พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานต์เออเบิร์น (Mount Auburn) ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลเคมบริดจ์ (Cambridge Hospital) ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลา ๐๘.๔๕ น. ของวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ตรงกับปีเถาะ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าถึง การตั้งพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์" ว่า "หลังจากที่พระโอรสประสูติได้ไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ทูลหม่อมฯ"
ทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า "ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย"
สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯ ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า "ภูมิพลอดุลเดช" (โปรดสังเกตว่า สะกดแบบไม่มี "ย")
หลังจากนั้นสมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงมีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ถึงหม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ อดีตอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งทรงย้่ายกลับมากรุงเทพฯ แล้ว เพื่อทรงแจ้งเรื่องพระนามที่พระราชทาน โดยทรงแนบลายพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปให้ด้วย และทรงขอให้ส่งโทรเลขตอบกลับไป
"โทรเลขภาษาอังกฤษที่หม่อมเจ้าดำรัศฯ ทรงส่งไปคือ "Your son's name is Bhumibala Aduladeja" แม่บอกว่า เมื่อได้รับโทรเลขฉบับนี้แล้ว ไม่ทราบว่า ลูกชื่ออะไรกันแน่ในภาษาไทย คิดว่าชื่อ "ภูมิบาล"
ด้วยเหตุนี้เองจึงทรงสะกดพระนามของพระโอรสในสูติบัตรว่า Bhumibal Aduldej Songkla หรืออ่านเป็นภาษาไทยตามที่ทรงเข้าใจในขณะนั้นได้ว่า "ภูมิบาลอดุลเดช สงขลา" ส่วนพระอิสริยยศเมื่อเสด็จพระราชสมภพ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
สำหรับคำว่า "อดุลเดช" นั้นเป็นการสะกดเหมือนกับพระนามของพระบิดาซึ่งสะกดแบบไม่มี "ย" มาแต่ต้น คือ มหิดลอดุลเดชฯ แต่ต่อมามีการเขียนแบบ "อดุลยเดช" ด้วย ในที่สุดจึงนิยมใช้แบบ "อดุลยเดช" ทั้งสองพระองค์
นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่า พระนามของสมเด็จพระเชษฐภคินี สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการตั้งให้มีความคล้องจองกัน คือ กัลยาณิวัฒนา อานันทมหิดล ภูมิพลอดุลเดช จะต่างกันตรงที่ ผู้พระราชทานพระนามสมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงความหมายของพระนาม "ภูมิพล" ไว้ว่า "อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน"
ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนนีเคยรับสั่งว่า "เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดินและอยากให้ทำงานให้ทำงานแก่ประชาชน"
ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ขอบคุณข้อเขียนดี ๆ จากนิตยสาร "สารคดี" ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๒๗๔ เดือนธันวาคม ๒๕๕๐ หน้า ๘๐