เว็บบอร์ดสนทนาภาษาปืน
ตุลาคม 25, 2024, 05:23:34 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: อวป. มีจำหน่ายที่ สนามยิงปืนราชนาวี/สนามยิงปืนบางบัวทอง/สนามยิงปืนศรภ./
/สนามยิงปืนทอ./
สิงห์ทองไฟร์อาร์ม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 2 3 4 [5] 6 7 8 9
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทฤษฏีสมคบคิด (conspiracy theory)  (อ่าน 63914 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 14 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #60 เมื่อ: กันยายน 01, 2006, 01:27:19 PM »

ผมว่า การเมืองระหว่างประเทศ

1. ไม่มีความเป็นกลาง ที่แท้จริง
2. ไม่มีความยุติธรรม ที่แท้จริง
3. ไม่มีบัญชีสมดุล ที่แท้จริง

ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

1. ไม่มีใครอยากเป็นกลาง จริงๆ
2. ไม่มีใครอยากยุติธรรมกับทุกฝ่าย จริงๆ
3. ไม่มีใครอยากจ่ายบัญชีสมดุล จริงๆ

ดังนั้น ความเป็นกลาง ความยุติธรรม บัญชีสมดุล ใช้คุยกันมันๆ ในฐานะบุคคลที่สาม แต่ในฐานะผู้เกี่ยวข้องความเห็นอาจต่างออกไป

เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ท่านอยากให้ประเทศไทยยึดมั่นตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามเพราะเหตุผลบางอย่าง หรือพยายามเลือกใช้เหตุผลอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงสถานภาพผู้แพ้ เ่ช่น ข้อกฎหมายตามที่ มรว0 เสนีย์ ปราโมช ท่านใช้ และการพิพากษาจอมพล ป.

คำอังกฤษว่า My country, right or wrong ! - "จะผิดจะถูกก็ชาติของข้า"



ปัจจุบันเมืองไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชาติมหาอำนาจ
หรือกลุ่มศาสนาต่างๆ
ผู้นำของไทยควรจะคิดหาทางควบคุมความสมดุลของการเมืองระหว่างประเทศ
ถ้าผู้นำเอียงเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใดมากเกินไปก็จะทำเกิดการชักศึกเข้าบ้าน
และควรยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักไม่ใช่ของตนเองหรือองค์กรของตนเองเท่านั้น
ทำให้ไทยยืนอยู่ได้ในสังคมโลกโดยไม่ล่มสลายไปก่อนจากความขัดแย้งทั้งหลาย
ที่จะถูกดึงเข้ามาทำให้ไทยกลายเป็นสนามรบจริงๆ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 01, 2006, 01:29:40 PM โดย narongt » บันทึกการเข้า
Don Quixote
Only God delivers the judgement, we only deliver the suspects.
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 987
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 16169


,=,"--- X Santiago... !!


เว็บไซต์
« ตอบ #61 เมื่อ: กันยายน 01, 2006, 02:20:26 PM »

ฮ่า ฮ่า ตัวอย่างชัดๆ ผมว่า จม. ถึงท่านบู๊ดที่เคารพเป็นตัวอย่างของการทำลาย ผลประโยชน์/เกียรติภูมิ/ความน่าเชื่อถือ ของประเทศอย่างรุนแรง
บันทึกการเข้า

Thou shalt have guns.
Thou shalt have tons of ammo.
Thou shalt shoot well.
Thou shalt not rely on help from the stranger.
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #62 เมื่อ: กันยายน 01, 2006, 05:12:19 PM »

โรมันยุคใหม่ จักรวรรดิที่ไร้ผู้ต่อต้าน...Huh

เหตุการณ์ 11 กันยายน ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นฉากทำสงครามกับอัฟกานิสถานเป็นอันดับแรกจากเดิม
ที่กำลังทหารของอเมริกาแค่ 500 คนในประเทศเอเชียกลางอย่างคาซัคสถาน ก็ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ
ด้านอเมริกาในจีนแสดงความกระวนกระวายใจถึงการปิดล้อมจีน และการสร้างลัทธิครองความเป็นเจ้า
ขึ้นมาในโลก

แต่ภายหลังจากที่กองทัพอเมริกาเอาชนะอัฟกานิสถานได้ไม่ยาก สูญเสียกำลังทหารไปไม่ถึงหลักร้อย
กำลังทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกก็ถูกจัดวางเอาไว้ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชียกลางคือ
ในอัฟกานิสถานเป็นจำนวนถึง 55,000 คน

นอกจากนั้น พื้นที่โดยรอบไม่ว่าจะเป็นเติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, คาซัคสถาน
ตลอดจน จอร์เจีย ที่อยู่ติดกับรัสเซีย ต่างเต็มไปด้วย "ที่ปรึกษาทางทหาร" ของอเมริกันที่เข้าไป
เพ่นพ่านอยู่ในทุกประเทศ พร้อมกับการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารไว้อย่างเต็มที่

บริษัทน้ำมันและก๊าซ "ยูโนแคล" ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการลงนามกับรัฐบาลเติร์กเมนิสถาน
รัฐบาลอัฟกานิสถาน ที่สหรัฐฯ สถาปนาขึ้นมาเอง และรัฐบาลปากีสถานในการวางท่อก๊าซมูลค่า
2,500 ล้านดอลลาร์ ลำเลียงก๊าซจากเติร์กเมนิสถานผ่านอัฟกานิสถานมาออกทะเลที่ทะเลอาหรับ

และอีกไม่นานนัก บริษัทยูโนแคล บริษัทโทเทิลฟินาเอลฟ์ บริษัทบีพี สเตทออยลส์ ฯลฯ
ก็ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลประเทศอาเซอร์ไบจาน จอรเจีย ตุรกี
สนับสนุนโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันจากคาซัคสถาน อาร์เซอร์ไบจาน ในทะเลสาบแคสเปียน
ผ่านจอร์เจีย ไปออกตุรกีในชื่อว่า "โครงการบากู-ทะบิลิซี-เซย์ฮัน" เป็นโครงการลงทุนมูลค่า
2,950 ล้านดอลลาร์ ขจัดการผูกขาดการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อของรัสเซียที่เคยยึดกุมการขนส่ง
2 ใน 3 ของพื้นที่ในย่านนี้

เหตุการณ์ 11 กันยายน ได้ถูกนำมาอ้างในการขนส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปในฟิลิปปินส์
จุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลจีนใต้ เพิ่มจำนวนจากหลักสิบเป็นร้อยและเป็นพัน จนทำให้ชาวฟิลิปปินส์
เกิดความขัดแย้งภายในประเทศถึงระดับรองประธานาธิบดีต้องลาออกด้วยความไม่แน่ใจว่าจะมีการ
"รื้อฟิ้นฐานทัพอเมริกัน" ในฟิลิปปินส์ขึ้นมาใหม่หรือเปล่า?

ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่า
"เกาหลีเหนือ" เป็นหนึ่งใน "แกนอักษะแห่งปีศาจ" ไม่ว่าจะโดยเหตุผลกลใดที่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
กล่าวหาเกาหลีเหนือเช่นนั้น แต่ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีนั้นมีผลไม่น้อยที่ทำให้บทบาททางทหาร
ของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลีสามารถอ้างถึงความจำเป็นในการคงอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน หรือแม้กระทั่ง
สามารถรองรับแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ในการขยายฐานทัพเพิ่มขึ้นในอาณาบริเวณ โอกินาวา เช่นกัน

เยเมน โซมาเลีย ซูดาน ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างชัดเจนว่าเป็น "แหล่งพักพิงของผู้ก่อการร้าย" ที่ทำการก่อวินาศกรรม
ในสหรัฐฯ นั้น เป็นประเทศที่อยู่ในอาณาบริเวณ "ทะเลแดง" ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของโลก
บริเวณคลองสุเอซ บทบาททางทหารของอเมริกันในย่านนี้ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นเพื่อไล่ล่าผู้ก่อการร้ายหรือเพื่ออะไรก็ตาม
มันได้ทำให้ยุทธศาสตร์การเมือง-การทหารของอเมริกาเข้มแข็งยิ่งขึ้น

สำหรับอินเดีย นอกจากจะได้รับการ "ยกเลิกการบอยคอต" หลังเหตุการณ์ 11 กันยายนผ่านไปแล้ว
สหรัฐฯ ได้รื้อฟื้นการ "ซ้อมรบร่วมครั้งใหม่" หลังจากที่ได้เลิกราไปนานถึง 40 ปี

และด้วยการอาศัย "เหตุการณ์ 11 กันยายน" เป็นข้ออ้าง รัฐบาลอเมริกันได้ประกาศฉีกสนธิสัญญาต่อต้าน
ขีปนาวุธเอบีเอ็ม ระหว่างสหรัฐฯ กับ รัสเซีย ปี ค.ศ. 1972 พร้อมกับยังคงพัฒนา "โครงการป้องกันขีปนาวุธ
ทางอวกาศ" ต่อไป จนกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถป้องกันตัวเองจากการถูกโจมตีด้วย
อาวุธนิวเคลียร์หรือเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกในยุคสงครามเย็นให้สหรัฐฯ กลายเป็น "มหาอำนาจขั้วเดียว"
ในโลกนี้ ไปแล้ว

รัฐบาลอเมริกันยังใช้เหตุการณ์ 11 กันยายน เป็นข้ออ้างในการประกาศนโยบายชนิดใหม่ที่อยู่เหนือ
ประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยยอมรับกันมานานไม่ต่ำกว่า 400 ปี นั่นก็คือ
สหรัฐฯ จะ "ชิงลงมือก่อน" (พรีเอ็มทีฟ สไตรค์) ต่อประเทศใดก็ได้ที่สหรัฐฯ ตั้งข้อสงสัยว่าจะคุกคาม
ประเทศสหรัฐฯหรือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ


หลังสงคราม "อ่าวเปอร์เซีย" ในปี ค.ศ. 1990 พื้นที่ของหลายประเทศในตะวันออกกลาง ได้กลายเป็น
ฐานอำนวยความสะดวกทางทหารให้กับกองทัพอเมริกัน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้กำลังทหารอเมริกัน
ก็ยังคงถูกวางเอาไว้ในประเทศแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ซาอุดิอาระเบีย จำนวนนับแสนคน

หลัง "สงครามคาบสมุทรบัลข่าน" ในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 กำลังทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต
ขยายตัวกลืนกินแนวป้องกันเดิมของฝ่ายตรงข้ามในยุคสงครามเย็นทั่วทั้งยุโรปตะวันออก จนไปจ่อติดกับ
พื้นที่ประเทศรัสเซีย

และในระหว่างเริ่มต้นการประกาศสงครามกับการก่อการร้าย "เขตเอเชีย-แปซิฟิก" ที่ถูกจัดวางเอาไว้เป็น
"จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด" ของสหรัฐฯ ก็มีกำลังทหารสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 300,000 นาย กระจายอยู่
ในฐานทัพในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อลาสก้า ฮาวาย สร้างอำนาจทางทหารครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า
105 ล้านตารางไมล์ คาบเกี่ยวพื้นที่ถึง 43 ประเทศ

แหล่งน้ำมันแทบทุกพื้นที่ในโลกเต็มไปด้วยกำลังทหารอเมริกัน และฐานอำนวยความสะดวกทางทหาร
แผ่อิทธิพลครอบคลุมได้ทุกแหล่ง

เส้นทางคมนาคมหลักของโลก ตั้งแต่อ่าวเม็กซิโก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง ไปยันช่องแคบมะละกา
ต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯ แทบทั้งสิ้น

แม้กระทั่งใน "พื้นที่อวกาศ" ที่อยู่สูงขึ้นไปถึง 50,000 ไมล์จากโลกนี้ และไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของ
มันก็ได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็น "มิติที่ 4" ในการทำสงครามของกองทัพสหรัฐฯ ไปแล้ว โดยไม่ใช่เป็นแค่
"พื้นที่ป้องกันตัวเอง" ในอวกาศเท่านั้น แต่ยังเป็นอาณาเขตที่สามารถใช้ควบคุมประเทศต่างๆ ในโลกหรือ
ปฏิเสธการใช้ประโยชน์จากอวกาศของประเทศต่างๆ ได้อีกด้วย

ในยุคที่ "จักรวรรดิโรมัน" เรื่องอำนาจ กวีชาวโรมผู้หนึ่งคือ "เวอร์จิล" ได้เคยแต่งบทกวีสรรเสริญความยิ่งใหญ่
และแนวทางของจักรวรรดิโรมันเมื่อครั้งอดีตเอาไว้ใน "โคลงเอเนียส" ท่อนหนึ่งมีใจความว่า

"โรม...เจ้าคือสิ่งเดียวเท่านั้น
ด้วยอำนาจอันน่าเกรงขามของเจ้า...
ที่จะปกครองมนุษยชาติและทำให้โลกอยู่ภายใต้อำนาจ
กำหนดสันติภาพและสงครามด้วยวิธีการอันยิ่งใหญ่ของเจ้า
ปราบพยศผู้เย่อหยิ่งและถอดถอนพันธนาการออกจากทาส...
ทั้งหมดนี้คือ ศิลปะแห่งจักรวรรดิ และเจ้าเท่านั้น...ที่ทรงคุณค่าจะทำได้..."


แต่ใน "จักรวรรดิโรมันยุคใหม่" ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งคงแทบไม่มีหัวทางกวีหรือศิลปะใดๆ
แม้แต่น้อย หรืออาจจะเป็นเพราะความเชื่อมั่นในความยิ่งใหญ่ที่เหนือยิ่งกว่าโรมในยุคอดีตก็แล้วแต่
เขาไม่ได้พยายามปรุงแต่งถ้อยคำให้สละสลวยและเยิ่นเย้ออย่างที่เวอร์จิลเคยกระทำมา

ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ใช้คำพูดง่ายๆ สั้นๆ และหยาบๆ
ด้วยการประกาศว่า

"ใครก็ตาม...ที่ไม่ได้ยืนอยู่ข้างสหรัฐฯ...ผู้นั้นคือ ผู้ก่อการร้ายและปีศาจ...
ซึ่งจะต้องถูกโดดเดี่ยวหรือไม่ก็ต้องถูกขจัดออกไป..."


(ความเห็นส่วนตัวว่า นโยบายแบบนี้รู้สึกคุ้นๆ บ้างไหมว่าเหมือนใครบางคนที่เป็นลิ่วล้อให้สหรัฐฯ
ด้วยการประกาศว่า ใครที่เลือกก็จะช่วยก่อน ใครไม่ได้เลือกก็จะช่วยทีหลัง)
บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #63 เมื่อ: กันยายน 02, 2006, 09:59:38 PM »

พ่อค้าและสงคราม

ในภาพยนตร์อเมริกันเรื่องหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วชื่อเรื่องว่า "ผู้พิพากษา รอยส์ บีน"
พยายามเล่าตำนานวิถีทางของความเป็นอเมริกันที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก "คาวบอย" ผู้ห้าวหาญ
ปรากฏตัวขึ้นในดินแดนป่าเถื่อนในแถบชายแดนติดต่อกับประเทศเม็กซิโก อาศัยความกล้าบ้าบิ่น
ความหลงใหลต่อความฝันและจินตนาการไม่ผิดอะไรกับความหลงใหลในอิสตรีรายหนึ่ง
สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็น "ผู้พิพากษา" ในดินแดนรกร้าง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อแผ่นดินดังกล่าวกลายเป็น
สิ่งที่มีค่ามหาศาลด้วยทรัพยากรน้ำมันที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน เรื่องราวของคาวบอยที่แต่งตั้งตัวเองเป็น
ผู้พิพากษาก็กลายเป็นเพียง "ตำนาน" วิถีทางความเป็นอเมริกันยุคใหม่ได้เริ่มเข้าสู่ "โลกแห่งความจริง"
ภายใต้การยึดครองของ "พ่อค้า" และ "นักกฏหมาย" ไปแทนที่

ถึงแม้นว่าความเจริญเติบโตของชาวยุโรปในทวีปอเมริกาจะเริ่มต้นมาจากซากศพและกองกระดูกของ
ชาวอินเดียนแดงจำนวนมหาศาลเพียงไรก็ตาม แต่ "สีสันที่สดใส" ในจุดเริ่มต้นของ "ความเป็นอเมริกัน"
ในยุคแรกๆ ยังถูกประดับตกแต่งไปด้วยเรื่องราวของผู้อพยพที่ "รักการผจญภัย" นักเผชิญโชคที่มีหัวใจ
"ใฝ่หาเสรีภาพ" นักการศาสนาที่เบื่อหน่ายกับ "คริสเตียนคาบคัมภีร์" หรือกระทั่งพ่อค้าที่ไม่พึงพอใจต่อ
การสมคบกันระหว่างกษัตริย์ในยุโรปกับพ่อค้าผูกขาด มุ่งแสวงหาระบบการค้าที่มีรากฐานมาจาก
"การแข่งขันโดยเสรี"

"รัฐธรรมนูญอเมริกัน" ที่เขียนขึ้นในยุคแรกภายหลังได้รับอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น
ว่ากันว่ามันมีความไพเราะ ลึกซึ้ง ไม่ต่างอะไรไปจาก "บทกวี" ชิ้นเยี่ยม

แต่ในเวลาอีกไม่นานนัก สิ่งที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสเหล่านี้ก็กลายสภาพเป็นเพียง "ตำนาน" ที่ค่อยๆ
เลือนหายไป เมื่อชาวอเมริกันด้วยกันเองหันมาทำ "สงคราม" ระหว่างกันและกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน
อันเป็นที่รู้จักกันในนาม "สงครามกลางเมือง" ในช่วงปี ค.ศ. 1861-1865 นั่นเอง

ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้ด้วยสาเหตุอะไรก็ตามนักประวัติศาสตร์อเมริกันหลายรายมีความเชื่อว่า
ภายใต้สภาพความอ่อนแอของชาวอเมริกันอันเนื่องมาจากสงครามครั้งนี้ ได้มีผลอย่างร้ายแรงในการผลักดัน
ให้กลุ่ม "พ่อค้าผูกขาด" ที่อาศัยความร่วมมือจากนักการเมืองและนักกฏหมายผงาดขึ้นมาสร้าง "จุดเปลี่ยน"
ที่สำคัญที่สุดต่อวิถีทางของประเทศอเมริกานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา "เดวิด ซี คอร์เตน" ได้บรรยาย
ภาพเหตุการณ์ช่วงนั้นเอาไว้ว่า

"สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาได้ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับสิทธิอำนาจของบรรษัท...
การต่อต้านการเกณฑ์ทหารได้ปะทุเป็นการจลาจลที่รุนแรง สร้างความสั่นสะเทือนให้กับทุกเมือง
ทั่วทั้งประเทศ ทำให้ระบบการเมืองกระจัดกระจาย เมื่อมีผลกำไรมหาศาลเกิดขึ้นจากการทำสัญญา
ซื้อยุทธปัจจัย กลุ่มอุตสาหกรรมจึงใช้โอกาสจากสภาพความระส่ำระสายและการโกงกินทางการเมือง
ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไป โดยอาจเรียกได้ว่า เป็นการซื้อกฏหมาย ทำให้พวกเขาได้รับเงินและที่ดิน
เป็นจำนวนมากจากการขยายระบบรถไฟในตะวันตกและยิ่งมีกำไรมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม
ที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ยึดกุมรัฐบาลเพื่อหาผลประโยชน์ให้มากขึ้นไปอีก เมื่อได้เห็นสิ่งต่างๆ
คลี่คลายขยายตัวออกมาเช่นนั้น ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้กล่าวไว้ก่อนการเสียชีวิตว่า

บรรษัทได้ครองประเทศไปแล้ว ศักราชของการโกงกินในระดับสูงจะติดตามมาอำนาจเงินจะสามารถ
มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างไปอีกนาน โดยอาศัยความหลงผิดของประชาชน จนกระทั่งความมั่งคั่ง
ถูกสะสมในมือคนจำนวนน้อย และสาธารณรัฐจะถูกทำลายลงในที่สุด"

(ความเห็นส่วนตัวว่า สถานการณ์คล้ายกับไทยในปัจจุบันนี้)

จินตนาการถึง "เสรีภาพในการแข่งขันกันทางการค้า" ของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมอย่าง "อาดัม สมิธ"

พังทลายลงไปในเวลารวดเร็ว เมื่อความเติบโตของกลุ่มพ่อค้าที่ผงาดตัวขึ้นมาหลังสงครามได้พัฒนา
ตัวเองจนกลายเป็น "กลุ่มผูกขาด" ที่มีอำนาจและมีความชาญฉลาดยิ่งกว่า "การสมคบกันระหว่าง
กษัตริย์กับพ่อค้าผูกขาดในยุโรป" ในยุคอดีตเสียอีก แทนที่จะมีการ "แข่งขัน" ระหว่างกันและกัน

บรรษัทธุรกิจอันทรงอำนาจของ "เจพี มอร์แกน"

กับ "จอห์น ดี ร็อกกี้เฟลเลอร์"

ก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับอเมริกา ด้วยการหันมาร่วมมือกันจัดตั้ง
"บรรษัทหลักทรัพย์ภาคเหนือแห่งนครนิวเจอร์ซี" ในปี ค.ศ. 1901
รวมกิจการธนาคาร เหล็กกล้า รถไฟ ระบบขนส่งในเมือง คมนาคม พาณิชย์นาวี ประกันภัย
สาธารณูปการ ไฟฟ้า ยาง กระดาษ โรงงานน้ำตาล การผลิตทองแดงและอุตสาหกรรมประกอบอื่นๆ
ของโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมหลัก จำนวนประมาณ 122 บรรษัทเข้าด้วยกัน กลายเป็นบรรษัท
ที่มีทรัพย์สินประมาณ 22.2 พันล้านดอลลาร์สหรัญฯ หรือมีจำนวนมากกว่ามูลค่าของทรัพย์สินต่างๆ
ใน 13 มลรัฐภาคใต้ของอเมริกาถึง 2 เท่า

(ความเห็นส่วนตัวว่า กลุ่มทุนในระบอบการเมืองไทยปัจจุบันก็มีเป้าหมายที่คล้ายกันเพื่อทำการผูกขาด)

ในขณะที่ความเติบโตของกลุ่มพ่อค้าผูกขาดผงาดขึ้นมาควบคุมอเมริกาทั้งประเทศ ว่ากันว่าในช่วงปลาย
ศตวรรษที่ 19 ประชากรชาวอเมริกันประมาณ 11 ล้านคน จาก 12.5 ล้านครอบครัว ยังชีพอยู่ด้วย
รายได้เพียง 380 ดอลลาร์ต่อปี

แรงกดดันจากการเอารัดเอาเปรียบทำให้เกิดการดิ้นรนหาทางต่อรองกับชนชั้นนำทางธุรกิจ
จนทำให้ตัวเลขสมาชิกสหภาพแรงงานในอเมริกา ปี ค.ศ. 1897 ซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 44,700 คน
ขยายตัวเป็น 2,073,000 คน ในปี ค.ศ. 1904

แต่ความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาพ่อค้าผูกขาดที่ควบคุมประเทศอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่ได้จีรัง
ไปโดยตลอด ในขณะที่เงินทุนจำนวนมากในอเมริกาถูกปล่อยกู้ให้กับประเทศในยุโรปซึ่งกำลังดิ้นรน
จากพิษร้ายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ไม่นานนัก วิกฤตการณ์ทุนนิยมโลกครั้งร้ายแรงที่สุด
ในประวัติศาสตร์ ก็ได้ระเบิดตัวออกมาในช่วงทศวรรษ 1920-1930 และมันส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่ง
ของประเทศอเมริกาที่ได้กลายมาเป็น "ศูนย์กลางของทุนนิยมโลก" จนถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ
ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์อเมริกา


ว่ากันว่า ในขณะที่ประธานาธิบดีอเมริกันในขณะนั้น นาย "เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์" กำลังมองภาพความรุ่งเรือง
ของเศรษฐกิจอเมริกาที่ยังยืนยงอยู่เพียงประเทศเดียว ในขณะที่ชาวยุโรปเต็มไปด้วยพิษบาดแผลจาก
สงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงขั้นว่ามันเป็น "พรจากพระเจ้า" ที่จะทำให้ "คามยากจนหมดสิ้นไปจากประเทศของเรา"
แต่เพียงชั่วเวลาแค่ 1 เดือนหลังจากนั้น ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นในนิวยอร์กที่เดิมเคยมีปริมาณ
การซื้อขายหุ้นวันละประมาณ 2-3 ล้านหุ้น ได้ถูกเทขายในชั่วเวลาวันเดียวจำนวนถึง 12.8 ล้านหุ้น


เงินกู้จากอเมริกาที่ถูกปล่อยไปแสวงหาผลประโยชน์ในยุโรปถูกเรียกคืนอย่างเร่งรัด ส่งผลให้วิกฤตการณ์
ลุกลามแผ่ไปทั่วยุโรป ธนาคารเวียนนาในออสเตรียซึ่งมีทรัพย์สินถึง 2 ใน 3 ของประเทศหมดความสามารถ
ในการชำระหนี้ ต้องประกาศล้มละลาย ธนาคารยักษ์ใหญ่ 1 ใน 4 ของเยอรมนีประกาศล้มละลายตามมาติดๆ
วิกฤตการณ์ลุกลามไปยังประเทศอังกฤษ ละตินอเมริกา โอเชียเนีย ซึ่งอาศัยรายได้จากการส่งออกผลผลิต
การเกษตรและการค้าระหว่างประเทศลามต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส

ตลอด 3 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 1929-1933 หุ้นของกลุ่มบริษัทเหล็กกล้าในอเมริกา ที่เคยมีราคาหุ้นละ 262 เหรียญสหรัฐฯ
ลดลงเหลือแค่ 22 เหรียญสหรัฐฯ หุ้นของกลุ่มทุนผูกขาดการผลิตรถยนต์อย่าง บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ จากเดิม
เคยราคา 173 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น ลดเหลือราคาแค่ 8 เหรียญต่อหุ้น ธนาคารในอเมริกาถึง 5,000 แห่งปิดกิจการ

ในขณะที่กรรมกรในโรงงานว่างงานจำนวนมาก เกษตรกรล้มละลาย ถนนหนทางเต็มไปด้วยคนว่างงาน
สวมใส่เสื้อผ้าขาดๆ เนื้อตัวมอมแมม สีหน้าแสดงความหิวโหย ผลิตผลการเกษตรที่ถูกผลิตขึ้นมามากเกินไป
จนทำให้ระดับราคาตกต่ำ ถูกนำไปทำลาย "นมโค" นับเป็นตันๆ ถูกนำไปเททิ้งในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ จนว่ากันว่า
ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเป็น "สีเงิน" ข้าวสาลี ข้าวโพด ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน

ความยิ่งใหญ่ของอเมริกาที่ผงาดขึ้นมาแทนที่จักรวรรดิอื่นๆ ในยุโรป เกิดความปั่นป่วนแทบจะล่มสลาย
และมันส่งผลกระทบไปยังโลกทั้งโลกที่ถูกทำให้ "ขึ้นต่อ" ระบบการค้าอาณานิคมมานานกว่าศตวรรษ
การผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลกหดตัวลงไปถึง 36 เปอร์เซ็นต์ การค้าของโลกหดตัวลงถึง 2 ใน 3
กรรมกรตกงานมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ชาวนาหลายล้านคนล้มละลาย ธนาคารนับหมื่นแห่งปิดกิจการ

แต่ในขณะที่เส้นทางทุนนิยมที่นำพาจักรวรรดิเติบโตมาจนมีอำนาจแผ่กระจายไปทั่วโลกกำลังเข้าสู่ทางตัน
"สงคราม" ก็ถูกใช้เป็น "ทางออก" อีกครั้ง สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นติดตามสงครามโลกครั้งที่ 1
ในช่วงเวลาห่างกันกว่า 20 ปีเท่านั้น ได้กลับทำให้เกิด "จักรวรรดิใหม่" ที่ใหญ่โตและกลายเป็นจักรวรรดิ
ที่ไร้ผู้ต่อต้านในเวลาต่อมาจนได้
(ความเห็นส่วนตัวว่า ในปัจจุบันชาติมหาอำนาจมักจะก่อสงครามเมื่อมีสัญญาณว่าอาจจะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเสมอ)
บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #64 เมื่อ: กันยายน 03, 2006, 01:36:31 PM »

วิกฤตการณ์ทุนนิยมกับเศรษฐศาสตร์สงคราม

ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยเห็นว่า การคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ
ศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤตการณ์ทุนนิยมโลกปี ค.ศ. 1920-1930 นั้น
มีผลมาจากแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งที่ชื่อ "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์"

ซึ่งเสนอข้อชี้แนะในปี ค.ศ. 1936 ให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและจัดการกับสภาพอนาธิปไตย
ทางเศรษฐกิจด้วยตัวเองและหาทางผ่อนคลายแรงกดดันภายในสังคมทุนนิยมด้วยมาตรการนานาชนิด
ในแบบ "เปิดวาล์วลดความดัน" ให้ความขัดแย้งต่างๆ ลดระดับลงไป

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างงานแบบแปลกๆ การวางแผนเศรษฐกิจอย่างมีระบบ การสร้างระบบ
ประกันสังคมและหลักประกันในชีวิตต่อผู้คนที่กำลังเผชิญกับ "ความตึงเครียดแห่งความศิวิไลซ์" ฯลฯ
กลายเป็น "สูตร" ชนิดหนึ่ง ที่ว่ากันว่ามันสามารถทำให้เส้นทางวิวัฒนาการอันเกิดจากแรงขับดันของ
"ความปรารถนาต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์" สามารถก้าวต่อไปได้อีกเฮือกใหญ่

แต่อันที่จริงแล้ว เหตุที่สูตรที่ว่านี้ถูกนำไปใช้อย่างได้ผล ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า
เพราะมันถูกรองรับเอาไว้ด้วยสถานการณ์ "สงคราม" ที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1939
จนกลายเป็น "สงครามโลกครั้งที่ 2" รวมทั้ง "สงครามเย็น" ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ยุติลงไปหมาดๆ และมีความต่อเนื่องยาวนานมาไม่น้อยกว่า 40 ปี

แหล่งวัตถุดิบจำนวนมหาศาล ตลาดระบายสินค้าที่กว้างขวางแผ่กระจายทั่วโลก เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด
เพราะแรงผลักดันจากสงครามจนกลายมาเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมชนิดใหม่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการ
"ผ่าทางตัน" จากวิกฤตการณ์ทุนนิยมโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

"เดวิด ซี คอร์เตน" ได้กล่าวถึง "จุดเปลี่ยน" ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันอีกครั้ง ซึ่งเริ่มต้นขึ้น
ในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1939 หรือไม่ถึงสองสัปดาห์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น

เขาได้บรรยายถึงการพบปะกันระหว่างตัวแทนของ "กลุ่มธุรกิจผูกขาด" ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมตัว
ก่อตั้งองค์กรศึกษานโยบายต่างประเทศในนาม "สภาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" (CFR)
อาทิ "นายวอลเตอร์ มัลลอรี่" ผู้อำนวยการซีเอฟอาร์ "นายแฮมิลตัน อาร์มสตรอง"
บรรณาธิการวารสารฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ "จอร์จ เมสเซอร์สมิธ" รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ
ในขณะนั้น ฯลฯ ที่นครวอชิงตัน พร้อมกับระดมทีมงานร่างบันทึกข้อเสนอ 682 รายการให้กับ
ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี รูสเวลท์ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกในสภา ซีเอฟอาร์

บันทึกข้อเสนอดังกล่าวถือได้ว่า นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายต่างประเทศของอเมริกา
จากการตั้งมั่นอยู่ในแปซิฟิก ตามแนวคิดของ "ลัทธิมอนโร" ไปสู่อาศัยการ "สงคราม" เป็นเครื่องมือ

ในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนผูกขาดในอเมริกาไปสู่โลกทั้งโลกในเวลาต่อมาได้จนถึงบัดนี้

ในบันทึกรายการหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "อี-บี 34" ได้ระบุถึงแนวทางที่จะผลักดันให้อเมริกาเข้าไปครอบครอง
"อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร" เหนืออาณาบริเวณซึ่งใช้คำเรียกว่า "พื้นที่อันใหญ่โตมโหฬาร"
เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นถูกแปรสภาพเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้าแก่อุตสาหกรรมของชนชั้นนำ
ทางธุรกิจในสหรัฐฯ

เขตที่ถูกขนานนามว่า "พื้นที่อันมโหฬาร" นั้น นอกจากจะหมายถึงพื้นที่ของโลกตะวันตกทั้งหมด
ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายเยอรมนีคู่สงครามแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่อาณานิคมที่เคยตกอยู่ใต้
อิทธิพลของจักรวรรดินิยมยุโรปทั้งหลาย ไม่ว่าอินเดียตะวันออกของดัตช์ จีน ญี่ปุ่น และพื้นที่
ที่อิทธิพลของจักรวรรดินิยมอังกฤษเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถรักษาอิทธิพลเอาไว้ได้

บันทึกฉบับนี้ยังได้เสนอแนวทางให้ "จัดตั้งสถาบันการเงิน" เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนและ
รักษาค่าเงินตรา รวมทั้งการพัฒนาภูมิภาคที่ล้าหลังและด้อยพัฒนา ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "องค์กรโลกบาล"
อย่าง "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ" (ไอเอ็มเอฟ) และ "ธนาคารโลก" (เวิลด์ แบงก์) ในเวลาต่อมานั่นเอง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ว่ากันว่า ส่งผลให้ "อุตสาหกรรมการบิน" ในสหรัฐอเมริกาพัฒนาไปอย่าง
ก้าวกระโดดผลพลอยได้จากการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องบินรบจำนวนมาก ทำให้กิจการการบินของพลเรือน
เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1919 แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 "ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสงคราม"
ได้กลายเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องคำนวณไฟฟ้า
การผลิตแสงเลเซอร์ วิทยาการพลังงานปรมาณู การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือโทรคมนาคม ฯลฯ ของสหรัฐฯ
ก้าวไปไกลในระดับส่งผลให้ "รัฐแคลิฟอร์เนีย" อันเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขยายตัวจนกลายเป็น
รัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของเศรษฐกิจโลกได้ในเวลาต่อมา

อุตสาหกรรมอาวุธซึ่งทำรายได้จำนวนมหาศาลโดยเฉพาะในช่วง 40 ปีของสงครามเย็น ที่ต่อเนื่องจาก
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ "งบประมาณทางทหาร" ของประเทศต่างๆ ในโลกที่เคยอยู่ในระดับ 5 เปอร์เซ็นต์
7 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติในช่วงปี ค.ศ. 1914 ก้าวกระโดดกลายเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์
25 เปอร์เซ็นต์ หรือบางประเทศสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การเผชิญหน้ากันระหว่าง "กลุ่มทุนผูกขาด" ที่ครอบครองประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ กับประชาชน
ชาวอเมริกันในยุคอดีต ได้ถูกคลี่คลายลงไปตามลำดับ ส่วนหนึ่งมันอาจจะมีผลมาจากแนวคิดในการพัฒนา
ระบบทุนนิยมแบบใหม่ของ "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" ก็จริงอยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันวางอยู่บนพื้นฐานของ
"การครอบครองโลก" หรือการขยายผลประโยชน์ของกลุ่มทุนผูกขาดในอเมริกาได้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
การลดระดับความขัดแย้งภายในสังคมของตัวเอง หรือการ "เปิดวาล์วลดความดัน" ภายในสังคมอเมริกัน
จึงไม่ใช่เรื่องยาก หรือได้กระทบกระเทือนผลประโยชน์และกำไรจำนวนมหาศาล

ความพึงพอใจของชาวอเมริกันในการอยู่ร่วมกับกลุ่มทุนผูกขาดภายในประเทศภายใต้ "ลัทธิทุนนิยมใหม่"
หรือภายใต้การผ่าทางตันของระบบทุนนิยมในอดีตของ "เคนส์" ส่งผลให้สังคมอเมริกันกลายเป็น "แม่แบบ
ของโลกทุนนิยมทั้งโลก ยิ่งเมือประเทศสังคมนิยมทั่วโลกล่มสลายลงไป วิถีทางแบบอเมริกันก็กลายเป็น
วิถีทางของโลกไปเลยทีเดียว

"วิลเลียม ลีซ" ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "เมอร์แชนท์ พาวเวอร์ แอนด์ เดอะ ไรซ์ ออฟ อะ นิว อเมริกัน คัลเจอร์"

ได้อธิบายเอาไว้ว่า "ใครก็ตามที่มีอำนาจในการชี้วิสัยทัศน์ของชีวิตที่ดี และทำให้เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย
จะมีอำนาจเด็ดขาดเหนือทุกคน และธุรกิจอเมริกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 เป็นต้นมาก็มีอำนาจเช่นนั้น อีกทั้งเมื่อ
ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับสถาบันหลักๆ ในสังคม ก็สามารถทำให้สังคมอเมริกันเปลี่ยนแปลงเป็นสังคม
ที่หมกมุ่นอยู่กับการบริโภคความสะดวกสบาย และความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านกายภาพด้วยสิ่งที่หรูหรา
ด้วยการใช้จ่าย ด้วยการได้มาซึ่งสรรพสินค้าที่ต่างพยายามขวนขวายหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"

แต่แล้ว ภายใต้สภาพที่โลกทั้งโลกหันมาเดินตามวิถีทางแบบเดียวกันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ "พื้นที่อันมโหฬาร"
อันปรากฏอยู่ในบันทึกข้อเสนอแนะของกลุ่มทุนผูกขาดอเมริกาก็กลายเป็นพื้นที่ที่ "แคบ" ลงไปเรื่อยๆ
วิวัฒนาการอันเกิดจาก "ความปรารถนาต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์" ที่ดำเนินมาจนถึงปี ค.ศ. 2000
ได้แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการเช่นนี้ในระดับที่จะต้องหา "โลกอีก 2 ใบ"
ถึงจะตอบสนองได้ต่อไป

"ความขาดแคลน" เริ่มหวนกลับมากลายเป็น "วัฏจักรแห่งวิกฤติทุนนิยมครั้งใหม่" ในต้นศตวรรษที่ 21
และดูเหมือนว่า "ทางออก" ของรัฐบาลอเมริกันและกลุ่มบรรษัทผูกขาดระดับโลก ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก
การหาทางออกเดิมๆ ในวิกฤตการณ์ทุนนิยมช่วง ค.ศ. 1920-1930 เลย แม้นว่าจะมีความพยายามค้นคิด
"สูตรเศรษฐกิจแบบใหม่" แทนที่แนวคิดเดิมๆ กันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ นักคิด นักการเมือง ในอเมริกา
และยุโรป แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันไม่สามารถปฏิเสธ "สงคราม" ที่จะต้องนำมารองรับย่างก้าวต่อไปของ
เส้นทางวิวัฒนาการเส้นทางนี้
บันทึกการเข้า
ทัดมาลา ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
มืออ่อน หมัดแข็ง
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 857
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 6569


เตสาหัง สิรสา ปาเท วันทามิ ปุริสุตตเม


« ตอบ #65 เมื่อ: กันยายน 03, 2006, 03:44:38 PM »

เรื่องทฤษฎีสมคบคิดนี้ ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่อง Syriana

ภาพยนต์เรื่องนี้ถ่ายทอดภาพแห่งความขัดแย้ง ทั้งทาง อำนาจ ศาสนา และ เศรษฐกิจ ได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง น้ำมัน ความขัดแย้งทางศาสนาและความเชื่อในเรื่องจิฮัด





http://movies.narak.com/preview/syriana.shtml

http://en.wikipedia.org/wiki/Syriana
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 03, 2006, 04:22:50 PM โดย ทัดมาลา » บันทึกการเข้า

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
      
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #66 เมื่อ: กันยายน 03, 2006, 07:07:07 PM »

เรื่องทฤษฎีสมคบคิดนี้ ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่อง Syriana

ภาพยนต์เรื่องนี้ถ่ายทอดภาพแห่งความขัดแย้ง ทั้งทาง อำนาจ ศาสนา และ เศรษฐกิจ ได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง น้ำมัน ความขัดแย้งทางศาสนาและความเชื่อในเรื่องจิฮัด


น่าสนใจครับจะลองหา DVD มาดู
บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #67 เมื่อ: กันยายน 03, 2006, 07:07:51 PM »

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ "อนาธิปไตย" และ "ทางตัน"

ในเมื่อโลกมีอยู่เพียงแค่ 1 ใบเท่านั้น "พื้นที่อันมโหฬาร" ในสายตาของกลุ่มทุนผูกขาด
เมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 ได้กลายเป็น "พื้นที่อันคับแคบ" ไปแล้วในการเริ่มต้นศตวรรษที่ 21

ทางออกในการผลักดัน "แรงปรารถนาอันไม่สิ้นสุด" ให้วิวัฒนาการต่อไปอีกก้าว หนีไม่พ้นที่จะต้อง
มีการ "รื้ออุปสรรคขัดขวาง" นานาชนิดลงไปให้ได้ ไม่ว่าอุปสรรคนั้นจะเป็นเส้นแบ่งพรมแดนเขตแดน
ทางการเมืองของรัฐชาติ ผลประโยชน์ท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เคยเป็น
เอกลักษณ์ท้องถิ่นและรัฐชาติ เพื่อหลีกทางกับสิ่งที่ "อากิโอะ มอริตะ" ประธานบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ
"โซนี่" เคยเรียกมันว่า "ความดีงามที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า อันเป็นผลจากเสรีภาพทางการค้าในระบบ
ตลาดเสรี ได้เข้ามาแทนที่"

"เคนิชิ โอเมะ" ผู้จัดการบริษัทแมคเคนซีและสหาย ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "โลกไร้พรมแดน" ว่า
"รัฐบาลแห่งชาติที่ยังยึดติดอยู่กับบทบาทเดิมในฐานะที่เป็นผู้จัดการทางเศรษฐกิจแห่งชาติ
เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจแห่งชาติในโลกปัจจุบันและอนาคตอันใกล้
จะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหลืออยู่อีก" และ "โลกาภิวัตน์ จะทำให้บทบาททางการเมืองของรัฐบาล
เป็นจำนวนมากล้าสมัยไปด้วย"

"ดีแอนน์ จูเลียส" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบรรษัทน้ำมันข้ามชาติอย่างบริษัทเชลล์ ได้เสนอรายงาน
วิจัยชี้ให้เห็น "หลักการ 3 ประการ" ของการสร้างพื้นที่อันกว้างขวางให้กับโลกยุคใหม่ นั่นก็คือ

1. บรรษัทต่างชาติจะต้องมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกว่าจะมีส่วนร่วมในตลาดท้องถิ่น
โดยการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศหรือจัดการผลิตภายในท้องถิ่นเอง

2. วิสาหกิจต่างชาติจะต้องถูกบังคับโดยกฏหมายฉบับเดียวกันกับที่บังคับใช้กับวิสาหกิจภายในประเทศ

3. วิสาหกิจต่างชาติควรได้รับการอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมใดก็ได้ ในประเทศที่วิสาหกิจในประเทศนั้น
สามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามกฏหมาย


ในการสำรวจความคิดเห็น ผู้บริหารบรรษัทธุรกิจระหว่างประเทศจำนวน 12,000 คน โดยนิตยสาร
"ฮาเวิร์ดธุรกิจปริทัศน์" ในปี ค.ศ. 1990 ได้ยืนยันว่า ผู้บริหารบรรษัทธุรกิจระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด
เห็นด้วยกับทัศนะของ "นางคาร์ลา ฮิลส์" อดีตผู้แทนการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกมาเรียกร้องให้
"บรรษัทข้ามชาติ" สามารถลงทุนในประเทศต่างๆ ในโลกได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ร่วมลงทุนท้องถิ่น
สามารถส่งสินค้าออกจากประเทศที่เข้าไปทำการผลิตโดยไม่ต้องมีการควบคุมสัดส่วนใดๆ ไม่ต้องถูกบังคับ
ให้ใช้ชิ้นส่วนใดๆ ภายในท้องถิ่น รวมทั้งไม่ควรบังคับให้มีกฏเกณฑ์เฉพาะสำหรับการควบคุมกิจกรรมของ
บรรษัทข้ามชาติ

แรงผลักดันที่ต้องการให้รื้อเขตแดนทางการเมือง การค้าวัฒนธรรมต่างๆ ในทุกซีกโลกเพื่อให้
"พื้นที่อันคับแคบ" ของบรรษัทธุรกิจผูกขาดในระดับโลกสามารถแสวงหากำไรได้มากขึ้นนั้น
เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ "วิกฤตการณ์ครั้งใหม่" ที่ส่อให้เห็นแนวโน้มซึ่งมีสภาพไม่ต่างไปจาก "ทางตัน"
ของทุนนิยมในปี ค.ศ. 1920-1930

ปลายศตวรรษที่ 20 "กิจกรรมทางการเงิน" ที่มีการซื้อ-ขายเงินตราเพื่อ "เก็งกำไรในระยะสั้น"
มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การซื้อ-ขายเงินตราเพื่อ "การค้าการลงทุน" จริงๆ
มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์พลิกผันจากกิจกรรมทางการเงินในยุคอดีตที่การซื้อ-ขายเงินตรา
เพื่อใช้ในการค้าการลงทุนเคยมีจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ การเก็งกำไรในระยะสั้นเคยมีเพียงแค่
10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในตอนต้นศตวรรษที่ 21 ยอดมูลค่าการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในแต่ละวัน
ได้รับการประมาณการกันว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

สภาพความผันผวนในกิจกรรมทางการเงินลักษณะเช่นนี้ เคยทำให้ผู้นำคิวบา "ฟิเดล คาสโตร"
กล่าวในที่ประชุมว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติปี ค.ศ. 2002 ว่า
"ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน...ก็คือ บ่อนกาสิโนที่ใหญ่ที่สุดในโลก"

"อนาธิปไตยทางการเงิน" ได้แสดงผลให้เห็นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 อย่างชัดเจน
ระบบเงินตราของยุโรปเกิดความผันผวนในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1993
เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1994 เงินเปโซของเม็กซิโกลดค่าขนานใหญ่ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเงิน
ลุกลามทั่วละตินอเมริกา เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1995 ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของยุโรป
เกิดความปั่นป่วนอีกครั้ง ธนาคารแบรริ่งของอังกฤษ ที่มีประวัติยาวนานถึง 233 ปี ต้องประกาศล้มละลาย
เนื่องมาจากผลของการเก็งกำไรทางการเงินในระยะสั้นของสาขาธนาคารที่สิงคโปร์ประสบความล้มเหลว
เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1997 วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทยและลามไปทั่วทั้งเอเชีย
จนกลายเป็นผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกทั้งหมด

ต้นศตวรรษที่ 21 วิกฤตการณ์การเงินเริ่มก่อตัวในอาร์เจนตินา และในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2002
การลอยตัวค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาส่งผลให้ค่าเงินลดลงทันที 40 เปอร์เซ็นต์
เกิดจลาจลทั่วประเทศและต้องมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีถึง 5 คน ภายในชั่วเวลา 14 วัน
ต้นปี ค.ศ. 2002 วิกฤตการณ์การเงินอาร์เจนตินาลุกลามต่อไปยังอุรุกวัย และเริ่มกดดันระบบการเงิน
และเศรษฐกิจของบราซิลในเวลาต่อมา

ในการประชุมนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ-สังคมทั่วโลกที่ฮ่องกงในปี ค.ศ. 2000 เสียงส่วนใหญ่
ในที่ประชุมสัมนาได้ยอมรับถึง "ทางตัน" ในการแก้ปัญหา "ช่องว่างระหว่างความรวยและความจน"
ที่นับวันจะขยายตัวยิ่งขึ้น ไม่ว่าระหว่าง "ประเทศรวยกับประเทศจน" หรือ "ภายในประเทศแต่ละประเทศ"
และยิ่งมีการผลักดันให้เกิด "พื้นที่การค้า" ที่กว้างขวางขึ้น ด้วยการรื้ออุปสรรคต่างๆ ภายในชาติแต่ละชาติ
ลงไป ก็จะยิ่งทำให้แนวโน้มของช่องว่างเหล่านี้ขยายตัวในระดับที่ "ไม่อาจจะแก้ปัญหาใดๆ ได้อีกต่อไป"

ตัวเลขสถิติในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 แสดงให้เห็นว่า ชาติอุตสาหกรรมทันสมัย 24 ประเทศ ซึ่งมีประชากร
17 เปอร์เซ็นต์ของโลก ครอบครองมูลค่าการผลิตถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมี
ประชากร 83 เปอร์เซ็นต์ กลับครอบครองมูลค่าการผลิตเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ของโลก ยอดหนี้สิน
ต่างประเทศของโลกกำลังพัฒนามีมูลค่าถึง 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ประชากรถึง 1,300 ล้านคน
อยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อวันไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้คน 800 ล้านคน อดอยากหิวโหย, 80 ล้านคนไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาล, 2,600 ล้านคน
ไม่ได้เรียนหนังสือ ฯลฯ

และแม้กระทั่งภายใน "ประเทศร่ำรวย" เองก็ตาม การปรากฏตัวของความยากจนและช่องว่างรายได้
ชัดเจนยิ่งขึ้น "ศูนย์ความอดอยาก" แห่งรัฐสภาอเมริกาได้ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีคนอเมริกัน
30 ล้านคนที่มีอาหารไม่พอบริโภค, 2 ล้านกว่าคน เคยผ่านประสบการณ์ไร้ที่พักพิงมาก่อน
ชาวเยอรมัน 850,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย, ชาวฝรั่งเศส 300,000 คน อาศัยอยู่ในกล่องกระดาษ
ชาวญี่ปุ่นซึ่งเคยได้รับการยอมรับว่าเป็น "สังคมที่ไม่มีคนว่างงาน" ในยุคอดีต ได้พบอัตราว่างงาน
ถึง 2,140,000 คน ในปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ฯลฯ

"การผลิตที่ล้นเกิน" ยังคงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการผลิต
ภาคเกษตรของประเทศร่ำรวยที่มีมูลค่าไม่ตำกว่าวันละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ความ "ไม่ปลอดภัย
ในชีวิตทรัพย์สิน" รวมทั้ง "การขาดความมั่นคงทางจิตใจ" ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดปะทุไปทั่ว
สังคมทุนนิยมทุกแห่ง คดี "ฆ่าตัวตายหมู่" ของลัทธิความเชื่อวิปริตในสังคมอเมริกัน สวีเดน ญี่ปุ่น
และความเชื่ออันสับสนของลัทธิทางจิตวิญญานในจีน การขยายตัวของศาสนาใหม่โดยชาวเกาหลีใต้
การปล่อยก๊าซพิษในอุโมงค์รถไฟใต้ดินกรุงโตเกียวของลัทธิโอมชินริเกียว ฯลฯ นอกจากนั้น
ระบบการเมืองแบบ "เสรีประชาธิปไตย" ที่ใช้รองรับการพัฒนาของทุนนิยมใหม่ เกิดการสั่นคลอน
ความน่าเชื่อถือไปทั่วโลก ลัทธิชาตินิยม ลัทธิต่อต้านผิวสี ต่อต้านเชื้อชาติในยุโรป-ออสเตรเลีย
ปรากฏตัวขึ้นมาใหม่ นักการเมืองที่สนับสนุนเศรษฐกิจเสรีนิยมในเวเนซุเอลา โบลิเวีย บราซิล
ประสบความพ่ายแพ้ลงไปเรื่อยๆ ฯลฯ

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 21 นับวันเริ่มจะส่งสัญญานให้เห็นว่า
มันมีสภาพแทบไม่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 สักเท่าไหร่
ความพยายามดิ้นรน "ผ่าทางตัน" จึงปรากฏตัวด้วย "รูปแบบ" อันหลากหลาย
บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #68 เมื่อ: กันยายน 03, 2006, 10:53:07 PM »

การ "ผ่าทางตัน" "ทฤษฏีใหม่" และ "สงครามใหม่"

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ผู้นำการเมืองในยุโรปและอเมริกาหลายราย ไม่ว่า
โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีอเมริกา

แกรฮาร์ด ชโรเดอร์ อดีตผู้นำเยอรมนี

ฟรังซัวร์ มิตแตร์รองต์ อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฯลฯ

ต่างเคยพบปะหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการ "หาทางออก" จากแรงกดดันทางการเมือง
อนาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และความตึงเครียดของสังคมศิวิไลซ์ ที่กำลังกลายเป็น "ทางตัน"
สำหรับโลกทุนนิยมทั้งหมด

รูปแบบแนวความคิดที่บรรดาผู้นำเหล่านี้หยิบมาใช้เป็น "ภาพร่าง" ในการค้นหาทางออกร่วมกัน
ถูกสรุปเอาไว้ในช่วงแรกๆ ว่า มันจะเป็นไปในลักษณะ "กลาง-ซ้าย" หรือบางรายใช้คำเรียกว่า
"หนทางที่ 3" คือแนวความคิดทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ที่จะต่างไปจากแนวทางทุนนิยม
ของปีกขวา แต่ก็จะไม่ก้าวไปถึงขั้นที่จะปรับตัวไปสู่แนวความคิดแบบสังคมนิยมของปีกซ้าย
(ความเห็นส่วนตัวว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นหนทางหนึ่งที่เหมาะกับเมืองไทยและโลกในขณะนี้)

หลังจากผ่านการถกเถียงกันอย่างชุลมุนตั้งแต่เริ่มแรก เกิดความยุ่งยากในการปรับแนวความคิด
ในระดับพื้นฐานให้กลมกลืนกันในท้ายที่สุด ผู้นำทางการเมืองเหล่านี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า
การพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เคยเป็นมาในอดีตนั้น จะสามารถ
"หาจุดลงตัว" กับ ความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างไร? และจะรักษาความมั่นคงของสภาพสิ่งแวดล้อม
เอาไว้ได้ขนาดไหน? ด้วยการปรับแก้ "รูปแบบ" บางอย่างเพื่อให้เส้นทางวิวัฒนาการที่เคยเป็นมา
ในประวัติศาสตร์ยุคอดีตสามารถก้าวต่อไปในการสร้างประวัติศาสตร์แห่งอนาคต

การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมหารือเรื่องแนวความคิดเหล่านี้ของนาย "ฟรังซัวร์ มิตแตร์รองต์"
ในการจัดประชุมที่ประเทศอิตาลี ในเวลาต่อมาได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการ
"ค้นหาสูตรทางออกใหม่ๆ" ที่มันไม่สามารถสร้างความยอมรับแบบสูตรของ "เคนส์" ในช่วงปี ค.ศ. 1936
มันกลายเป็นแค่ "การสร้างภาพทางการเมือง" ของผู้นำทางการเมืองที่อยากจะมีภาพเป็น
"นักฝันเฟื่องทางทฤษฏี" มากกว่า

แรงกดดันทางการเมืองที่เป็นจริงปรากฏ อนาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวออกไปได้รวดเร็วมาก
และความตึงเครียดภายในสังคมทุนนิยมหนักขึ้นเรื่อยๆ ดูจะทำให้ความพยายาม "ค้นหาทางทฤษฏีใหม่"
เพื่อขัดสีฉวีวรรณทุนนิยมอีกครั้ง กลายเป็นเรื่องที่ "เสียเวลา"

เพราะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า โดย "เนื้อหา" ที่เป็นจริงนั้นเส้นทางวิวัฒนาการสายนี้กำลังกระหายหิวต่อ
"แหล่งวัตถุดิบ" ที่ไม่เคยเพียงพอต่อแรงปรารถนาซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กำลังต้องการ "พื้นที่ตลาด"
ที่กว้างขวางเกินกว่าจะถูกกั้นขวางโดยอาณาเขต ความเป็นชาติและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมใดๆ
ที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสินค้าและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเปิดพื้นที่ให้กับ "วิทยาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ"
ในการต่อสู้กับกระบวนการทางธรรมชาติและวิถีทางธรรมชาติทุกชนิดอย่างถึงพริกถึงขิง

หรือโดย "เนื้อหา" แล้ว "สูตรทางออก" ของวิกฤตการณ์ในยุคใหม่ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคอดีตแต่อย่างใด
เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ "รูปแบบ" ของมันถูกปรับเปลี่ยนจะได้ถูกต่อต้านน้อยที่สุดเท่านั้นเอง

องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำพาโลกวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคอีกยุคหนึ่งหรือเข้าสู่ "คลื่นลูกที่สาม"
ไม่ว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณอาหารในโลกได้หลายต่อหลายเท่า
วงการแพทย์ที่จะถูกปฏิวัติด้วยระบบ "ป้องกัน" แทนการ "รักษา" โรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ
ขนาดของเศรษฐกิจชีวภาพที่จะใหญ่โตจนกลายเป็น "เศรษฐกิจใหม่" ฯลฯ

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเปลี่ยนปัจจัยการผลิตในระดับรากฐานด้วยขีดความสามารถของ
"หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์" ซึ่งอาจจะพัฒนาไปถึงขึ้น "คิดเองได้" (อาร์ติฟิเชียล อินทิลิเจนซ์ - AI)
เทคโนโลยีเครื่องจักรกลขนาดจิ๋วหรือ "จุลจักร" ที่จะปฏิวัติกลไกอุตสาหกรรมเดิมให้กลายเป็นสิ่งพ้นสมัย ฯลฯ

ภายใต้เส้นทางวิวัฒนาการสายนี้มักไม่ได้มุ่งหมายที่จะก่อให้เกิด "ความเท่าเทียมกัน" หรือ "ความเป็นธรรม"
ขึ้นมาในโลกแต่อย่างใด
แตมันสามารถนำไปใช้เพื่อ "เปิดวาล์วแรงกดดัน" ต่างๆ ได้ในบางช่วงของยุคสมัย
ก่อนที่จะนำไปสู่ "ทางตัน" ครั้งต่อไปในอนาคตนั่นเอง

"ความขาดแคลน" อาจจะถูกคลี่คลายลงไปในขณะที่ "ช่องว่าง" ระหว่างผู้คนในสังคมจะยังขยายตัวต่อไป
จนอาจทำให้การคาดการณ์ของกลุ่มนักวิชาการระหว่างประเทศ ซึ่งจัดการประชุมในประเทศรัสเซีย
เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นจริงขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ นั่นก็คือ "ระบบโลก" จะขจัดผู้คนประมาณ
80 เปอร์เซ็นต์ ออกจากการบริหารจัดการของโลกยุคใหม่ เหลือผู้คนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ที่จะอยู่ในระบบบริหารจัดการของโลกยุคใหม่

ความแตกต่างทางชนชั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป เพียงแต่มาตรฐานในการวัดความแตกต่างอาจจะเริ่มต้น
ตั้งแต่ "ยีนและพันธุกรรม" การยึดครองควบคุมดินแดนตั้งแต่ยุคโบราณก็ยังคงดำเนินต่อไป
เพียงแต่ถูกเปลี่ยนรูปแบบจากเมืองขึ้นมาเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิหนึ่งจักรวรรดิใด จนกลายเป็น
อาณานิคมโลกภายใต้การควบคุมของศูนย์กลางจักรวรรดิโลก หรือโดย "มหาอำนาจเดียว" นั่นเอง


"จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์" ที่ถูกเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเพียง "ผู้บริโภค" จะเพิ่มปริมาณแหล่งตลาด
ระบายสินค้าอย่างยาวนาน สามารถกระตุ้นและควบคุมจากอำนาจศูนย์กลางได้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อ
ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน

แต่อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไปของการวิวัฒนาการในแนวทางนี้ ไม่อาจปฏิเสธ "สงคราม"
ที่จะถูกนำมาใช้เพื่อขจัดสภาพอนาธิปไตยทางการเมือง-เศรษฐกิจ ปะทะกับฝ่ายต่อต้านที่ก่อเกิดขึ้นมา
จากความตึงเครียดของความศิวิไลซ์ สงครามที่จะเป็นฐานรองรับการเร่งรัดเทคโนโลยีให้สามารถ
แปรสภาพมาใช้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจใหม่ได้เร็วขึ้น

ในตอนที่ "โดนัลด์ รัมส์เฟล" ยังมีตำแหน่งเป็น "ประธานคณะกรรมการเพื่อการประเมินผลองค์กร
และการบริหารความมั่นคงด้านอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ" หรือยังไม่ได้มีตำแหน่งเป็น "รัฐมนตรีกลาโหม"
ในรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคปัจจุบัน เขาไม่ได้สับสนวุ่นวายอยู่กับการแสวงหา "ทฤษฏีใหม่" หรือ
"แนวความคิดใหม่ๆ" ในการหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ทุนนิยมแบบผู้นำการเมืองในอเมริกา
และยุโรปที่กำลังเถียงกันในเรื่อง "หนทางที่ 3" แต่อย่างใดเลย

ในเอกสารสรุปความเห็นของคณะกรรมการด้านอวกาศสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2001
รัมส์เฟล แสดงความเห็นร่วมกับคณะกรรมการอีก 13 รายเอาไว้ว่า

"ช่องว่างระหว่างชาติที่มี และชาติที่ไม่มี ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในโลกจะขยายตัว
กว้างขวางขึ้นและจะก่อให้เกิดความไม่สงบในหลายภูมิภาครวมทั้งภายในสังคมแต่ละสังคม
และความไม่สงบเหล่านี้จะนำมาซึ่งภัยคุกคามต่อการครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจโลกและผู้นำการใช้อำนาจได้ต่อไป ความสำคัญ
อันดับแรกก็คือ จะต้องมี แผนระยะยาว ในการพัฒนาการปฏิบัติการทางทหารในอวกาศให้สามารถ
ทำสงครามเพื่อปกป้องบทบาทของสหรัฐฯ และขยายบทบาทโลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทต่อไปให้ได้"


ถึงแม้นว่าจะไม่มี "เคนส์" รายใหม่ปรากฏตัวขึ้นมาสร้างรูปแบบในการหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์
ครั้งใหม่ก็ตาม แต่ "สงครามครั้งใหม่" ก็ได้อุบัติขึ้นมาแล้วตามเนื้อหาเดิมๆ ที่ดำรงมาตลอดเส้นทาง
วิวัฒนาการสายนี้
บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #69 เมื่อ: กันยายน 04, 2006, 01:30:16 PM »

สงครามล้างโลก

นับตั้งแต่ "อเล็กซานเดอร์มหาราช"

ยกกองทัพกรีกเข้าตีอาณาจักรเปอร์เซียเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว "การทะเลาะเบาะแว้ง" ก็ไม่ได้เป็น
"ข้ออ้าง" ที่มีน้ำหนักพอในการอธิบาย "เนื้อหาของสงคราม" ระหว่างกันและกัน ยิ่งนานวัน
เนื้อหาของสงครามยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง "เหตุผลแท้ๆ" ที่อยู่เบื้องหลัง "ข้ออ้าง" นานาชนิด นั่นก็คือ
"ความพยายามช่วงชิงผลประโยชน์จากผู้อื่น" หรือ "เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง" เป็นหลัก
และมันทำให้ "ขอบเขตในการทำสงคราม" ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

การที่ "เหตุการณ์ 11 กันยายน" ถูกใช้เป็น "จุดเริ่มต้น" แต่ "จุดจบ" มันไม่ได้สิ้นสุดลงตรงที่ชัยชนะ
ของอเมริกาใน "สงครามอัฟกานิสถาน" อันที่จริงมันก็เป็นการอธิบาย "เนื้อหาของสงครามครั้งใหม่"
หรือการส่งสัญญาณถึง "ขอบเขตของสงครามครั้งใหม่" ได้ไม่น้อยทีเดียว

การ "ไล่ล่า" หรือ "ล้างแค้น" ต่อ "โอซามา บิน ลาเดน" ที่ยังสาบสูญลอยนวลอยู่ในขณะนี้ ดูจะไม่ได้มี
ความสำคัญเท่ากับการยึดครองแหล่งทรัพยากรในเอเชียกลาง การรื้อฟื้นโครงการวางท่อก๊าซจาก
เติร์กเมนิสถานมายังปากีสถาน การบรรลุโครงการท่อน้ำมัน "บากู-ทะบิลิซี-เซย์ฮัน"

การจัดวางกำลังทหารเพื่อสร้าง "ยุทธศาสตร์ปิดล้อม" คู่แข่งทางอำนาจ ฯลฯ


"ขอบเขตของสงคราม" จึงได้ขยายตัวต่อไปสู่ "อัรัก" อย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1998 "สก็อตต์ ริตเตอร์"

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการตรวจสอบอาวุธสหประชาชาติ (อันคอม) ซึ่งเป็นอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ เอง
ได้ยืนยันเอาไว้ชัดเจนว่า ภัยคุกคามจากโครงการอาวุธต่างๆ ในอิรักนั้น "ลดลงเหลือเท่ากับศูนย์เปอร์เซ็นต์"
หรือไม่สามารถใช้เป็น "ข้ออ้าง" ใดๆ อีกต่อไปแล้ว

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอิรักจำนวนมากที่ยังชีพด้วยรายได้เดือนละ 2-6 ดอลลาร์
งบประมาณเพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแห่งการคว่ำบาตร
มาตรฐานด้านสาธารณสุขอยู่ในสภาพ "พังทลาย" ปริมาณเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตเพราะขาดอาหารและ
ขาดยารักษาโรคปีละไม่น้อยกว่า 50,000 ศพขึ้นไป ฯลฯ แต่ภายใต้สภาพเช่นนี้ "ภัยคุกคามทางทหารจากอิรัก"
ยังถูกนำมาใช้เป็น "ข้ออ้าง" ในการ "ขยายขอบเขตสงคราม" ของรัฐบาลอเมริกันต่อไป

ปริมาณน้ำมันสำรองในอิรักที่ยังมีปริมาณไม่น้อยกว่า 112,000 ล้านบาร์เรล การใช้อิทธิพลในการควบคุม
ราคาน้ำมัน เป็นตัวควบคุมอัตราการขยายของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงน่าจะเป็นเหตุผล
ในการขยายเขตสงครามที่มีน้ำหนักยิ่งกว่าความแค้นที่ประธานาธิบดี "บุชผู้ลูก" มีต่อ "ซัดดัม ฮุสเซ็น"
เนื่องจากรับทราบว่าเคยวางแผนสังหาร "บุชผู้พ่อ" หลายต่อหลายร้อยเท่า และ "เหตุผลแท้ๆ"
ที่อยู่เบื้องหลังข้ออ้างนานาชนิด ก็เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวโลกที่ยังไม่ถึงกับ "ปัญญาอ่อน"
เพราะการครอบงำจากสื่อมวลชนอเมริกันทั้งหลาย


แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอเมริกันเองก็ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ "เหตุผลแท้ๆ" เหล่านี้ในการจูงใจ
โน้มน้าวพันธมิตรให้เห็นดีเห็นงามกับการ "ใช้น้ำมันในอิรักเพื่อฉุดดึงเศรษฐกิจโลก"

"สงครามอิรัก" จึงยิ่งส่งสัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้นว่า "สงครามครั้งใหม่ในศตวรรษที่ 21" นั้น
นอกจากมันจะไม่ได้จบลงตรงที่อัฟกานิสถาน แล้ว มันก็จะยังไม่จบลงที่อิรัก อีกด้วย

"ศุภวัฒน์ สายเชื้อ" กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยและวางแผนบริษัท "เมอร์ริล ลินซ์ ประเทศไทย"
ได้เขียนบทความวิเคราะห์ไว้เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2002 ว่า
"การบุกอิรักของสหรัฐฯ นั้น เป็นหมาก ที่สหรัฐฯ พยายามเดินเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศที่เป็นพื้นที่
แหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางทั้งหมด ให้กลายเป็นภูมิภาคที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ทางการเมือง
และเศรษฐกิจของฝ่ายตะวันตก"


ข้อเสนอของ "บริษัท แรนด์" บริษัทที่ปรึกษาทางการข่าวและการทหาร ผู้เคยสร้างผลเปลี่ยนแปลงให้กับ
"การปรับยุทธศาสตร์ใหม่" ของอเมริกาตั้งแต่ตอนต้นรัฐบาลบุช ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสภากลาโหมสหรัฐฯ
ในวันที่ 10 กรกฏาคม ค.ศ. 2002 ก็สะท้อนให้เห็นสัญญาณสงครามที่แผ่กว้างไปมากกว่าพื้นที่ประเทศอิรัก
อย่างชัดเจน เมื่อมีการอ้างอิงถึง "การสนับสนุนการก่อการร้ายของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย" รวมทั้งกระตุ้น
สมาชิกสภาที่ปรึกษาให้ "ยื่นคำขาด" เพื่อนำไปสู่ "การยึดทรัพย์และบ่อน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย"

แน่นอนว่า เนื้อหาของสงครามแห่งศตวรรษที่ 21 ก็จะไม่สิ้นสุดอยู่แค่ความพยายาม
"ปฏิรูปตะวันออกกลาง" อีกนั่นแหละ

มันไม่ใช่แค่การ "ยึดกุมแหล่งทรัพยากร" ที่กำลังขาดแคลนหรือจัดวางกำลังเพื่อยึดกุมจุดยุทธศาสตร์
ทุกพื้นที่ในโลกเอาไว้เฉยๆ แน่ๆ แต่อำนาจที่ได้รับจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งอำนาจที่เกิดขึ้นจาก
การควบคุมจุดยุทธศาสตร์แต่ละแห่ง มันจะถูกใช้ไปสู่ จุดมุ่งหมาย อะไรกันแน่?

แนวคิดนานาชนิดของนักคิดฝ่ายตะวันตกหลายรายที่ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่สงครามเย็นเพิ่งจะยุติไปหมาดๆ
ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วว่า มันเป็นจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำให้พื้นที่โลกซึ่งเคยใหญ่โตมโหฬารในตอนต้น
ศตวรรษที่ 20 แต่กลับแคบลงไป เรื่อยๆ เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 21 จะต้องถูกทำให้ "กว้างขวาง" ยิ่งขึ้นหรือ
"เพิ่มเนื้อที่การตลาด" ด้วยการ "รื้อถอน" อุปสรรคกีดขวางนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น "ความเป็นรัฐชาติ"
"วัฒนธรรม-อารยธรรมท้องถิ่น" "สัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นท้องถิ่น" ต่างๆ หรือ
"ทำให้โลกกลายเป็นตลาด" รวมทั้ง "เปลี่ยนจิตวิญญาณ" ของมนุษย์ให้กลายเป็นเพียง "ผู้บริโภค" นั่นเอง

"วอลเตอร์ ไอแซคสัน" บรรณธิการนิตยสาร "ไทม์ แมกกาซีน" ผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ตัวฉกาจ ได้เคยเขียน

บทความเรื่อง "อาวเออร์ เซ็นจูรี่ แอนด์ เดอะ เน็กซ์ท วัน" ในนิตยสารไทม์ ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1998
เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่า บรรดามนุษยชาติที่ยังยึดเหนี่ยวกับคุณค่าทางจิตวิญญาณในศตวรรษที่ 21
หรือพวก "จิตวิญญาณยุคใหม่" (นิวเอจ สปิริชวล) ก็คือ "ศัตรูตัวสุดท้าย" ของโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพวก
"นับถือศาสนาแบบออร์เธอร์ดอกซ์" ทั้งหลาย ฯลฯ หรือกระทั่ง "ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสีเขียว"

อันประกอบด้วยพลังของฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผู้นำ "ขบวนการซัพพาติสต้า" ในเม็กซิโก

http://www.zapatistarevolution.com/alarm.html
ซึ่งใช้นามแฝงว่า "ผู้บัญชาการมาร์คอส" ได้แสดงความเห็นในบทความชิ้นหนึ่งในเวปไซต์ช่วงระหว่าง
เกิดสงครามอัฟกานิสถานโดยชี้ให้เห็นว่า "สงครามในศตวรรษที่ 21" นั้น ไม่ใช่เป็นสงครามที่มุ่งกระทำ
ต่อคู่สงครามประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และยังไม่ใช่เป็นแค่สงครามที่จะกระทำต่อกันและกัน
ด้วย "อาวุธสงครามเท่านั้น" แต่มันจะเป็นสงครามที่จะกระทำต่อประเทศต่างๆ ที่มีพื้นที่ตั้งอยู่บนโลกใบนี้
และคู่สงครามที่แท้จริงก็คือ "มนุษยชาติ" ทั้งหลาย มันเป็นสงครามที่จะใช้ "ทุกสิ่งทุกอย่าง" เป็นอาวุธ
เพื่อมุ่งทำลายล้างลงไปถึง "จิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของพลโลก" เพื่อให้ "โลกกลายเป็นตลาด"
และมนุษย์กลายเป็นเพียง "ผู้บริโภคสินค้า"


เนื้อหาของสงครามและขอบเขตของสงครามแห่งศตวรรษที่ 21 จึงแตกต่างไปจากสงครามทุกชนิดเท่าที่เคยมีมา
ขอบเขตของมันไม่ใช่เพียงแค่ "เนื้อที่-ดินแดน" ที่สามารถวัดขนาดออกมาเป็น "รูปธรรม" ได้ แต่มันรวมไปถึง
"เนื้อที่-ดินแดน" ที่เป็น "นามธรรม" อันไม่อาจวัดขนาดออกมาได้ชัดเจน ไม่ว่า ความเป็นชาติ อารยธรรม
สัญลักษณ์ และเอกลักษณ์วัฒนธรรมต่างๆ และเนื้อหาของมัน ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ก่อให้เกิด "เชลยสงคราม"
แต่เพียงภายนอกร่างกาย แต่มันพยายามควบคุมเชลยสงครามให้ลึกลงไปถึง "จิตวิญญาณ" ของปัจเจกบุคคล

มันไม่ใช่ "สงครามโลก" แต่เป็น "สงครามล้างโลก" เป็นจุดสูงสุดของสงครามเท่าที่เคยมีมา
ตลอดเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เป็น "จุดตัด" ระหว่างเส้นทางวิวัฒนาการในอดีตกับ
เส้นทางวิวัฒนาการในอนาคต ว่ามนุษยชาติจะเดินไปสู่เส้นทางใด เป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้
ระหว่าง "ฝ่ายธรรมะ" กับ "ฝ่ายอธรรม" ที่จะต้องพิสูจน์ว่า
อะไรคือหนทางที่ถูกต้องสำหรับกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 04, 2006, 08:47:26 PM โดย narongt » บันทึกการเข้า
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #70 เมื่อ: กันยายน 04, 2006, 08:50:14 PM »

จิ๋นซีฮ่องเต้แห่งอนาคต?

ในหนังสือเรื่อง "ครีเอติ้ง อะ นิว ศิวิไลเซชั่น -เดอะโพลิติก ออฟ เดอะ เธิร์ด เวฟ" หรือ
"อารยธรรมใหม่ - ในการเมืองคลื่นลูกที่สาม" ของอัลวิน และไฮดี้ ทอฟเลอร์
ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1995 และอดีตผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสอย่าง "นิวท์ กิงกริช"
ถึงกับเรียกมันว่า "คู่มือประชาชนสู่ศตวรรษที่ 21" นั้น

"ทอฟเลอร์" คาดการณ์อนาคตเอาไว้ว่า "มนุษยชาติกำลังเผชิญกับการก้าวไปข้างหน้าครั้งยิ่งใหญ่
กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทางสังคม และการปรับโครงสร้างเชิงสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้งที่สุด
เท่าที่เคยมีมา ฯลฯ รวมทั้งมีแนวโน้มว่า คลื่นลูกที่สาม จะถั่งโถมข้ามประวัติศาสตร์และเสร็จสมบูรณ์
ภายในเวลาอีกสองสามทศวรรษข้างหน้าเท่านั้น"

ภายใต้ "การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่สุด" นั้น "ทอฟเลอร์" ได้บอกเอาไว้ด้วยว่า
"ขณะที่เศรษฐกิจกำลังถูกแปรสภาพโดยคลื่นลูกที่สามอยู่นั้น ระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ก็จะบีบบังคับ
ฝ่ายหนึ่งให้เกิดการ ยอมจำนน หรือการสละความเป็นเอกราชบางส่วนของตน และต้องยอมให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ล่วงล้ำเข้ามาในวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของตนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่กวีและปัญญาชนแห่งภูมิภาค
ที่มีความล้าหลังทางเศรษฐกิจกำลัง ประพันธ์เพลงชาติ ของตนอยู่นั้น กวีและปัญญาชนแห่งชาติใน
คลื่นลูกที่สามก็กำลังครวญบทเพลงว่าด้วย คุณค่าของโลกไร้พรมแดนและ สำนึกแห่งความเป็นโลกใบเดียวกัน
การปะทะทางความคิดชนิดนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของ
อารยธรรมทั้งสอง และอาจจะกระตุ้นให้เกิด การนองเลือดที่เลวร้ายที่สุดในอนาคตที่จะมาถึงก็ได้"


"การนองเลือดที่เลวร้ายที่สุดในอนาคต" นั้น "ทอฟเลอร์" พยายามสะท้อนมุมมองในแง่ดีเอาไว้ด้วยว่า
แม้นมันอาจจะทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกว่า "มันอาจจะเป็นศึกครั้งสุดท้ายระหว่าง
ธรรมะและอธรรม" ในแบบ "สงครามอาร์มาเกดดอน" หรือ "สงครามล้างโลก"

แต่เขาพยายามชี้ให้ชาวอเมริกันเห็นว่า "แม้นในช่วงทศวรรษหน้าจะมีแนวโน้มเต็มไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ความสับสนอลหม่าน หรือบางทีอาจจะหมายถึงความรุนแรงแผ่ขยายไปทั่ว
แต่เราก็ไม่ได้ทำลายตัวเองจนราบคาบ" เพราะสิ่งที่หลงเหลืออยู่หรือไม่ได้ถูกทำลายลงไปตามทัศนะของ
"ทอฟเลอร์" ก็จะกลายเป็น "ผู้สร้างอารยธรรมใหม่" หรือก่อให้เกิด "การปฏิวัติในระดับโลก" แต่ผู้คนเหล่านั้น
หรือชาติเหล่านั้น หรือผู้นำอารยธรรมแห่งคลื่นลูกที่สามจะเป็นใคร? ทอฟเลอร์ก็ไม่ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนนัก

แต่ในการปาฐกถาของนาย "โธมัส อาร์ พิคเกอร์ริ่ง" อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ
ฝ่ายการเมืองของอเมริกา ว่าด้วยเรื่อง "แนวทางยุทธศาสตร์ในอนาคตของสหรัฐอเมริกา" ที่เรียกว่า
"โพลิติคอล มิลลิทารี อะ นิว เธียร์เตอร์ ออฟ โอเปอเรชั่น" หรือ "ยุทธบริเวณใหม่ของยุทธการสหรัฐ
- ทางการเมืองและการทหาร" ในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1998 ดูจะให้คำอธิบายถึง "ผู้สร้างอารยธรรมใหม่"
หรือ "ผู้นำการปฏิวัติโลก" เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน

"พิคเกอร์ริ่ง" ได้มองเห็นถึงความสับสนอลหม่าน และความรุนแรงที่อาจแผ่ขยายไปทั่วโลกในวันข้างหน้าว่า
มันเป็น "ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่" จนทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะมีกำลังคน งบประมาณ และทรัพยากร
ไม่เพียงพอที่จะปล่อยให้โลกมีลักษณะเป็น "พหุนิยม" (พลูราลิสติก) หรือโลกที่มีลักษณะของศูนย์อำนาจต่างๆ
จำนวนมากมาย หรือไม่อาจกำหนดยุทธศาสตร์และ นโยบายที่จะรับมือกับโลกในลักษณะนี้ได้ ด้วยเหตุนี้
"สหรัฐฯ จึงไม่มีทางเลือก ที่จะต้อง (สร้างยุทธศาสตร์หรือกำหนดนโยบายเพื่อ) คงบทบาทในการเป็น
ผู้นำโลกเอาไว้ "เพื่อที่จะ" ไม่เพียงแต่จะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ก็ยังต้องแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกอีกด้วย"

ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถูกกำหนดโดยยุทธศาสตร์ให้เป็น "ผู้นำโลก" และเป็นผู้กำหนด "มาตรฐานความถูกต้อง"
และ "มาตรฐานความผิดพลาด" ให้กับโลกตามแนวคิดของ "โธมัส อาร์ พิคเกอร์ริ่ง" ก็จึงมีบทบาทไม่ต่างจาก
"ชาติแห่งคลื่นลูกที่สาม" ในทัศนะของ "ทอฟเลอร์"

เพียงแต่ "ทอฟเลอร์" ไม่ได้แบ่งรายละเอียดของชาติต่างๆ ไปตามลักษณะของศูนย์อำนาจ
ทางการเมืองและการทหาร แต่เขาแบ่งชาติต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 คลื่นอารยธรรม อันได้แก่
ชาติที่อยู่ในอารยธรรมคลื่นลูกที่หนึ่ง หรืออยู่ในพื้นฐานสังคมการเกษตร
ชาติที่อยู่ในกลุ่มคลื่นลูกที่สอง หรืออยู่ในพื้นฐานสังคมอุตสาหกรรม
และชาติที่อยู่ในกลุ่มคลื่นลูกที่สาม ที่จะผงาดขึ้นมาในอนาคต โดยสร้างพื้นฐานสังคม
จากเทคโนโลยีและองค์ความรู้

เขายังพยายาม "จัดแบ่งหน้าที่" ของโลกส่วนต่างๆ เอาไว้ด้วยว่า "ในโลกที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนนี้
ส่วนคลื่นลูกที่หนึ่งจะทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรการเกษตรและแร่ธาตุต่างๆ กลุ่มแห่งคลื่นลูกที่สองจะ
จัดสรรแรงงานราคาถูกและทำหน้าที่ผลิตสินค้าจำนวนทีละมากๆ ส่วนชาติแห่งคลื่นลูกที่สามนั้น
จะทำหน้าที่จำหน่ายจ่ายแจกข้อมูล นวัตกรรมการบริหาร การจัดการวัฒนธรรม และวัฒนธรรมตามสมัยนิยม
เทคโนโลยีอันทันสมัย ซอฟต์แวร์การศึกษา การฝึกอบรม การดูแลรักษาพยาบาล การให้บริการทางการเงิน
และอื่นๆ แก่โลก ซึ่งหนึ่งในบริการนั้น อาจหมายถึง การให้ความคุ้มครองด้านการทหารที่เป็นผลจาก
ความเหนือกว่าในด้านการทหารของกองกำลังแห่งคลื่นลูกที่สาม"
(ความเห็นส่วนตัวว่า สำหรับไทยตอนนี้อยู่ในช่วงคลื่นลูกที่หนึ่งและสอง การที่จะก้าวไปสู่คลื่นลูกที่สามได้นั้น
จะต้องปรับปรุงสถาบันการศึกษา (ที่ผู้เรียนคิดแต่จะเข้าสถาบันการศึกษาดีๆ เท่านั้น) ทำให้ทุกสถาบันมี
คุณภาพใกล้เคียงกัน, ค่าเล่าเรียนที่รัฐต้องสนับสนุน และมีจิตสำนึกที่จะช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
มากกว่าที่จะมาแย่งกันหางานทำในตัวเมือง ปัจจุบันนี้ก็แค่สอนให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น
แต่ไม่สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศหรือท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆได้
เพราะการศึกษาเมืองไทยไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น เพียงแค่รู้และใช้เป็นอย่างเดียว รวมทั้งเป็นการใช้
แบบไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่เช่น เพื่อความบันเทิงต่างๆ)


ในยุคอดีตที่ผ่านมา จักรวรรดิบางจักรวรรดิที่เคยผ่านประสบการณ์ความสับสนอลหม่านและความรุนแรง
อันเนื่องมาจากสภาพความเป็น "พหุนิยมทางอำนาจ" อาทิ จักรวรรดิจีนก่อนยุคพระจักรพรรดิ "จิ๋นซีฮ่องเต้"

การรบพุ่งที่ยืดเยิ้อยาวนานถึง 158 ปี สามารถยุติลงไปได้ในช่วงระยะหนึ่ง เมื่อจักรพรรดิจิ๋นซี ค้นพบวิทยาการ
ในการ "ชลประทาน" และสะสมความมั่งคั่งให้กับนครรัฐของตัวเอง จนมีอำนาจพอที่จะทำลายอีก 6 รัฐ
ให้ศิโรราบอยู่ภายใต้ "อำนาจของจักรวรรดิ"

เพื่อคง "บทบาทความเป็นผู้นำจักรวรรดิ" เอาไว้ให้ได้เพื่อ "หลอมละลายนครรัฐต่างๆ ให้กลายเป็นจักรวรรดิ
เดียวกันหมด" จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ทำการ "ปฏิวัติแผ่นดินจีน" และสร้าง "วัฒนธรรมจีน" จนสามารถฝังราก
อยู่ในแผ่นดินจีนตราบเท่าทุกวันนี้ได้ ด้วยวิธีการนานาชนิด

ภายหลังจาก "ชนะสงคราม" ได้แล้ว พระองค์ "สร้างสันติภาพ" ให้เกิดขึ้นภายในจักรวรรดิด้วยการ "ริบอาวุธ"
ทุกชนิดของราษฏรทั่วราชอาณาจักรและนำเอาอาวุธโลหะหนักประมาณ 1 ล้าน 7 แสนกิโลกรัมมาหลอมเป็น
รูปปั้น 12 รูปตั้งเอาไว้กลางใจเมือง พระองค์จัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ด้วยการรวบรวมตระกูลชาวจีนผู้มั่งคั่ง
หรืออพยพเศรษฐีจำนวน 120,000 ครัวเรือน มารวมไว้ในเมืองหลวง พระองค์ไม่ได้ใช้วิธี "ล้างสมอง" ราษฏร
ที่คิดต่างไปจากพระองค์ด้วยวิธีการที่ประณีตนัก เนื่องจากยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการครอบงำ
ความคิดของผู้คนได้เท่ายุคนี้ แต่ใช้วิธีจับเอาบรรดา "นักคิด" หรือผู้มีแนวคิดที่เป็นอุปสรรคกับระบบการปกครอง
ของพระองค์มา "สังหารหมู่" รวดเดียว 460 ศพ และเผาตำรานานาชนิดของนักปราชญ์ ฯลฯ


แผ่นดินจีนที่เคยกระจัดกระจายออกเป็น 6 นครรัฐ หรือ 6 ศูนย์อำนาจ ก็จึงกลายมาเป็น
แผ่นดินเดียวกันของจักรวรรดิ ไม่ต่างไปจากจักรวรรดิกรีกที่สามารถรวบรวมนครรัฐต่างๆ
ให้กลายมาเป็นจักรวรรดิเดียวกันได้ ไม่ต่างไปจากจักรวรรดิโรมันที่เดินตามมาในเส้นทางเดียวกันนี้
และไม่ต่างไปจากจักรวรรดิของนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย

"ความเปลี่ยนแปลง" ของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเส้นทางที่ว่า จึงแทบไม่สามารถ
เรียกว่า "อารยธรรมใหม่" ได้เลย เพราะมันล้วนเป็น "สัญชาตญาณดิบ" ที่แปรเปลี่ยนรูปร่าง
ไปตามยุคสมัยต่างๆ เท่านั้น

"สิ่งประดิษฐ์คิดค้น" หรือ "วิทยาการองค์ความรู้ใหม่ๆ" ไม่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติไปใน
ลักษณะไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าหากมันไม่สามารถทำให้มนุษยชาติหลุดออกไปจาก "สัญชาตญาณดิบ" เดิมๆ ได้
มันก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า "อารยธรรม"

ด้วยเหตุนี้ แม้นว่า "ทอฟเลอร์" จะตั้งความหวังเอาไว้สูงมากกับ "ผู้ที่หลงเหลืออยู่" หรือผู้ที่ไม่ถูก
"การนองเลือดที่เลวร้ายที่สุด" ทำลายลงไปอย่างราบคาบ ว่าจะสามารถสร้างอารยธรรมใหม่ สร้างสังคม
แห่งคลื่นลูกที่สาม สร้างสันติภาพรูปแบบใหม่ ฯลฯ แต่ "ผู้นำโลก" หรือ "ผู้นำชาติแห่งคลื่นลูกที่สาม" นั้น
ดูๆ ก็แทบไม่แตกต่างไปจาก "จิ๋นซีฮ่องเต้แห่งอนาคต" แม้แต่น้อย
บันทึกการเข้า
Udomkd
รักษ์ธรรมชาติ
ชาว อวป.
Hero Member
****

คะแนน 3700
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 41046



« ตอบ #71 เมื่อ: กันยายน 04, 2006, 09:39:55 PM »

 ตกใจ

<a href="http://โอ้...มนุษย์" target="_blank">http://โอ้...มนุษย์</a>
บันทึกการเข้า

รักมิตร รักเพื่อนรักผอง ดั่งขวานทอง ต้องมีด้ามขวาน
   รักมิตรรักเพื่อนรักผอง ดั่งขวานทอง ต้องมีคมขวาน
   รักมิตร รักเพื่อน
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #72 เมื่อ: กันยายน 04, 2006, 11:37:41 PM »

อารยธรรมในถ้ำอันมืดมิดและสันติภาพของคนตาบอด

"สังคมใหม่" ที่เกิดขึ้นจาก "กลุ่มคนที่เหลือจากการทำลายอันราบคาบ"
"อารยธรรมใหม่แห่งคลื่นลูกที่สาม" ที่ก่อตัวขึ้นมาจาก "การนองเลือดที่เลวร้ายที่สุด" กับ
"อารยธรรมแห่งคลื่นลูกเดิม" จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ที่สำคัญที่สุด มันสามารถนำพากระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ไปสู่ "สันติภาพ" ที่แท้จริงได้หรือไม่?
นักทำนายอนาคตอย่าง "อัลวิน ทอฟเลอร์" ได้สร้าง "เปลือกนอกที่หรูหรา" เอาไว้ในหนังสือเล่มต่างๆ
ของเขาจำนวนมากมาย แต่ "แก่นสาระ" ที่อยู่ภายใต้เปลือกเหล่านั้น ล้วนสะท้อนให้เห็นหลักการเดิมๆ
แนวทางเดิมๆ สัญชาตญาณเดิมๆ จนก่อให้เกิดคำถามจำนวนมากมาย

"อารยธรรมใหม่" ของ "ทอฟเลอร์" ซึ่งเขาระบุเอาไว้ว่าจะเป็น "ผู้เขียนกฏเกณฑ์แห่งพฤติกรรม
แบบใหม่ให้กับมนุษยชาติ" จะสร้างกฏ ระเบียบ ค่านิยมต่างๆ ขึ้นมาจาก "พื้นฐานชนิดไหน?"

เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "เนื้อหาอารยธรรมแท้ๆ" นั้น กฏ ระเบียบ ค่านิยมต่างๆ ของอารยธรรม
ที่ใช้เป็นตัวกำกับควบคุมพฤติกรรมมนุษย์นั้น มักจะวางเอาไว้บนพื้นฐานของ "ศีลธรรม" เป็นอันดับแรก

กฏ ระเบียบ ค่านิยมต่างๆ ของประชากรโลกกว่าครึ่งโลกแทบเรียกได้ว่าถูกวางเอาไว้บนพื้นฐานที่
"พระผู้เป็นเจ้า" เขียนให้ หรือในอีกหลายส่วนของโลกก็อาศัยพื้นฐานของ "สัจธรรมสูงสุด"
ในศาสนามาเป็นแนวทาง

ไม่ว่าจะมีความพยายาม "แยกศาสนาออกจากเรื่องทางโลก" (เซ็กคิวลาลิสม์) มากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม
ในประวัติศาสตร์ แต่ความเป็น "อารยธรรมแท้ๆ" ของมนุษยชาติ มักจะต้องอาศัย "โลกอันเป็นแม่พิมพ์
สมบูรณ์แบบ" ของศาสนา มาใช้เป็นแนวทางให้กับ "โลกอันเต็มไปด้วยปัจจัยผันแปร" ของมนุษยชาติ

แต่ในพื้นฐาน "อารยธรรมใหม่" ตามแนวคิดของ "ทอฟเลอร์" ใคร ? ที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการเขียน
กฏ ระเบียบ กำหนดค่านิยม และจะใช้อะไร? เป็นแนวทาง

ดูเหมือนว่า ผู้ที่มีอำนาจในการเขียนกฏแห่งอารยธรรมใหม่คงหนีไม่พ้นไปจาก "ผู้ควบคุมตลาด"
หรือผู้สั่งสมประสบการณ์ในการ "เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม" และ "สร้างพฤติกรรมการบริโภค"
ในตลาดสังคมอุตสาหกรรมนั่นแหละ ที่จะมีอำนาจต่อไปในการสร้างอารยธรรมแห่งคลื่นลูกที่สาม
และแนวทางของอารยธรรมใหม่ก็คงเป็นไปตามแนวทางเดิมๆ นั่นก็คือ แนวทางที่มุ่งตอบสนอง
ความต้องการอันไม่สิ้นสุดต่อความสมบูรณ์พูนสุขในโลกนี้ของมนุษย์กลุ่มหนึ่ง หรือเป็นไปได้สูงมาก
ที่มาตรฐานของอารยธรรมแบบใหม่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็อาศัย "ผลประโยชน์ของเศรษฐกิจแบบใหม่"
เป็นแนวทาง นั่นเอง

อันที่จริงแล้ว โลกในขณะนี้ "อารยธรรมแท้ๆ" ก็ได้ถูกท้าทายและถูกคุกคามจาก "วิทยาการและ
องค์ความรู้ใหม่ๆ" ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับมนุษย์กลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

"ระบบเศรษฐกิจใหม่" ที่กำลังพยายามนำเอาองค์ความรู้ในด้าน "เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม"
"เทคโนโลยีหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์" "เทคโนโลยีนาโน" ฯลฯ มาใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้า
และแผนการตลาดใหม่ๆ ของบรรษัทขนาดยักษ์ จนระบบ "กฏหมาย" และ "ระบบศีลธรรม"
ของประเทศต่างๆ ไม่สามารถรองรับความชุลมุน วุ่นวาย อันเกิดจากการทดลองผสมยีน
ข้ามสายพันธ์ระหว่างพืชกับสัตว์ มนุษย์กับสัตว์ หรือกระทั่งมนุษย์กับเครื่องจักรกล

การพัฒนาคอมพิวเตอร์ที่คิดเองได้ ถูกนำไปใช้กับระบบอาวุธมากขึ้น การจำลองแบบตัวเอง
ของเครื่องจักรกลขนาดจิ๋ว ยังก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ ต่อการควบคุมประดิษฐกรรมชนิดนี้ ฯลฯ

ภายใต้แรงกระตุ้นจาก "ความต้องการอันไม่สิ้นสุด" เหล่านี้ ถ้าหากมาตรฐานทางศีลธรรม
ในอารยธรรมเดิมๆ ไม่สามารถรับมือได้ "อารยธรรมใหม่" ก็คงจะต้องอาศัย "ความไร้ศีลธรรม" นั่นเอง
มาเป็นมาตรฐานในการสร้างกฏ ระเบียบ ค่านิยม ต่อไป และกฏ ระเบียบ ค่านิยม ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
มันคงไม่ต่างไปจากกฏของสัตว์ป่า ระเบียบของจักรวรรดิยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือค่านิยมแบบ
ชาร์ลส ดาร์วิน ที่ "ผู้แข็งแรงกว่า" ย่อมสามารถทำลาย "ผู้ที่อ่อนแอกว่า" ด้วยข้ออ้างว่าด้วย
ทฤษฏีวิวัฒนาการในแต่ละขั้น

"สังคมใหม่" ที่ถูกวาดภาพให้ดูน่าประทับใจ ด้วยการนำเอา "บ้าน" ที่ถูกปรับสภาพเป็น
"เรือนอิเล็กทรอนิกส์" (อิเล็กทรอนิกส์ คอทเทจ) มาใช้เป็น "ศูนย์กลางของสังคม"

"ทอฟเลอร์" ได้ย้ายหน้าที่การงานในบริษัท ระบบการศึกษาในโรงเรียน การตรวจสุขภาพ
ในโรงพยาบาล ฯลฯ เข้ามารวมศูนย์อยู่ในบ้าน จนทำให้การ "ชุลมุนวุ่นวาย" ของ "พ่อ-แม่-ลูก"
ภายในบ้านแห่งอนาคตกลายเป็นการสร้าง "คุณค่าสถาบันครอบครัวแบบใหม่" โดยไม่จำเป็น
จะต้องไป "รื้อฟื้นคุณค่าแห่งสถาบันครอบครัวแบบเดิม" ที่สูญหายไปเพราะอารยธรรม
แห่งยุคอุตสาหกรรมอีกต่อไปแล้ว

แต่การนัวเนียของ พ่อ แม่ ลูก ภายในบ้านในระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้น มันจะสามารถทำให้บ้านนั้น
เกิดความ "อบอุ่น" เกิดสายใยที่กลายเป็น "คุณค่า" แบบเดียวกับคุณค่าของสถาบันครอบครัว
ในสังคมเดิมๆ ได้หรือไม่?

ถ้าหากมาตรฐานของอารยธรรมใหม่นั้นก่อให้เกิดสภาพของบ้านแต่ละแห่ง ประกอบไปด้วย
พ่อที่เป็นชาย แม่ที่เป็นชาย หรือพ่อที่เป็นหญิง แม่ที่เป็นหญิง ชุลมุนวุ่นวายอยู่กับลูกสาว-ลูกชาย
ที่กำเนิดมาจากกระบวนการตัดต่อยีน การคัดเลือกพันธ์จากธนาคารสเปิร์ม หรือลูกที่เกิดจากการ
"โคลนนิ่ง"

ครอบครัวแบบใหม่ที่พยายาม "รวมศูนย์" ทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ในบ้าน จะกลายเป็นบ้านที่
"แยกตัวออกจากสังคม" มากน้อยขนาดไหน? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ "ความเป็นชาติ"
"เอกลักษณ์ชุมชนท้องถิ่น" หรือสายใยทาง "วัฒนธรรมชุมชน" ซึ่งเกิดมาจากความเป็นปึกแผ่น
หรือจากกิจกรรมของชุมชนเมื่อครั้งอดีต ถูกทำลายลงไปหมดแล้ว เพื่อหลีกทางให้กับ
"ความดีงามอันกว้างใหญ่ไพศาล" ที่ถูกควบคุมไว้ที่ศูนย์กลางจักรวรรดิเข้ามาแทนที่ครอบครัว
ที่กระจุกตัวอยู่บน "ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน" จนกลายเป็น "ประเทศครอบครัว" ไปแล้ว
จะมีอำนาจตอบโต้กับ กฏ ระเบียบ ค่านิยม ที่ถูกเขียนขึ้นโดย "อารยธรรมแบบใหม่" ได้มากน้อย
ขนาดไหน?

"เฮอร์แมน อี ดาลี" อดีตผู้บริหารธนาคารโลกซึ่งลาออกจากตำแหน่งในธนาคารโลก
เมื่อปี ค.ศ. 1994 ได้พูดเอาไว้นานแล้วในการปาฐกถาอำลาว่า

"โลกาภิวัตน์นั้นนอกจากมันจะทำให้พรมแดนระหว่างประเทศหมดไปแล้ว มันยังทำให้อำนาจ
ของประชาชนและชุมชนย่อยๆ ลงมา ไร้ความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริม
ให้อำนาจของบรรษัทข้ามชาติแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"


"ครอบครัวของสัตว์ป่า" ที่ถูกกักขังอยู่ในกรงขังของ "สวนสัตว์" มันจะเกิดความอบอุ่น
จนไม่คิดทวงถามถึง "อิสรภาพ" ของมันเลยหรือไม่?

แต่ "ครอบครัวของมนุษย์" ที่ถูกกักขังอยู่ใน "อารยธรรมแบบใหม่" หรือ "สังคมแบบใหม่" อาจจะแตกต่าง
ไปจากสัตว์ป่าในสวนสัตว์อยู่บ้าง และภายใต้ความไม่พึงพอใจต่ออารยธรรมใหม่ หรือสังคมใหม่ "สันติภาพ"
ในแบบใด ที่จะสามารถสร้างความสงบร่มเย็นให้กับยุคสมัยแห่งคลื่นลูกที่สาม?

สิ่งที่นักโลกานิมิตคิดเอาไว้ ก็ไม่ต่างไปจาก "คนตาบอด" ที่พยายามจูง "คนตาดี"
เข้าไปทะเลาะกันในถ้ำอันมืดมิดนั่นเอง
บันทึกการเข้า
nars รักในหลวงและแผ่นดินไทย
Website Sponsor
Hero Member
****

คะแนน 303
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 4897


« ตอบ #73 เมื่อ: กันยายน 04, 2006, 11:59:44 PM »

"เหตุผลแท้ๆ"
ที่อยู่เบื้องหลังข้ออ้างนานาชนิด ก็เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวโลกที่ยังไม่ถึงกับ "ปัญญาอ่อน"
เพราะการครอบงำจากสื่อมวลชนอเมริกันทั้งหลาย


 Wink

ชาวไทยที่ไม่ปัญญาอ่อนไปกับสื่อรัฐก็มีเยอะเหมือนกันครับ
ขอบพระคุณพี่ narongt มากครับที่เอามาให้อ่านครับ
บันทึกการเข้า

ถ้าเสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง
ผีเปรตในนรกมันคงโหวตให้พวกมันได้ขึ้นสวรรค์
จะแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม! ต้นตอปัญหามันเกิดจากรธน.ไม่ดี หรือพวกแกมันเลว!
narongt
Sr. Member
****

คะแนน 16
ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 749


« ตอบ #74 เมื่อ: กันยายน 05, 2006, 12:19:28 PM »

"เหตุผลแท้ๆ"
ที่อยู่เบื้องหลังข้ออ้างนานาชนิด ก็เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชาวโลกที่ยังไม่ถึงกับ "ปัญญาอ่อน"
เพราะการครอบงำจากสื่อมวลชนอเมริกันทั้งหลาย


 Wink

ชาวไทยที่ไม่ปัญญาอ่อนไปกับสื่อรัฐก็มีเยอะเหมือนกันครับ
ขอบพระคุณพี่ narongt มากครับที่เอามาให้อ่านครับ

รับทราบครับผม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 4 [5] 6 7 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.4 | SMF © 2011, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.173 วินาที กับ 22 คำสั่ง