร์ สก๊อตเทป หรือพลาสติก หุ้มห่อหรือปิดผนึกที่ปลายกระบอกปืน เมื่อมีการยิงปืน ซีลจะขาดและมีเขม่าปรากฏที่ซีล ซึ่งหากใช้ซีลที่ทำด้วยวัสดุพิเศษก็อาจตรวจพิสูจน์ทางเคมีจากคราบเขม่าบนซีลเพิ่มเติมได้ด้วย ว่ายิงเมื่อไหร่? ยิงไปกี่นัด?
เมื่อมีการยิงปืน ซีลขาด ผู้ยิงจะต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ เพราะการยิงปืน ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ควรมีเหตุผลประกอบ และเจ้าหน้าที่ก็ควรทราบว่ามีการใช้ปืนเกิดขึ้น จากนั้นก็ต้องนำปืนมาให้เจ้าหน้าที่ซีลปากกระบอกใหม่ โดยซีลนั้นอาจตีตราหรือมีหมายเลขทะเบียนกำกับเพื่อป้องกันการปลอมแปลงซีล และแม้ไม่มีการยิงปืนเลย ก็มีข้อกำหนดให้ต้องมีการนำปืนมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ตามระยะเวลาที่กำหนด
นักวิชาการรายนี้ ระบุอีกว่า... การออกระเบียบให้ผู้ครอบครองปืนต้องซีลปากกระบอกปืนและแจ้งทุกครั้งที่มีการยิง แม้ว่าอาจจะเพิ่มความยุ่งยากและจำกัดสิทธิส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน และอาจมีการอ้างว่าการซีลทำให้ปืนที่เป็นของสะสมด้อยความสวยงามลงไป แต่นี่ก็ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริสุทธิ์ทั้งสังคมไม่ให้ต้องเจ็บหรือตายจากการยิงปืนแบบไร้เหตุผล ซึ่งแม้การซีลอาจไม่สามารถป้องกันการยิงปืนที่เป็นปืนเถื่อน แต่ก็จะช่วยป้องปรามและให้สติกับผู้ที่ครอบครองปืนอย่างถูกต้อง ว่าต้อง คิดก่อนยิง ให้มากขึ้น เพราะนอกจากคนอื่นแล้วตนเองก็จะเดือดร้อน จะถูกตรวจสอบและถูกจับได้ง่ายขึ้น
การซีลปากกระบอกปืน นอกจากจะช่วยปรามการ ยิงปืนขึ้นฟ้า ในช่วงเทศกาลได้แล้ว ยังช่วยปรามการยิงปืนด้วยความคึกคะนอง หรือด้วยอารมณ์ชั่ววูบ เช่น ยิงโชว์ ยิงขู่ ยิงสุนัข ยิงด้วยโทสะ ฯลฯ ซึ่งนี่ก็ทำให้คนดี ๆ ส่วนหนึ่งของสังคมต้อง กลายเป็นฆาตกร และแม้กระทั่งกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องพกพาปืนในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในเวลาปกติ หรือในสถานการณ์พิเศษต่าง ๆ เช่น ดูแลการชุมนุมทางการเมือง ฯลฯ หากปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้มีการซีลและตรวจสอบได้แล้ว นี่ก็จะ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
คนจำนวนมากที่ไม่ทำความผิด ไม่ใช่เพราะมีหิริหรือละอายที่จะทำความผิด แต่เป็นเพราะมีโอตัปปะหรือเกรงกลัวว่าจะถูกตรวจจับและถูกลงโทษ สังคมไทยได้พิสูจน์แล้วว่าการ เปิดปากพูดขอความร่วมมือ เพียงอย่างเดียวเช่นที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การ ปิดปากปืน อย่างง่าย ๆ ด้วยซีล เป็นอีกทางเลือกที่อาจช่วยลดการยิงปืน ลดความเสี่ยง สร้างความอุ่นใจให้กับสังคมโดยส่วนรวมได้มากขึ้น ...ดร.อัศม์เดช ระบุ
ก็เป็นข้อเสนอแนะ...เพื่อ ป้องกันภัยยิงปืนขึ้นฟ้า
ต่อไปในเมืองไทยจะมีการใช้วิธีนี้หรือไม่...ก็ไม่รู้
ที่รู้แน่ ๆ ก็คือ...การ ยิงปืนขึ้นฟ้า...ฆ่าคนได้!!!.