กลุ่มประชาชนทนไม่ไหวกลายเป็นกระแสวิพากษ์อย่างหนักในวงการครู จากโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรมของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่มีการเกณฑ์ครูเข้าไปปฏิบัติธรรมซึ่งจัดขึ้นโดยลัทธิธรรมที่เต็มไปด้วยข้อครหาอย่าง ลัทธิธรรมกาย!
จากชื่อและวัตถุประสงค์ของโครงการที่สวยหรู ให้คุณธรรมนำวิชากลับกลายเป็นโครงการที่ถูกครหาในวงการครูว่า เป็นโครงการล้างสมอง สร้างสาวก ทั้งยังกีดกันเสรีภาพทางความเชื่อของศาสนาที่มีอยู่หลากหลายในสังคม
โดยโครงการลักษณะดังกล่าวมีครูเข้าร่วมไปแล้วหลายต่อหลายรุ่น สร้างความเดือดร้อนให้ครูทั้งในด้านของศรัทธาส่วนตัว และหน้าที่การงานที่ส่วนสำคัญคือการถูกล้างสมองในกระบวนการอบรมอาจส่งผลต่อการเรียนการสอนซึ่งจะถูกส่งต่อไปถึงเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้มีการออกเอกสารจากสพฐ.ให้ครูทั้งประเทศกว่า 700,000 คน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ รวม 11 รุ่น โดยให้ปิดโรงเรียน 3 วัน แม้สพฐ.จะออกมาปฏิเสธการส่งครูเข้าลัทธิธรรมกาย แต่หลายสิ่งหลายอย่างกลับบ่งชี้และเชื่อมโยงสพฐ.กับธรรมกายเข้าด้วยกัน
มาถึงตอนนี้แผนการเบื้องลึกเบื้องหลังของลัทธิที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากลนี้คืออะไรกันแน่?
ไม่ได้จัดในธรรมกาย...แต่จัดโดยธรรมกาย
จากการให้ข่าวล่าสุดของ ดร.อรทัย มูลคำ ที่ปรึกษา สพฐ. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการที่ออกมาปฏิเสธว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมกาย โดยให้สัมภาษณ์ว่า
ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดอบรมไปแล้วหลายรุ่น ซึ่งทุกรุ่นจะต้องไปปฏิบัติธรรมในวัด หรือศูนย์ปฏิบัติที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทุกคนต้องถือศีล 8 และทำกิจกรรมตามตารางที่กำหนด ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นการบังคับต้องไปปฏิบัติธรรมในวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด ซึ่งจากเสียงตอบรับของผู้เคยเข้าร่วมบอกชัดว่าโครงการดังกล่าวนี้ดี
ผู้บริหารและครูนำแนวทางที่ได้จากการอบรมไปปรับแนวทางการบริหารจัดการเรียนการสอน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ไปส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียน รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้ตามนโยบาย สพฐ.เพราะฉะนั้น จึงไม่อยากให้คิดหรือพูดว่า สพฐ.บังคับให้ครูต้องมาร่วม แต่เป็นการขอความร่วมมือจากทุกคนมากกว่า โดยเฉพาะโรงเรียนในฝันและโรงเรียนดีศรีตำบล จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
และแม้ว่าเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการก็ไม่ปรากฏชื่อของธรรมกาย แต่ทว่าในเอกสารกำหนดการของโครงการกลับพบชื่อของ พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ และ พระครูธรรมธรอารักษ์ ญาณารกฺโข 2 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมกายและ พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นวิทยากรในโครงการ กิจกรรมช่วงหนึ่งยังมีชื่อของกลุ่ม v - star ซึ่งเป็นชื่อโครงการบ่มเพาะเยาวชนของวัดธรรมกาย นอกจากนี้เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของลัทธิธรรมกายด้วย
ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ต้องย้อนกลับไปถึงจุดแรกเริ่มของโครงการร่วมระหว่างธรรมกายกับสพฐ.นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน(2553) ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอร่วมด้วยนักวิชาการ 43 คน มีหนังสือคัดค้านที่นำโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ทำให้การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างสพฐ. กับสมาคมพุทธศาสตร์สากลในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ลัทธิธรรมกาย เป็นอันต้องตกลงไป
พูดให้ชัดคือ ธรรมกายเคยมีความพยายามที่เข้ามาแทรกแซงระบบการศึกษามาก่อนแล้ว มาถึงตอนนี้ จากบุคลากรในชุดเดิม และรูปแบบของโครงการเดิม กับรัฐบาลชุดใหม่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป โครงการเก่าที่ถูกค้านตกไปกลับมาใหม่ในชื่อโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรมเรียนดีศรีตำบล กับโรงเรียนในฝัน
ล้างสมองครองโลก
หลังจากโครงการอบรมจริยธรรมครูถูกยกเลิกเมื่อสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โครงการดังกล่าวก็กลับมาอีก ทางฝ่ายที่เห็นค้านกับโครงการก็เคลื่อนไหวเช่นเดิม โดยมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานหลายอย่างไว้ เพื่อส่งให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แม้แต่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อหาช่องทางคัดค้าน
แต่ทว่านัด (นามสมมติ) 1 ในแอดมินเพจ คัดค้านโครงการเหลือบ โรงเรียนดีศรีตำบล นอมินีธรรมกาย ครอบงำการศึกษาไทย เผยถึงการทำงานที่เป็นไปได้ยากเนื่องจากการดำเนินงานของโครงการครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะนโยบายนั้นถูกสั่งตรงมาจากนายกรัฐมนตรี กลายเป็นนโยบายของรัฐซึ่งต่างจากครั้งก่อนที่จะมีจดหมายเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับวัดธรรมกาย นอกจากนี้เมื่อส.ว.ลงไปตรวจสอบกลับพบว่า มีการให้พระจากวัดอื่นมาทำโครงการด้วย ไม่ใช่แค่วัดธรรมกายอย่างเดียว จึงไม่สามารถจัดการอะไรได้
ถ้ามันมาจากธรรมกายประสานกับสพฐ. มันจะมีจดหมายเชื่อมโยง แต่ตอนนี้มันไปไกลกว่านั้น ใช้วิธีการให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นเส้นตรงมาเลยกลายเป็นนโยบายรัฐ มันไม่ใช่โครงการร่วมที่เราสามารถเข้าไปแทรกแซงได้
เมื่อเทียบกับโครงการที่ถูกคัดค้านตกไป โครงการนี้ถือว่ามีการรับลูกส่งต่อกันตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี เขาบอกเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากความเชื่อมโยงหลายๆ จุด ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการในสายการศึกษา กับลัทธิธรรมกาย ที่ทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ถ้าเกิดมันแตกนอกสายไม่เป็นไร...แต่นี่มันเป็นสายเดียวของธรรมกายหมดเลย มันเลยไม่มีข้อมูลรั่วออกมาเลยแม้แต่น้อย
จากการติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับลัทธิธรรมกายมาอย่างต่อเนื่อง เขาถึงกับออกปากว่า ลัทธิธรรมกายมีแผนที่จะครองโลก! แม้จะฟังดูเกินจริง แต่แผนการที่ถูกวางไว้ในขั้นแรกของลัทธินี้ก็คือการล้างสมองเด็กๆ และเยาวชน โดยแผนดังกล่าวนั้นเคยถูกเปิดโปงมาแล้วในช่วง 3 ปีก่อนที่ธรรมกายเข้าไปแฝงตัวอยู่ในชมรมพุทธตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีโครงการ V - Star หรือโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก หรือแม้แต่โครงการธรรมทายาท
เขาเห็นว่า โครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการล้างสมอง สร้างสาวก บิดเบือนคำสอนของพุทธศาสนาทั้งสิ้น จนถึงตอนนี้การเข้าถึงโรงเรียนในระดับประถม เขามองว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ธรรมกายต้องการจะเข้ามา และเหล่าครูตามโรงเรียนก็ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ถูกแทรกแซงได้
จนถึงตอนนี้มีการอบรมไปทั้งหมด 11 รุ่น เขาเผยว่า ครูที่ไปเข้าร่วมนั้นต้องพบกับข้อบังคับหลายอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าที่ต้องซื้อกับทางวัด อาหารการกินที่ห้ามกินข้าวเย็นซึ่งทำให้ครูบางคนที่มีอาการป่วยต้องทานยาในมื้อเย็นไม่สามารถทานยาได้ ส่งผลให้ล้มป่วยหลังกลับจากโครงการก็มี นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมให้แบบเฉพาะอย่างการตักบาตรแบบธรรมกายที่ไม่เหมือนที่อื่น และยังมีการพูดถึงการชำระล้างพระไตรปิฎก
หลังจากตื่นมานั่งสมาธิทำบุญ เปิดวิดีโอล้างสมองช่วงเช้า เสร็จมีเจ้าหน้าที่มาพูดช่วงหนึ่ง เปิดวิดีโอล้างสมองช่วงสาย เสร็จปุบ ล้างสมองช่วงบ่าย พูดแป๊บหนึ่งล้างสมองช่วงเย็น จากนั้นก็นั่งสมาธิ มันเป็นแบบนี้ทุกวัน
เนื้อหาที่ฉายในการอบรมเขาเผยว่า สามารถดูได้จาก
http://www.dhammamedia.org/ ซึ่งเป็นสื่อของธรรมกาย การอบรมดังกล่าวใช้เวลา 3 - 4 วัน และหากไม่ผ่านจะต้องกลับมาซ่อมด้วยการอบรมใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการอุปสมบทครูแก้วภาคฤดูร้อน และโครงการบรรพชาสามเณรม.ปลายภาคฤดูร้อน โดยให้ครูและนักเรียนเข้าบวชกับธรรมกายเป็นเวลา 15 - 30 วันอีกด้วย โดยผู้ที่ผ่านการบวชจะถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของลัทธิธรรมกาย
ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงตอบจาก สพฐ.ว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ทว่าในทางปฏิบัติแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากที่ผ่านมาเขาเผยว่า หากโรงเรียนไหนมีครูที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมจะส่งผลให้โรงเรียนนั้นไม่ผ่านหลักเกณฑ์และจะทำให้ไม่ได้รับเงินสนับสนุน
ครูใหญ่ก็ต้องอยากได้เงินเป็นธรรมดา พอเป็นแบบนี้ก็เลยมีมาตรการบีบให้ครูเข้าร่วมกิจกรรม หากไม่เข้าก็อาจจะถูกตั้งกรรมการสอบ ที่ผ่านมาก็เคยมีถึงขั้นไล่ออกจากที่ครูบางคนไม่พอใจกับการร่วมโครงการ อาจจะออกมาพูดบางอย่าง พอโดนไล่ออกไปคนหนึ่ง ครูหลายคนเลยไม่กล้าออกมาพูดเรื่องนี้
ภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดกับโครงการที่ชะงักไป เขามองว่าเป็นผลมาจากการตรวจวัดคุณภาพของโครงการ แต่คงหยุดพักเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ผมคิดว่าโครงการคงกลับมาเดินหน้าต่อ ตราบใดที่คนกลุ่มนี้ยังทำงานอยู่ เพราะมันมีความเชื่อมโยงทั้งกำลัง ฐานเสียง และการเงิน แม้แต่ตัวส.ว.ที่เราเข้าไปขอให้ตรวจ เขายังบอกเองว่า มันเป็นเรื่องใหญ่มากจนเขารู้สึกว่า ต้องทำเรื่องอื่นก่อน ไม่งั้นเจอเรื่องนี้แล้วจะน็อกไปก่อนได้
เสรีภาพทางศาสนา
โครงการที่มีหลักการส่งเสริมคุณธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การบังคับให้ครูต้องเข้าร่วมโดยที่ไม่สมัครใจนั้น ครูหยุย - วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และอดีต ส.ว. เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ในฐานะที่เขาเป็นบุคลากรที่ทำงานในแวดวงของการศึกษามาอย่างช้านาน ทำให้เห็นว่าโครงการนี้ถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในสพฐ.นั้นมีผู้ใหญ่ระดับสูงที่มีความรู้จักมักคุ้นกับธรรมกายอยู่เยอะ
ยุคนี้โครงการเดิมมันมาโผล่อีก มันก็อยู่ในกลุ่มเครือข่ายสพฐ.เดิมที่นำเอาโครงการนี้มาปัดฝุ่นผลักดันกันใหม่ เขาเอ่ยพร้อมอธิบาย การให้ครูไปอบรมจริยธรรมเป็นความคิดที่ฟังแล้วดูดี แต่ในคำสั่งบังคับให้ไปฝึกกับธรรมกาย...อันนี้เจ๊งเลย มันขัดรัฐธรรมนูญที่บอกว่า เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้
เขาเห็นว่า พุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นก็มีหลายแนว ปัญหาตรงนี้ทำให้ครูหลายคนเดือดร้อนด้วยเพราะศรัทธาที่ไม่เหมือนกัน เขายกตัวอย่าง ครูแถวอีสานจะศรัทธาสายวัดป่า อาทิเช่น หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครูทางใต้จะนับถือแนวพุทธทาส
แล้วยิ่งพวกเคร่งมากเขานับถือแนวสันติอโศก ไปบังคับครูให้ไปแนวธรรมกาย มันผิดอย่างแรง เขาร้องเรียนกันเยอะจนบอกมาที่ผม ตอนนี้มันสะดุดแล้ว คนรู้ทันก็เลยหยุด ตอนนี้มีคำสั่งใหม่ให้ทำอะไรก็ได้ ไปวัดไหนก็ได้ที่ใกล้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จบไป
อย่างไรก็ตาม เขายังมองว่า หน่วยงานราชการไม่สามารถพูดลอยๆ ได้ ควรมีจดหมายจากกระทรวงศึกษาธิการแจ้ง นอกจากนี้เขายังเสนอว่า หากโครงการดังกล่าวจะดำเนินการต่อก็ควรให้ครูในโรงเรียนจับกลุ่มกันตามแต่ศรัทธาเพื่อไปตามวัดที่ตัวเองอยากไปปฏิบัติธรรม
ในหนึ่งโรงเรียนครูก็อาจจะชอบไม่เหมือนกันก็ได้ 10 คนอาจจะไปหลวงพ่อคูณ 10 อาจจะไปสันติอโศก อีก 10 คนจะไปธรรมกายก็ได้แล้วแต่ศรัทธา ที่สำคัญคือเรื่องของศาสนาห้ามบังคับกัน
..
ท้ายที่สุดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรมจะจบลงอย่างไร? ครูทั่วประเทศจะต้องจำทนกับภาวการณ์ของเงื่อนไขที่ไม่สามารถขัดขืนต่อไปหรือจะมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น?
เครือข่ายลัทธิธรรมกายที่เต็มไปด้วยข้อครหาจากสังคม หากวันใดลทธินี้สามารถแทรกตัวเองเข้ามาสู่ระบบการศึกษาที่เป็นเสมือนฐานรากอันสำคัญของประเทศได้สำเร็จ ถึงวันนี้เราคงหัวเราะไม่ออก กับความคิดที่ว่า ลัทธินี้พยายามจะครองโลก
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000090002