เปิดจดหมาย แม้ว ถึง บุช อ้างถูกกลุ่มนอก รธน.คุกคาม
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2549 10:14 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
จดหมายที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเขียนถึงจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
จอร์จ บุช เขียนจดหมายตอบกลับมา
เปิดรายละเอียดจดหมายอื้อฉาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เขียนถึง นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อ้างว่ามีภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยของประเทศไทย จากกลุ่มผลประโยชน์ชุมนุมเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง และจดหมายตอบกลับจากผู้นำสหรัฐฯ
สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล
กรุงเทพมหานคร
23 มิถุนายน 2549 (2006)
เรียน ท่านประธานาธิบดี
ข้าพเจ้าเขียนจดหมายมายังท่านบนพื้นฐานของความนับถือเป็นการส่วนตัวที่มีต่อท่านประธานาธิบดีและต่อภาวะผู้นำของท่าน เพื่อใช้โอกาสนี้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้าได้กลับมารับผิดชอบเมื่อเร็วๆ นี้ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป้าหมายของข้าพเจ้าก็คือเพื่อเตรียมการตามแนวทางประชาธิปไตยให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะมีขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปีนี้
นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาได้เกิดมีภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย สถาบันหลักของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง และธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยข้อจำกัดของรัฐบาล ได้ถูกทำลายลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องพึ่งพาการสร้างความโกลาหลและการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่กลุ่มเหล่านี้ไม่อาจได้รับด้วยการได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เนื่องเพราะล้มเหลวในอันที่จะกระพือให้เกิดความรุนแรงและความปั่นป่วนขึ้นมาได้ ฝ่ายตรงกันข้ามของข้าพเจ้าในเวลานี้ก็กำลังพยายามหันมาใช้ยุทธวิธีนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญหลายรูปแบบเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หากสถาบันประชาธิปไตยของเรามีความเข้มแข็งจริงในช่วงอีกหลายเดือนต่อไปนี้แล้ว ความพยายามดังกล่าวเหล่านี้ก็คงล้มเหลวไปด้วยเช่นเดียวกัน
ในวันที่ 2 เมษายน ไทยรักไทย พรรคการเมืองของข้าพเจ้า ได้ชัยชนะได้รับเสียงข้างมากอย่างน่าพอใจในการเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศ ข้าพเจ้ามีความมั่นใจในการสนับสนุนจากความนิยมชมชอบอย่างแรงกล้า เนื่องจากได้ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลไทยมาเป็นเวลากว่า 5 ปี และได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ และผู้มีสิทธิออกเสียงก็ตอกย้ำทรรศนะดังกล่าวนั้นของข้าพเจ้า ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของข้าพเจ้าบอยคอตการเลือกตั้งในเดือนเมษายนเพราะพวกเขารู้ดีว่าจะได้รับความพ่ายแพ้อีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในไทยอยู่ในสภาพชะงักงัน ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้สภาวะชะงักงันทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวโรกาสอันเป็นประวัติศาสตร์อันเนื่องจากวาระเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังใกล้จะมาถึงได้ เพื่อให้เกิดความสงบขึ้นอีกครั้งและเปิดโอกาสให้การเตรียมงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ ข้าพเจ้าจึงถอยออกมาโดยการลาพักจากการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ารักษาการบริหารแทน
ในการรักษาสถานภาพความเป็นอิสระของตน ศาลไทยได้ประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนเป็นโมฆะด้วยข้อพิจารณาเชิงเทคนิค และมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นอีกครั้ง ที่อาจจะเป็นในราวกลางเดือนตุลาคมนี้ นักสังเกตการณ์ที่เป็นกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าพรรคการเมืองของข้าพเจ้าจะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอีกครั้งหนึ่งให้จัดตั้งรัฐบาล ในระหว่างช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้ประเทศของข้าพเจ้าถดถอยต่อไปโดยไร้ผู้นำ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของเราจำเป็นต้องดำเนินไป เศรษฐกิจของเราจำต้องได้รับการบริหารจัดการ และภารกิจพื้นฐานของรัฐบาลต้องดำเนินต่อไป ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตามคำเรียกร้องของคนไทยหลายคน ทั้งในพรรคของข้าพเจ้าเองและในหมู่พรรคการเมืองฝ่ายค้านด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อเข้ารับหน้าที่อีกครั้งหนึ่งในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ความมั่นใจต่อท่านว่า ข้าพเจ้าจะดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศนี้มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นเสรีและยุติธรรม และจะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการถกเถียงโต้แย้งกันในระดับชาติจากการถกเถียงกันด้วยข้อกล่าวหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์เป็นการถกเถียงหารือกันด้วยเหตุผลว่าด้วยปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญคือเรื่องอนาคตของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า การเมืองการปกครองของประเทศนี้ควรจะถูกตัดสินชี้ขาดกันด้วยการลงคะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้งหรือด้วยการประท้วงตามท้องถนน คำตอบของคำถามดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเส้นทางประชาธิปไตยในเอเชียในอนาคต ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านประธานาธิบดีคงเห็นพ้องกับข้าพเจ้าที่ว่าการปกครองโดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งในไทยและในเอเชียโดยรวมจำต้องได้รับชัยชนะเหนือการกระทำของม็อบและการปลุกระดมทั้งหลาย
ในท้ายที่สุดนี้ ท่านประธานาธิบดีโปรดได้รับความมั่นใจไม่มีที่สิ้นสุดของข้าพเจ้าไว้เถิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาบนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันและผลประโยชน์สำคัญระดับชาติร่วมกัน จะเติบใหญ่ต่อไปในอนาคต
ขอแสดงความนับถือ
(พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย
จดหมายตอบกลับจากประธานาธิบดีสหรัฐ
ทำเนียบขาว
วอชิงตัน
3 กรกฎาคม 2006
ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
กรุงเทพฯ
ท่านนายกรัฐมนตรี
ขอขอบคุณสำหรับจดหมายของท่าน และความคาดหวังในทางที่ดีเกี่ยวกับเส้นทางในอนาคตของประเทศไทย สหรัฐอเมริกาได้จับตามองเหตุการณ์ในประเทศของท่านด้วยความกังวลอยู่บางส่วน และในฐานะพันธมิตรและมิตรประเทศ ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังอย่างจริงใจว่าทุกฝ่ายจะสามารถพบหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าอันเป็นหนทางที่จะเคารพต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตยไทยในอดีตที่ผ่านมา และได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มขึ้นมาปกครองประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ความเป็นมิตรระหว่างประเทศทั้งสองของเรายังคงเข้มแข็ง และข้าพเจ้าขอชื่นชมคำรับประกันของท่านต่อความร่วมมืออันดีระหว่างเราในประเด็นที่มีความสำคัญๆ อย่างยิ่งต่อเราทั้งสองจะยังคงดำเนินต่อไป ในระบบการเมืองที่เปิดกว้างและมีเสรีภาพเราไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้ แต่ประชาชนชาวไทยมีความสามารถในการปรับตัวที่ดีและประชาธิปไตยในไทยก็เข้มแข็งและข้าพเจ้ารู้ว่าประเทศของท่านจะผ่านพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ไปได้โดยที่มีความมุ่งมั่นใหม่อีกครั้งในอันที่จะทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่ต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
(ประธานาธิบดีสหรัฐฯ)