คุณนายคนหนึ่งมีฐานะดี เป็นคนใจบุญ ชอบทำบุญตักบาตรและสนทนากับพระ บางวันหลังจากตักบาตรแล้วก็จัดอาหารใส่ปิ่นโตหิ้วไปถวายสมเด็จฯ ที่วัดซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านนัก รอจนกระทั่งท่านฉันเสร็จแล้วก็อยู่สนทนาธรรมกับท่านตามสมควรแล้วก็กลับทำอยู่เช่นนี้จนเป็นที่รู้จักคุ้ยเคยของพระเณรในวัด
มาวันหนึ่งหลังจากคุณนายกลับแล้วพระอุปัฏฐากได้กราบเรียนเล่าถวายสมเด็จฯว่า แม่ของคุณนายคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่คุณนายให้ย้ายไปอยู่ห้องคนใช้หลังตึกใหญ่ ส่วนตัวเองกับลูกอยู่บนตึกใหญ่ซึงก็เป็นของแม่ตัวเองอย่างสุขสบาย อาจอายเพื่อนฝูงที่มาพบปะกันประจำว่ามีคนแก่อยู่ในบ้านทำให้ดูเกะกะก็ได้ ที่สำคัญคือไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลแม่เท่าที่ควร ปล่อยให้คนใช้ดูแลตามยถากรรมอดๆ อยากๆ เวลาไปหาแม่ก็พูดจาไม่เพราะ ชอบกระแนะกระแหนแช่งด่าให้ตายวันตายพรุ่ง ผิดกับที่มาพูดที่ยัดซึ่งพูดจาอ่อนหว่านเจ้าคะเจ้าขา คุณนายดูเผินๆเป็นคนใจบุญ แต่ที่บ้านเป็นอย่างนี้ เมื่อพระเล่าจบสมเด็จฯ ก็นิ่ง ไม่พูดจาต่อความอะไร
วันหนึ่งสมเด็จฯไปธุระนอกวัด ขากลับต้องผ่านบ้านคุณนายพอดี ทราบว่าคุณนายพร้อมลูกๆอยู่บ้าน จึงแวะเข้าไปเพื่อเยี่ยมเยียนคุณนายดีใจมากที่สมเด็จฯมาเยี่ยมถึงบ้านถือว่าเป็นมงคล กุลีกุจอต้อนรับพร้อมบอกลูกๆให้มากราบเพื่อขอพร หลังจากไต่ถามสุขทุกข์ตามธรรมเนียมการเยี่ยมแล้วสมเด็จฯจึงถามคุณนายว่า
“พระในบ้านของโยมมีบ้างไหม”
คุณนายได้ยินเข้าก็รีบตอบทันที่ว่า “มีเจ้าคะ ที่บ้านมีห้องพระอยู่ข้างบน มีพระเก่าๆหลายองค์ นิมนต์ขึ้นไปดูก็ได้เจ้าค่ะ”
สมเด็จฯคิดว่าคุณนายยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ จึงยิงคำถามตรงๆ ว่า
“คุณแม่ของคุณนายอยู่ไหม อยากจะเยี่ยมท่านสักหน่อย”
ได้ยินเข้าคุณนายถึงกับเสียวแปลบไปถึงหัวใจ จะตอบไปตามตรงว่าแม่อยู่หลังบ้านก็กลัวท่านจะเดินไปดูและจะตำหนิตนเมื่อเห็นสภาพของแม่ จึงอึกอักพูดหน้าตาเฉยว่าแม่ไม่อยู่ ออกไปเยี่ยมญาติคงอีกนานกว่าจะกลับ สมเด็จฯท่านก็ไม่ต่อความอีกเพราะรู้ความจริงชัดเจนแล้วว่าอะไรเป็นอะไรจึงลากลับวัด ทำให้คุณนายโล่งองไปเป็นกอง
หลายวันต่อมาคุณนายนำอาหารไปถวายสมเด็จฯ ที่วัดแต่เช้าเพื่อกราบขอบพระคุณที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน สมเด็จฯก็เลยถามว่า
“พระในบ้านของโยม โยมดูแลเรียบร้อยดีแล้วหรือ” “เรียบร้อยแล้วเจ้าคะ ก่อนจะมานี่ได้ตักบาตรพระหน้าบ้านและนำอาหารไปไหว้ที่ห้องพระเรียบร้อยจึงได้มานี่แหละค่ะ” คุณนายตอบด้วยความเข้าใจผิดเช่นเดิม
“อาตมามิได้หมายถึงพระพุทธรูปในห้องพระ แต่หมายถึงพระที่มีลมหายใจคือแม่ผู้มีพระคุณของโยมน่ะ” สมเด็จฯจึงพูดไปเรื่อยๆ
“คนเราน่ะมีพระที่มีลมหายใจอยู่ในบ้านกันทุกคน คือมีพ่อมีแม่ บางคนเหลือองค์เดียว บางคนเหลือสององค์ ช่างโชคดีที่เหลือให้บูชาในบ้าน ใครเหลือพระกี่องค์ก็ดูแลท่านบ้าง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้อดๆอยากๆ เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็ดูแลรักษากันไป ท่านแก่แล้ว จะกินจะใช้หมดเปลืองไปสักเท่าไรเชียว”
สมเด็จฯเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ “คุณนายก็เหมือนกันขอโทษนะที่ต้องพูดความจริง ทราบว่ามีแม่อยู่ในบ้านด้วย แต่โยมไม่ค่อยสนใจความเป้นอยู่ของท่าน ปล่อยให้ท่านอยู่ในห้องแคบๆ อับทึบอยู่หลังบ้าน ทั้งที่ท่านเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินที่โยมและลูกอยู่กัน โยมอยู่สบายแต่แม่อยู่ลำบาก ไม่สงสารท่านบ้างหรือ และโยมจัดอาหารถวายพระในห้องพระได้ทุกวัน แต่พระในบ้านคือแม่โยมไม่เคยจัดอาหารให้ แม้ที่โยมจัดหามาถวายอาตมานี้ก็จัดอย่างดี ทั้งๆทีอาตมาเป็นพระนอกบ้านโยม อาหารอย่างนี้น่าจะถวายพระในบ้านก่อนเสียด้วยซ้ำไป”
สมเด็จฯหยุดอีกนิดหนึ่ง เห็นคุณนายก้มหน้างุดอยู่ จึงกล่าวสรุปว่า
“อาตมาต้องขอโทษด้วยที่พูดแรงไปในวันนี้ เพระอาตมาคิดมาหลายวันแล้วว่าจะพูดดีหรือไม่พูดดี สุดท้ายตกลงว่าพูดดีกว่าเพราะสงสารเห็นใจแม่ของโยมและสงสารตัวโยมด้วย ต่อไปลูกหลานของโยมก็จะทำอย่างนี้กับโยมเหมือนกันเพราะเขาได้เห็นตัวอย่างจากโยม ที่พูดมานี่โยมจะโกรธเคืองอาตมาอย่างไรก็ตารมใจเถอะ”
เมื่อสมเด็จฯพูดจบ น้ำตาคุณนายไหลรินอาบแก้มสะอื้นพลางกราบสมเด็จฯ โดยไม่พูดอะไรสักคำ จะโกรธหรือน้อยใจสมเด็จฯก็ไม่ทราบได้ แต่หลังจากนั้นสมเด็จฯ ก็ได้ทราบข่าวว่าคุณนายได้ย้ายแม่เข้ามาอยู่ที่ตึกใหญ่ ดูแลปรนนิบัติด้วยตนเอง เมื่อไม่อยู่ก็กำชับคนใช้หรือลูกๆ ให้ดูแลแทนอย่างดี นับแต่นั้นมาพระในบ้านของคุณนายก็ได้อยู่สุขสบายโดยอาศัยพระนอกวัดไปโปรด.
เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า
พ่อแม่เป็นพระในบ้าน เป็นทั้งพระพรหม เป็นทั้งพระอรหันต์ เป็นพระเทพคือเทวดาของลูก ทั้งเป็นพระประจำวันเกิดครบทุกวันทุกปาง หน้าที่ของลูกที่จะพึงปฏิบัติต่อพระในบ้านคือปรนนิบัติ ดูแล เอาใจใส่ให้ข้าวให้น้ำ รักษายามเจ็บป่วย ถนอมน้ำใจมิให้ชอกช้ำผิดหวัง และที่สำคัญคือมิควรให้ท่านน้ำตาตกเพราะความผิดหวังในเราผู้เป็นลูก บางครั้งเราเที่ยวหาพระนอกบ้านมาบูชาในบ้าน แต่ลืมบูชาพระในบ้าน เราไปทำบุญกับพระในวัด แต่ปล่อยให้พระในบ้านหิวโหย เราสร้างห้องพระไว้ในบ้านอย่างดี แต่ให้พระในบ้านอยู่ในห้องที่แคบและอับทึบ เรากินใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย แต่กับพระในบ้านเรากลับตระหนี่เสียดาย ทั้งที่บางทีเงินทองที่เรากินเราใช้นั้นก็เป็นของท่าน ท่านหาเก็บหอมรอมริบไว้ให้เราแท้ๆ หรือแม้ว่าเราจะหามาได้เอง แต่เราก็ได้อาศัยต้นทุนและเครื่องมือที่พระในบ้านให้มา คืออาศัยมันสมอง สองมือสองเท้า และหูตาที่กำเนิดมาจากท่านและท่านเฝ้าถนอมฟูมฟักมาอย่างดีนับเป็นสิบปียี่สิบปี ถาไม่มีต้นทุนและเครื่องมือที่ท่านให้กำเนิดมา เรามีปัญญาหาเงินทองได้เองหรือ แม้จะมีแขนมีขาเทียม ก็สู้แขนขาที่ได้มาจากพระในบ้านหรือ รู้ได้แค่นี้ สำนึกได้แค่นี้ก็เป็นลูกกตัญญูในระดับหนึ่งแล้ว.
ที่มา หนังสือ กิร ดังได้สดับมา เล่ม ๒
ผู้แต่ง พรธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัญฑิต)