รสนา โตสิตระกูล
18 กุมภาพันธ์
หลังจากเขียนข้อเสนอแนะกรณีที่ รมต.พลังงานเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงานในช่วงเดือนเมษายนนี้แล้ว ดิฉันลองไปหาข่าวย้อนหลัง ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ
เมื่อปี 2555 ก็มีข่าวในทำนองเดียวกัน ดังพาดหัวข่าวของ นสพ.แนวหน้า 27 มีนาคม 2555ว่า "พลังงาน สั่งรับมือ "พม่า" หยุดส่งก๊าซ เล็งดึงก๊าซอ่าวไทย-เจดีเอมาเสริม พร้อมรณรงค์ปิดไฟช่วงบ่าย 10 เม.ย "
สำนักข่าวไทย 22 มีนาคม 2555 รายงานว่า " สำรองไฟฟ้าลดเหลือร้อยละ 5 ช่วงก๊าซพม่าหยุดส่ง 8-17เม.ย "
มาถึงปีนี้ก็มาในแนวเดิม และหนักกว่าเดิมคือนอกจาก พม่าจะหยุดจ่ายก๊าซเพื่อซ่อมแท่นขุดเจาะ ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ก็ยังมาเสียหายจากอุบัติเหตุการทิ้งสมอเรือ ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบรวมแล้ว 1,370ล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ลุยสำรองน้ำมันเตา-ดีเซล10ล้านลิตร
ดิฉันคิดว่าเชื้อเพลิงอีกชนิดที่ยังกั๊กอยู่ ไม่ประกาศออกมา ก็คือ LNG เพราะมีการตกลงซื้อLNG จากการ์ต้า ถ้าดีมานด์น้อย คนสั่งซื้อจะเข้าเนื้อหรือเปล่า? เลยต้อง สร้าง "story" วิกฤติการณ์ก๊าซขาดแคลน จะได้มีเหตุผลในการใช้เชื้อเพลิงราคาแพง นี่เป็นวิธีล้วงกระเป๋าประชาชนแบบเนียนๆอีกแล้ว
ประเด็น "พม่า" หยุดส่งก๊าซบ่อยอาจทำให้คนไทยคิดไปได้ว่า รัฐบาลทหารพม่ามีปัญหา ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการพึ่งพาก๊าซพม่า
แต่เมื่อไปดูผู้ถือหุ้นในสัมปทานขุดเจาะก๊าซพม่า พบว่า
แหล่งเยตากุน ผู้ถือหุ้นในสัมปทานขุดเจาะประกอบด้วย
1) Petronas Carigari Myanmar ( Hong Kong) 40.91%
2) เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซเอ็นเตอร์ไพรส์ 20.45%
3) ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ( ปตท.สผ.อ.) 19.32%
ส่วนแหล่งยาดานา ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย
1) โททาล อี แอนด์ พี เมียนมาร์ 31.24%
2) ยูโนแคลเมียนมาร์ ออฟชอร์ (UMOL) 28.26%
3) ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 25.5%
4) เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ เอนเตอร์ไพร์ซ ( MOGE) 15%
สรุปคือ เมื่อพูดถึง "พม่า" ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลทหารพม่า หรือประเทศพม่า แต่เป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มี "ปตท." ถือหุ้นอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นการกำหนดเวลาหยุดส่งก๊าซเพราะซ่อมแท่นขุดเจาะ จึงสามารถวางแผนได้ เพราะ ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ได้สัมปทานขุดเจาะในพม่า และยังเป็นผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซให้กฟผ.ในการผลิตไฟฟ้าเพียงผู้เดียว
นอกเหนือจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งระบบที่ใช้ในประเทศอีกด้วย
ดังนั้นหากปริมาณก๊าซขาดหายไปจากระบบจนเกิดวิกฤติกับไฟฟ้า ปตท.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทนโดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่ให้กฟผ.หรือประชาชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ปตท.จะใช้LNG มาแทนก๊าซธรรมชาติก็ได้ แต่จะให้กฟผ.และประชาชนจ่ายเพิ่มไม่ได้ ถ้ารมต.พลังงานบังคับปตท.เช่นนี้ได้ พม่าจะปิดซ่อมแท่นขุดเจาะเมื่อไหร่ เป็นเรื่องที่ปตท.ต้องไปแก้ปัญหาเอง
การออกมาให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีน่าจะมีนัยแฝงอีกประการหนึ่งก็คือ ควรยินยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินเพิ่มขึ้นแต่โดยดี แม้ว่ายังกระมิดกระเมี้ยนเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ เพราะเหตุการณ์ฟูกูชิม่าที่ญี่ปุ่นยังหลอนคนไทยจนต้องพับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปก่อน ดูได้จากคำให้สัมภาษณ์ของรมต.พลังงาน
"เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องพึงสังวรณ์ เพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมาก และกำลังจะหมดไป ขณะเดียวกันก็มีคนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สัมปทานก๊าซก็ไม่ให้ต่อ จึงถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ในเร็วๆนี้ยังไม่มีโครงการ และโอกาสได้ใช้ เพราะการศึกษาของไทยในเรื่องนิวเคลียร์ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น"
ประเด็นที่รัฐมนตรีพูดว่า มีการต่อต้านไม่ให้ต่อสัมปทานนั้น ความจริงประเด็นที่คนต่อต้านคือ ผลตอบแทนจากสัมปทานปิโตรเลียมของไทยต่ำเกินไป และก.พลังงานไม่ยอมแก้ไขก.ม ในการปรับปรุงส่วนแบ่งให้เป็นธรรมมากกว่า และประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรต้องซื้อก๊าซและน้ำมันในราคาตลาดโลก ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร แต่ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศมากกว่า ถ้ามีการขุดปิโตรเลียมในประเทศโดยได้ผลตอบแทนต่ำ ส่วนประชาชนใช้ในราคาตลาดโลก ก็สู้ให้นำเข้าจริงเสียทั้งหมด และเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
หากสิ่งที่รัฐมนตรีได้กล่าวว่า "ถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน" เป็นคำกล่าวด้วยความจริงใจ ก็ควรเปิดให้มีการรับฟังข้อเสนอจากประชาชนว่าด้วยการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างจริงจัง
นอกจากนี้เรื่องนิวเคลียร์ที่รัฐมนตรีกล่าวว่ายังมีการศึกษาที่ไม่เพียงพอนั้น หมายถึงยังมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาอยู่ใช่หรือไม่?
ดิฉันขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณให้ศึกษาการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทั้งด้านเทคโนโลยี่ การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนการแก้ไข ก.ม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติให้เป็นไปได้จริง
อย่างน้อยงบประมาณที่จัดสรรให้ไม่ควรน้อยกว่าที่จัดสรรให้กับการศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หากทำได้เช่นนี้ จึงจะถือได้ว่าท่านรัฐมนตรีมีความจริงใจที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตด้านพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีแค่คำพูดให้ดูสวยหรู แต่ว่างเปล่าหาสาระไม่