ขนมตดหมา คุณค่าผักพื้นบ้าน
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEkxTURRMU1RPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBd09DMHdOQzB5TlE9PQ== คอลัมน์ สดจากเยาวชน
www.payai.com อาภาภรณ์ ศิริพงษ์
ตดหมา" เมื่อได้ฟังคำนี้ หลายๆ คนคงนึกจินตนาการไปถึงกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ แต่จะเชื่อหรือไม่ว่ามีต้นไม้ชื่อ "ต้นตดหมา" อยู่จริงๆ
ไม้เลื้อยอย่าง ต้นตดหมา หรือที่บางภูมิภาคเรียกว่า "ต้นกระพังโหม" เป็นไม้เลื้อยขึ้นทั่วไปในป่า ป่าผสมผลัดใบและป่าเต็งรัง อาศัยต้นไม้ใหญ่ ลำต้นสีเขียวอ่อน มีขนาดเล็ก เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ทั้งลำต้นและใบมีกลิ่นเหม็นสมชื่อ เนื่องจากมีสาร Methyl Mercaptan คล้ายๆ กลิ่นเหม็นเขียว ถึงแม้จะมีชื่อไม่ไพเราะหูเท่าไรนัก แต่ต้นตดหมาก็มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรพื้นบ้านมากมาย ทั้งเป็นยา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลิ่นเหม็นเขียวช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ขับลมได้ดี ช่วยย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคดีซ่าน และโรคเบาหวานได้ ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกใกล้บ้านเพื่อเก็บรับประทาน
ต้นตดหมายังสามารถทำขนมแสนอร่อยได้อีกหลายอย่าง ภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยก่อนจะใช้น้ำคั้นจากเถาตดหมามาปรุงเป็นขนมขี้หนู ทำให้มีสีเขียว ส่วนยอดอ่อนและใบอ่อนกินเป็นผักสด จิ้มน้ำพริกก็ได้ หรือจะทำเป็นขนมหวานรสชาติกลมกล่อมที่มีชื่อเรียกว่า "ปังโฮม" ก็ได้เช่นกัน
คุณแม่สมพง บุญดก ชาวบ้านบ้านเมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ แม่ค้าขายขนม มีฝีไม้ลายมือเชี่ยวชาญการทำขนมปังโฮมเป็นอย่างดี "ปังโฮม เป็นภาษาเขมรที่แปลว่าขนมตดหมา บางคนที่เขาได้ยินชื่อก็ไม่กล้าซื้อกินแล้ว เพราะว่าเขากลัวมีกลิ่นเหม็น แต่บางคนหลังจากได้ลองชิมดูก็ติดใจซื้อ กินทุกวันเลยค่ะ" แม่อิมเล่า
ขนมตดหมา มีลักษณะ และรสชาติคล้ายกับ ขนมจาก ต่างกันตรงวัสดุที่นำมาห่อขนมเท่านั้น ขนมตดหมาจะใช้ใบตองห่อ แล้วนำไปปิ้งจนขนมสุก ส่วนผสมของขนมตดหมามีทั้ง เกลือ น้ำตาลปี๊บ แป้งข้าวเหนียว และที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้ำตดหมา นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมงเพื่อให้ขนมขึ้นแป้งและมีรสชาติดี
ส่วนที่ยากที่สุดของขั้นตอนการทำขนมคือน้ำตดหมา เริ่มจากการขุดรากตดหมาซึ่งอยู่ในดินที่แข็ง กว่าจะขุดได้ต้องใช้เวลานานพอสมควร รากบางต้นลึกลงไปเป็นศอก หลังจากนั้นต้องขูดเอาเศษดินที่ติดมากับเปลือกตดหมาออก หั่นเป็นแว่นบางๆ แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วจึงนำไปต้มจนได้น้ำสีน้ำตาล ถึงจะนำไปเป็นส่วนประกอบของขนมได้
น้องอิม ด.ญ.พนิดา บุญดก สาวน้อยบ้านเมืองหลวงที่ช่วยแม่ทำขนมขาย คอยเป็นลูกมือช่วยแม่ทำขนมขายทุกวันในช่วงปิดเทอม น้องอิมเล่าว่า "เราสามารถนำน้ำตดหมาไปทำเป็นขนมได้ 2 อย่าง ก็มีขนมตดหมาแล้วก็ข้าวเกรียบว่าว หรือข้าวเกรียบหูช้าง อร่อยทั้ง 2 อย่างเลย แล้วแต่คนชอบค่ะ"
"ในสมัยก่อนผู้หญิงภาคอีสานทุกคนต้องรู้จักต้นตดหมา ถ้าผู้หญิงคนไหนไม่รู้จักแสดงว่าไม่ใช่ผู้หญิงอีสานที่แท้จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสาวอีสานจะทัดใบตดหมา แต่เมื่อก่อนที่ยังไม่มีการผลิตน้ำตาลขึ้นมาใช้ งานทำขนมในงานบุญหรืองานมหรสพต่างๆ จะใช้รากตดหมาแช่น้ำ เพื่อให้ได้น้ำหวานออกมาใช้ทำขนม โดยเฉพาะข้าวเกรียบว่าว" แม่อิมกล่าว
ชาวบ้านนิยมทำขนมตดหมาในช่วงเดือน 3 หรือเดือน 4 เมื่อทำเสร็จแล้วจะนำไปแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านและคนในหมู่บ้านด้วยกัน เพราะเชื่อว่ากลิ่นของขนมตดหมาจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไปจากตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นยาอายุวัฒนะ เมื่อรับประทานแล้วทำให้อายุยืน บำรุงสมอง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตลอดทั้งปี
ถึงแม้ว่าขนมตดหมาจะเป็นชื่อที่ไม่น่าฟังมากนัก และกลิ่นก็ไม่หอมหวนชวนดม แต่ล้วนอุดมไปด้วยคุณค่าและประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว
ติดตามเรื่องราวขนมตดหมา คุณค่าผักพื้นบ้านในรายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน "ขนมตดหมา" วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551 เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3
หน้า 24