เรื่องเล่าคลองพระโขนง ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบว่า จากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ของ อำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อ ขุนศรี ที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และทางฝ่ายลูก ๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน และพบว่าสามีของอำแดงนาก ไม่ใช่ชื่อ มาก แต่มีชื่อว่า นายชุ่ม ทศกัณฐ์ (เพราะเป็นนักแสดงในบท ทศกัณฐ์) และพบว่า คำว่า แม่นาก เขียนด้วยตัวสะกด ก ไก่ (ไม่ใช่ ค ควาย)แต่การที่สามีแม่นากได้ชื่อเป็น มาก เกิดขึ้นครั้งแรกจากบทประพันธ์เรื่อง "อีนากพระโขนง" ซึ่งเป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. 2454 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
ถึงอย่างไร ความเชื่อเรื่องแม่นากพระโขนง ก็ยังปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทย ณ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง ปัจจุบันนี้ มีศาลแม่นากตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่สักการบูชาอย่างมากของบุคคลในและนอกพื้นที่ โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกแม่นากด้วยความเคารพว่า "ย่านาก" บ้างก็เชื่อกันว่าแม่นากได้ไปเกิดใหม่แล้ว