เห็นข่าวคมชัดลึก ว่าเป็นผลงานของหน่วยซีลทีมครับ
จาก Link คมชัดลึก
เปิด'เบื้องลึก'ยุทธการดับ16ศพ
การข่าวแม่นยำจัดทัพหลบหลัง 'เบื้องลึก'ยุทธการดับ16ศพ
ยุทธการสังหาร 16 ศพของทหารหน่วยกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 (ฉก.32) บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้รับเสียงชื่นชมไปทั้งประเทศที่สามารถวางยุทธวิธีได้อย่างรอบคอบรัดกุมจนสามารถสยบกลุ่มคอมมานโดของฝ่ายตรงข้ามที่เคยก่อเหตุลอบสังหารครู ตลอดจนประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐจนล้มตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
"วัน ว. เวลา น." ของยุทธการนี้มีขึ้นราวตีหนึ่งของคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยคนร้ายแบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ทีมแรก เป็นชุดปฏิบัติการบุกเข้าโจมตีฐานที่มั่น จำนวน 30 คน ทีมที่สอง เป็นชุดสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ จำนวน 20-30 คน ชุดที่สาม คือ ชุดโรยตะปูเรือใบ, ตัดต้นไม้, เผายางรถยนต์ เพื่อสกัดกั้นการติดตามของเจ้าหน้าที่ จำนวน 10-20 คน
ทั้งนี้ แผนบุกเข้าโจมตี ฉก.นราธิวาส 32 มีการประชุมล่วงหน้ามานานนับเดือน ทั้งยังศึกษาทางหนีทีไล่ไว้เป็นอย่างดี โดยใช้เส้นทาง "เทือกเขาบูโด" ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 10 กิโลเมตร และมีการเตรียมของไว้ในเป้ เช่น มาม่า, กาแฟ, ไฟฉาย, มีดพก, เสื้อผ้า ฯลฯ ไว้มากถึง 3-5 วัน...มากพอที่จะดำรงชีพในป่า หรือหลบหนีข้ามชายแดนไปได้
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่สืบทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้มานาน และแม้แต่เหตุ "คาร์บอมบ์" ที่ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 นายที่ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ก็ทราบข่าวมาก่อน แต่ได้ข่าวมาว่า กลุ่มโจรจะมาก่อเหตุในเขตเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่ทุ่มกำลังไปป้องกันเขตเมืองจนเกิดช่องโหว่ให้กลุ่มโจรฉวยโอกาสลงมือกับทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่รอบนอกแทน
นอกจากนี้ ยังปรากฏ "ใบเสร็จ" ชิ้นสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจยิ่งขึ้นว่า เป้าหมายการลงมืออยู่ที่ ฉก.นราธิวาส 32 ก็คือ เหตุวิสามัญฆาตกรรม นายสุไฮดี ตะเห อายุ 31 ปี ชาว อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส หัวหน้าชุดปฏิบัติการก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.บาเจาะ ซึ่งมีหมายจับยาวเป็นหางว่าว หนึ่งในนั้น คือ คดีสังหาร นายชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านตันหยง อ.บาเจาะ เสียชีวิต
ผลจากการวิสามัญฯ ทำให้เจ้าหน้าที่พบ "แผนผัง" ฐาน ฉก.นราธิวาส 32 อยู่ในร่างผู้ตาย พร้อมสัญลักษณ์การมาร์คจุดโจมตีอย่างละเอียด เจ้าหน้าที่จึงปรับแผนตอบโต้ด้วยการ "ซ้อนแผน" โดยลวงให้เข้าใจว่า มีการสับเปลี่ยนกำลังพลชุดใหม่ที่ไม่ชำนาญพื้นที่เข้าไปแทน
แต่ชุดที่สับเปลี่ยนเข้าไปแทน คือ "หน่วยรบพิเศษ" หรือหน่วยซีล (SEAL) กองทัพเรือ พร้อมอาวุธครบมือ โดยเฉพาะปืนเล็กยาว คล้ายที่พลซุ่มยิง หรือ "สไนเปอร์" ใช้ และกล้องตรวจการณ์เวลากลางคืน หรือ "ไนท์วิชั่น" ซึ่งช่วยให้การตรวจจับเป้าหมายทำได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ รอบฐานยังมีการวางกลไกยุทธวิธีในการรบไว้ประมาณ 40-50 จุด เพื่อป้องกันเหตุ และการส่งสัญญาณการเตือนภัยก่อนถึงตัว
สำหรับฉากการปะทะนั้นเกิดขึ้น 2 ระลอกนานเกือบ 1 ชั่วโมง ระลอกแรก ปะทะกันประมาณ 15 นาที แต่คนร้ายได้หยุดยิง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตายใจว่า หลบหนีไปหมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีใครออกจากจุดที่ตั้ง ทำให้คนร้ายบุกยิงอีกครั้งใน ระลอกที่ 2 ซึ่งใช้เวลานานกว่าครั้งแรกเล็กน้อย
เมื่อเสียงปืนสงบลง เจ้าหน้าที่จึงเข้าเคลียร์พื้นที่ พบศพคนร้ายส่วนใหญ่สวมชุดเกราะป้องกันไว้ที่ลำตัว ขณะที่ผู้บาดเจ็บที่หลบหนีไปได้ส่วนใหญ่ถูกยิงเข้าส่วนอื่นของร่างกาย โดยคนร้าย 14 คนถูกยิงเสียชีวิตขณะบุกเข้ามาในค่าย ส่วนอีก 2 คนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามออกมาปฏิบัติการนอกค่าย
แหล่งความมั่นคงในพื้นที่อีกรายเผยว่า หน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ตลอด หลังจากที่พบเบาะแสความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม จึงได้วางแผนตลบหลัง หรือแผน "ปิดประตูตีแมว" ของทหารนาวิกโยธิน (นย.) ภาคใต้ทำให้กลุ่มโจรไม่สามารถตั้งตัว และตอบโต้เจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าแผนของ นย. ปรับยุทธวิธีได้เข้ากับสถานการณ์มาก
"กองทัพภาคที่ 4 มีการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ตลอด ทำให้ฝ่ายตรงข้ามย่ามใจ แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รู้ทันจึงได้จัดเตรียมหน่วยแม่นปืน เพื่อเตรียมพร้อมไว้รับมือโดยเฉพาะ"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ต้องเตรียมพร้อม เพื่อรับมือการ "แก้แค้น" เพราะยุทธการครั้งนี้ทำให้เขาของสูญเสียกำลังพลฝีมือดีไปหลายคน
โดยเฉพาะ นายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำคนสำคัญใน จ.นราธิวาส ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้สงบสุข และกลายเป็น "พื้นที่สีเขียว" ไปในทันที แต่ฝ่ายตรงข้ามคงจะหยุดก่อเหตุไประยะหนึ่ง เพราะการสูญเสียในครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่สุด หากนับเฉพาะเหตุปะทะกันซึ่งหน้าระหว่างกองกำลังต่อกองกำลัง
ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่วิเคราะห์ว่า เป้าหมายในการโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารเป็นปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และหากทำสำเร็จก็เท่ากับว่า ประชาชนในพื้นที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จ เพราะฝ่ายตรงข้ามต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ค่ายทหารก็ไม่อาจคุ้มครองความปลอดภัยของตัวเองไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือที่ดีในการแจ้งข่าวจากประชาชนจนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ตกเป็นรองมาเป็นการตั้งรับ และตอบโต้กลับได้สำเร็จ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานของหน่วยนาวิกโยธินในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงมวลชนได้จนนำมาสู่การแจ้งเบาะแส และตอบโต้กลุ่มคนร้ายได้อย่างทันท่วงที