+++ เรดวู๊ด ราชาแห่งพงไพร +++ภาพนี้ถ่ายโดยมิเชล นิโคลส์ (Michael Nichols) ช่างภาพของเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค เป็นภาพต้นเรดวูด
ที่สูงถึง 106 เมตร (350 ฟุต) อายุ 750 ปี อยู่ในรัฐคาลิฟอเนีย โดยมีนักวิจัยกำลังปีนเพื่อสำรวจต้นไม้นี้อยู่ ต้นเรดวูด (redwood) สามารถเติบใหญ่จนกลายเป็นต้นไม้สูงที่สุดในโลกได้ ไม้ชนิดนี้ให้ทั้งซุง สร้างงาน ปกป้องสายน้ำอันพิสุทธิ์ และเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ป่านานาชนิด
ประวัติศาสตร์ของต้นเรดวูดนั้นมีมายาวนานไม่ต่างจากเรื่องราวของอเมริกายุคใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีก่อนที่ชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างโทโลวา, ยูรอก และชีลูลา รวมทั้งชนเผ่าอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขหลังกำแพงเรดวูด สูงกว่าร้อยเมตรที่ยากจะเข้าถึง โดยยังชีพด้วยการจับปลาแซลมอน ล่ากวางเอลก์ เก็บผลโอ๊ก และต่อเรือแคนูจากท่อนซุงเรดวูดที่ล้มตามธรรมชาติ
แต่แล้ววิถีชีวิตเรียบง่ายเช่นนี้ก็ปิดฉากลงอย่างฉับพลันในปี 1848 เมื่อสหรัฐฯช่วงชิงแคลิฟอร์เนียมาจากเม็กซิโกและค้นพบทรัพยากรล้ำค่าอย่างทองคำ ขณะที่นักธุรกิจจากฝั่งตะวันออกมองเห็นช่องทางทำเงินที่ง่ายกว่า นั่นคือไม้เนื้อแดง ลายเนื้อไม้ตรงเรียบ และทนทาน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในรัฐที่จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นสี่เท่าในชั่วทศวรรษเดียว นี่คือจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมทำไม้ภาคเอกชนที่ยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ (จากพื้นที่ป่าเรดวูด 6,500 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 34 เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชน 3 แห่ง อีกร้อยละ 21 เป็นของรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐบาลกลาง ส่วนที่เหลือเป็นของรายย่อย)
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแซนแฟรนซิสโกเมื่อปี 1906 และอัคคีภัยที่เกิดตามมา ส่งผลให้การตัดไม้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุมชนทำไม้จำนวนมากผุดขึ้นตามแนวป่าเรดวูดเพื่อให้สามารถผลิตไม้ได้ทันตามความต้องการใช้เพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง บริษัทอย่างแปซิฟิกลัมเบอร์และยูเนียนลัมเบอร์กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพล เครื่องยนต์ขนาดเล็กที่เรียกกันว่า กว้านพลังไอน้ำ ถูกนำมาใช้ลากซุงแทนวัว ขณะที่หัวรถจักรรางแคบคอยลำเลียงซุงออกจากป่า
การโหมตัดไม้ครั้งสุดท้ายและดูเหมือนจะรุนแรงที่สุด เปิดฉากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการไหลทะลักของยุทโธปกรณ์ทางการทหารเหลือใช้และราคาถูกเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกซุง และคนตัดไม้พร้อมเลื่อยไฟฟ้า ตบแถวเข้าสู่ป่าเรดวูดที่ลาดชันและดินอ่อนยวบ พอถึงต้นทศวรรษ 1950 โรงเลื่อยน้อยใหญ่ได้แปรรูปไม้กระดานจากท่อนซุงคิดเป็นปริมาตรถึงสองล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี กำลังการผลิตนี้คงที่มาจนถึงกลางทศวรรษ 1970 ระบบการตัดหมด (clear-cutting system การตัดไม้ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในแปลง) และการชักลากซุงด้วยรถแทรกเตอร์เเคเทอร์พิลลาร์สีเหลืองสดที่กลายมาเป็นม้างานหลักของอุตสาหกรรมป่าไม้ ส่งผลให้หน้าดินปริมาณมหาศาลจากแนวถนนและทางชักลากไม้ถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้ประชากรแซลมอนที่กลับมาวางไข่ลดลง รวมทั้งสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่เคยอาศัยพักพิงในป่าเรดวูดมาหลายพันปี ทุกวันนี้ พื้นที่ป่าปลอดการรบกวน (virgin forest) ที่เคยมีอยู่ราว 8,000 ตารางกิโลเมตร ร่อยหรอลงจนเหลือไม่ถึงร้อยละห้า โดยส่วนมากอยู่ในเขตอุทยานและเขตสงวนตลอดแนวป่าเรดวูด
พอถึงทศวรรษ 1990 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ลดขนาดแปลงที่อนุญาตให้ทำไม้แบบตัดหมดจาก 324,000 ตารางเมตรหรือราว 200 ไร่ เหลือเพียง 80,000 ถึง 160,000 ตารางเมตร (ราว 50-100 ไร่) รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุหลักของการสูญเสียหน้าดินถูกเปลี่ยนเป็นรถตีนตะขาบขนาดเล็กและเบากว่า แทรกเตอร์ขนาดเบาเหล่านี้จะยกท่อนซุงขึ้นทั้งท่อนแทนการลากไปตามทางอย่างที่เคยทำกันมา ซึ่งทำให้เกิดแนวการไหลของหน้าดิน สำหรับต้นไม้ตามเชิงเขาลาดชัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะแนะนำให้ใช้เคเบิลกับรอกเป็นตัวช่วยยกซุงจากตอที่ตัดไปยังเชิงเขาอีกด้าน การเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือดังกล่าว รวมทั้งมาตรการลดการตัดถนนเพื่อชักลากไม้ และกันพื้นที่ให้เป็นแนวกันชนตลอดแนวแหล่งน้ำ (ซึ่งเป็นบริเวณที่อนุญาตให้ทำไม้แบบเลือกตัด) ช่วยลดปริมาณตะกอนที่ถูกชะล้างลงสู่แหล่งวางไข่ของแซลมอนอย่างเห็นได้ชัด
วิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือการปลูกป่าเชิงนิเวศ (ecological forestry) กล่าวคือการบริหารจัดการผืนป่า เพื่อสร้างถิ่นอาศัยให้สัตว์ป่าและแม่น้ำที่ใสสะอาด รวมทั้งสร้างงานและผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น ผืนป่าแวนเอกขนาด 8.9 ตารางกิโลเมตรใกล้เมืองอาร์คาทาซึ่งบริหารโดยบริษัทแปซิฟิกฟอเรสต์ทรัสต์ การปลูกป่าลักษณะนี้ยังมีวัตถุประสงค์เสริม อีกอย่างหนึ่งคือ สร้างรายได้จากการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ซึ่งสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซดังกล่าวได้ ด้วยเหตุที่ต้นเรดวูดโตเร็ว ทนต่อโรค แมลง และการผุพัง อีกทั้งยังมีอายุยืนยาว ป่าเรดวูดจึงเป็นป่าที่ดีที่สุดในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ในเนื้อไม้ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (voluntary carbon market) ในแคลิฟอร์เนียเปิดโอกาสให้เจ้าของผืนป่าขายคาร์บอนเครดิตที่กักเก็บไว้ในเนื้อไม้แต่ละปี ตราบเท่าที่ให้คำมั่นว่าจะรักษาป่าที่ปลูกไว้เป็นเวลาหนึ่งศตวรรษ
รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอาจช่วยให้เจ้าของพื้นที่ป่าเปลี่ยนวิธีทำไม้จากการตัดหมดเพื่อผลตอบแทนระยะสั้น มาเป็นการหมุนเวียนตัดในระยะยาว เพื่อเปิดโอกาสให้ไม้ที่โตกว่าและคุณภาพสูงกว่าได้กลับมาสร้างความสง่างามให้ภูมิทัศน์ อีกครั้ง
นับจากอดีต สูตรสำเร็จในการทำอุตสาหกรรมป่าไม้คือ ปลูกต้นไม้ให้โตเร็วที่สุด เพื่อผลตอบแทนการลงทุนสูงที่สุด และมีไม้ป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักธุรกิจทำไม้เหล่านี้ ช่วงเวลาที่ได้กำไรงามที่สุดในการโค่นเรดวูดคือ 40 ถึง 50 ปี แม้ว่าไม้อายุน้อยเหล่านี้จะมีเนื้อกระพี้อ่อน คุณภาพต่ำ และมีคุณสมบัติทนต่อการผุพังของเรดวูดเนื้อดีเพียงน้อยนิด แต่หลังจากเก็บตัวอย่างเนื้อไม้และวัดต้นไม้กว่า 20 ต้น ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 29 ถึง 113 เมตร จากชั้นเรือนยอดสู่โคนต้น ในอุทยานฮัมโบลต์เรดวูดส์ นักวิจัยพบว่าอัตราการสร้างเนื้อไม้ต่อปีของเรดวูดจะเพิ่มขึ้นตามอายุขัยอย่างน้อยเป็นเวลา 1,500 ปี ที่สำคัญกว่านั้นคือ ยิ่งต้นไม้แก่ขึ้นเท่าไร แก่นไม้ยิ่งมีคุณภาพสูงและทนต่อการผุพังมากขึ้นเท่านั้น สรุปก็คือ ยิ่งแก่ ต้นเรดวูดยิ่งให้เนื้อไม้มากกว่า และคุณภาพดีกว่า สมมติฐานนี้ใช้ได้กับต้นยูคาลิปตัสที่สูงที่สุดในออสเตรเลียเช่นกัน และน่าจะรวมถึงไม้ยืนต้นสายพันธุ์อื่นๆทั่วโลกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว การปลูกป่าเชิงนิเวศไม่เพียงให้เนื้อไม้คุณภาพดี การดูดซับคาร์บอน แหล่งน้ำสะอาด และถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังนำชื่อเสียงที่เคยขจรขจายของป่าเรดวูดกลับมาอีกครั้ง นั่นคือความงามสุดอัศจรรย์
ที่มา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก