แสงสว่างคือปัญญา
ธรรมะวันหยุด
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร / www.watdevaraj.comพูดถึงปัญญา คิดว่าใครๆ ก็คงรู้จัก แต่จะมีใครสักกี่คนที่นำปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะปัญญาเป็นนามธรรม มีแต่เพียงชื่อไม่ปรากฏตัวตนให้เห็น คนส่วนมากรู้จักปัญญา ก็เพียงผลที่ปรากฏ เช่น เห็นนักเรียน นักศึกษาคนไหน เรียนเก่ง เรียนจบไว ก็เรียกคนนั้นว่า ปัญญาดี ใครที่จำอะไรเก่ง จำแม่น ก็ว่าคนนั้นปัญญาดี ความจริงแล้ว ที่กล่าวมานั้นเป็นผลของปัญญาทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวปัญญาปัญญาคือ รู้อารมณ์ ตัดสินอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ มี 3 ประเภทคือ1. ปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
2. ปัญญาที่เกิดจากความนึกคิด
3. ปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมอบรมให้มีขึ้น
เมื่อพิจารณาปัญญาทั้ง 3 ประเภทนี้แล้ว จะเห็นว่าคนเราทุกคนล้วนมีปัญญาด้วยกันทั้งนั้น มีปัญญาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ครั้นเกิดมาแล้ว ใครจะมีปัญญามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดจากความนึกคิด และปัญญาที่เกิดจากการสั่งสมอบรมให้มีขึ้น ผู้ใดรู้จักคิดให้มากๆ ได้รับการสั่งสมอบรมมามาก ก็มีปัญญามาก
ปัญญาเป็นเครื่องส่องสว่าง คนจะประกอบกิจการสิ่งใดได้ต้องอาศัยแสงสว่าง ถ้าไม่มีแสงสว่าง ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ คนเราถ้าปราศจากปัญญา ก็เหมือนอยู่ในที่มืด ทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
ปัญญาย่อมมีทั้งคุณและโทษ สุดแท้แต่ผู้นำเอาไปใช้ ถ้านำเอาไปใช้ในทางที่ดี มีประโยชน์ ก็จะก่อให้เกิดคุณ แต่ถ้านำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ก็จะก่อให้เกิดโทษ
ปัญญาที่ถูกนำไปใช้ ต้องมีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายคอยกำกับ หมายความว่า ก่อนจะใช้ปัญญาต้องกำหนดไว้ในใจถึงสิ่งที่จะทำนั้น แจกแจงโดยละเอียด ให้เห็นว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก สิ่งไหนมีประโยชน์ สิ่งไหนไม่มีประโยชน์ สิ่งไหนเป็นคุณ สิ่งไหนเป็นโทษ แล้วจึงใช้ปัญญาตัดสินเลือกทำแต่สิ่งที่ชอบ ที่ดี ที่ถูก ที่ควร
เมื่อทำได้เช่นนี้ การกระทำนั้นก็จะเป็นไปในทางที่ดี มีประโยชน์ ก่อให้เกิดคุณ ต้องระวังอย่าให้มีโมหะ ความหลงไม่รู้จริงกำกับ ปัญญาที่มีโมหะเป็นตัวชี้นำ จะเป็นปัญญาที่งมงาย โมหะเป็นตัวปิดบังทางแห่งความเห็นชอบ คนมีปัญญาถูกโมหะชี้นำมักจะเป็นคนหลงผิดเป็นชอบเสมอ
ดังนั้น จะทำสิ่งใดควรใช้ปัญญาให้มากๆ เพื่อกันความผิดพลาดอันจะพึงมี จะลงมือทำสิ่งใด ต้องคิดให้รอบคอบถึงผลดี ผลร้าย ผลได้ ผลเสียก่อนแล้วจึงค่อยลงมือทำ เมื่อทำไปแล้ว จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
คนที่ใช้ปัญญาทำทุกสิ่งทุกอย่าง เปรียบเสมือนคนที่เดินทางกลางคืน มีคบไฟส่องนำทางสว่างไสว เดินไปตามแสงไฟนั้นย่อมปลอดภัย ตรงกันข้าม คนที่ทำอะไรไม่ใช้ปัญญา เปรียบเสมือนคนที่เดินทางในกลางคืน ไม่มีแสงไฟนำทาง เดินไปท่ามกลางความมืด เป็นอันตรายอย่างยิ่ง