ประพฤติชั่วธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.comทุจริต แปลว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ดี หมายถึง การประพฤติที่เสียหาย การประพฤติที่ผิดศีลธรรม บางอย่างอาจผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่คนเราแสดงออกต่อผู้อื่นในทางที่ไม่พึงประสงค์ ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่เป็นอย่างอารยชน จัดตามช่องทางการประพฤติของคนเราเป็น 3 ทาง คือ 1.การประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า กายทุจริต
2.การประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต
3.การประพฤติชั่วทางใจ เรียกว่า มโนทุจริต
มีอธิบายดังนี้
1.กายทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่วทางกาย ได้แก่ การใช้กายทำความชั่วเลวทราม ต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1.การฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่น
2.การลักทรัพย์
3.การประพฤติในกามทั้งหลาย
2.วจีทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่วทางวาจา คือ การใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1.การพูดเท็จ
2.การพูดส่อเสียด
3.การพูดคำหยาบ
4.การพูดเพ้อเจ้อ
3.มโนทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางใจ คือ การปล่อยจิตให้คิดชั่วร้าย จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1.ความโลภอยากได้ของของคนอื่น
2.ความคิดปองร้ายผู้อื่น
3.ความเห็นผิดจากคลองธรรม
ทุจริต 3 อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรละ คือ เป็นสิ่งไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติ แต่ควรละเสีย
ในทุจริตทั้ง 3 นั้น มโนทุจริตนับว่าสำคัญที่สุด เพราะสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ใจ เมื่อใจคิดชั่วแล้ว พฤติกรรมทางกายและวาจาก็เป็นไปในทางชั่วตามที่ใจบงการ
คนที่มีความประพฤติเสียหรือคนที่เสียความประพฤติ ย่อมจะเอาดีหรือทำความดีอื่นๆ ไม่ขึ้น และไม่เป็นที่น่าคบหาของใครๆ เพราะเขากลัวว่าจะทำให้เขาเสียหายไปด้วย ดังนั้น ผู้มีความประพฤติเสียจัดว่าเป็นผู้มีวิบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารวิบัติ