สถานการณ์กรีซน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ เห็นว่าตอนนี้ นศ. จบใหม่ ตกงานมากกว่า 1/3 คน บทเรียนยุโรปครั้งนี้น่าศึกษามาก ๆ เพราะบ้านเราอีกไม่นานคงเป็นแบบนั้น
ลองอ่านดูครับ....
Submitted by toandthen on Mon, 2012-05-14 01:31
ในตอนนี้ประเทศกรีซต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่เรื่องอัตราว่างงานที่สูงมาก, อัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 50% ต่อปี, ขนาดเศรษฐกิจของประเทศหดตัวต่อเนื่อง จนไปถึงเรื่องชาวกรีกเริ่มออกไปหางานในต่างประเทศแล้ว โดยเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รอบโลกรวมไปถึง Citigroup และ BNP Paribas เริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ที่กรีซ อาจจะต้องออกจากเขตยูโรโซนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
หากพูดถึงความสำคัญของประเทศกรีซต่อยูโรโซนแล้วอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมประเทศพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีสามารถที่จะแบกรับปัญหาของประเทศนี้ได้ แต่ถึงแม้ว่ากรีซจะเป็นแค่ 2.2% ของจีดีพีของเขตยูโรโซนทั้งหมดก็ตาม การที่กรีซออกจากเขตยูโรโซนอาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศที่เป็นสมาชิกยูโรโซนรายอื่น ๆ อีกได้ และผลที่ตามมาคือเราอาจจะเห็นสเปน กับอิตาลี ออกจากเขตยูโรโซนตามรอยกรีซในอนาคต
ถ้ากรีซจะออกจากยูโรโซนจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือเศรษฐกิจของประเทศกรีซ จีดีพีของประเทศจะหายไปทันที 20% และค่าเงินเฟ้อจะพุ่ง 40-50% ในขณะที่อัตราส่วนของหนี้สาธารณะของประเทศต่อจีดีพีจะอยู่สูงกว่า 200% ส่วนค่าเงินใหม่ของประเทศกรีซจะต้องถูก "ปรับลดค่าลง" (devaluation) ให้อยู่ต่ำกว่าเดิมถึง 50% เพราะกรีซจะตกอยู่ในสถานะเกือบล้มละลาย
Jualia Kollewe จากหนังสือพิมพ์ The Guardian ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ 5 ขั้นตอนอันแสนลำบากที่ประเทศกรีซจะต้องเจอหลังจากวันนี้เป็นต้นไป
(1) สภาตกลงกันไม่ได้ ประเทศอาจจะไม่มีรัฐบาลไปอีกนาน หลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมานี้ เห็นได้ว่าประเทศได้ตกอยู่ในสภาวะ deadlock หรือไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองไหนมีจำนวนเก้าอี้ในสภามากพอที่จะทำอะไรได้ และหากรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาไม่มีอำนาจในการสั่งการดำเนินการหรือนโยบายทางการเงินใด ๆ ข้อตกลงช่วยเหลือกรีซทางการเงินเดิมจาก IMF​ และ EU​ อาจเป็นอันสิ้นสุดลงได้
(2) เมื่อเงินหมด ถ้ากรีซยังไม่มีรัฐบาลที่สามารถทำงานได้อย่างจริงจังอีก สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเงินยูโรที่ชาวกรีกถืออยู่ในมือ จะเริ่มมีมูลค่าต่างจากเงินยูโรที่ใช้ในประเทศยูโรโซนอื่น ๆ เนื่องจากธนาคารของประเทศกรีซต่าง ๆ จะถูกตัดออกจากระบบการเงินของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ซึ่งนั่นก็หมายความว่าธนาคารในประเทศกรีซ จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินด่วนได้อีกต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการที่ประชาชนจะรีบไปถอนเงินจากธนาคารทันที (bank-run) ก่อนที่ธนาคารจะล้มละลาย เมื่อนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการที่กรีซอาจจะต้องออกจากเขตยูโรโซน
(3) สกุลเงินใหม่ ขั้นตอนต่อไปในการแก้ปัญหาหลังจากที่ประเทศล้มละลายแล้วคือการอายัดเงินฝากทั้งหมดก่อนที่ธนาคารจะล้มละลายไปตาม ๆ กันจากการนำเงินออกนอกประเทศ หลังจากนั้นรัฐบาลจะต้องออกกฎหมายให้สร้างค่าเงินใหม่ขึ้นมา รัฐบาลอาจจะต้องเริ่มก่อตั้งธนาคารในประเทศแห่งใหม่ขึ้นมา เนื่องจากธนาคารในประเทศกรีซทุกแหล่ง ณ เวลานี้ใช้ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) เป็นแหล่งเงิน เมื่อแหล่งเงินไม่ยอมให้เงินอีกต่อไป ธนาคารเหล่านี้ก็ต้องปิดตัวลงทันที
(4) ชาวกรีกจะเริ่มย้ายออกนอกประเทศ อาร์เจนติน่าเป็นประเทศที่แสดงให้เห็นถึงกรณีตัวอย่างอย่างชัดเจนว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศที่ล้มละลายที่ต้องการจะลุกขึ้นยืนใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจะปิดตัวลงทันที และการเข้าถึงเงินกู้แทบจะเป็นไปไม่ได้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือรายได้ของประชาชนที่จะลดลงอย่างทันที อัตราว่างงานต้องเพิ่มสูงขึ้นมาก สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องใช้วิธีสุดท้ายในการหาเงินเข้าบ้าน ซึ่งนั่นก็คือการออกนอกประเทศเพื่อไปหางานทำ
(5) เจ้าหนี้ของกรีซจะขาดสภาพคล่อง เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ เจ้าหนี้คือคนต่อไปที่จะเจ็บ ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะสามารถยึดทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในประเทศกรีซได้ก็ตาม แต่ทรัพย์เหล่านั้นจะถูกตีมูลค่าเป็นค่าเงินใหม่ของประเทศกรีซ ซึ่งจะมีมูลค่าที่ต่ำมากและอาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในทันที ส่วนบริษัทที่เป็นหนี้และยังคงอยู่รอดในประเทศกรีซ จะต้องจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ที่ต้องเรียกเงินคืนเป็นเงินสกุลยูโรเหมือนเดิม (จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น) ทำให้ลูกหนี้ที่ยังอยู่รอดก็อาจจะไม่สามารถจ่ายหนี้และดอกเบี้ยได้ และสุดท้ายอาจจะต้องปิดกิจการลงเช่นกัน
ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับยูโรโซน ก็คงหนีไม่พ้นความมั่นคงและความมั่นใจในระบบ ยูโรโซนจะพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดจากขนาดของเศรษฐกิจที่เล็กลงเนื่องจากมีประเทศสมาชิกน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปก็คงเป็นผลกระทบลูกโซ่จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของยุโรป โลกทั้งโลกอาจจะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่
ตัวแทนจากธนาคาร UBS กล่าวว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากกรีซออกจากยูโรโซน มันยิ่งใหญ่กว่าศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์มาก...
ที่มา - The Guardian
ที่มา :
http://www.meconomics.net/content/351