เรื่องเล่าจากคดี ตอน ให้เขากู้เงิน สัญญาก็ทำไว้ ทำไมแพ้คดีหว่า
เรื่องต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และสู้คดีกันจนถึงศาลฎีกา ผมเพียงแต่สมมุติตัวละครขึ้นมา แล้วผูกให้เป็นเรื่อง เชิญอ่านเลยละกัน
นายเต๋าไปกู้เงินจากนายบอยเป็นเงิน 2 แสนบาท ทำสัญญากู้เงินไว้เรียบร้อย แต่พอถึงเวลาใช้คืน นายเต๋าก็ไม่ยอมใช้หนี้คืน อ้างว่าไม่มีเงิน นายบอยไม่รู้จะทำยังไง จึงนำคดีไปฟ้องศาล
ทางฝ่ายนายเต๋าก็หัวหมอไม่ใช่เล่น ไม่รู้จะปฏิเสธยังไง ก็เลยอ้างส่งเดชไปให้ศาลได้วินิจฉัย โดยนายเต๋าอ้างว่า สัญญากู้ที่นายบอยอ้างมาในฟ้องไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ข้ออ้างของนายเต๋านั้น มิได้บอกว่าสัญญากู้ปลอม เป็นสัญญาจริงๆ แต่ใช้บังคับไม่ได้ เมื่อไปดูสัญญากู้ ก็ทำกันไว้เรียบร้อยตามกฎหมาย ก่อนฟ้องนายบอยก็ติดอากรแสตมป์ในสัญญาแล้ว เรื่องอากรแสตมป์นี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการจัดเก็บอากรของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากร หากสัญญาใดๆก็ตาม ที่นำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องคดี ถ้าไม่ติดอากรแสตมป์ให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายบังคับไว้เลยว่า ศาลจะนำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้
จริงๆแล้วเรื่องนี้ สัญญากู้ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่อากรแสตมป์ ถึงแม้ว่านายบอยจะติดอากรแสตมป์ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม แต่ปัญหาก็คือ นายบอยไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เพียงแต่ติดอากรไว้เฉยๆ จึงเป็นข้อต่อสู้ที่นายเต๋าได้ยกขึ้นมาต่อสู้คดี
เมื่อนายเต๋าได้ยกข้อต่อสู้ประเด็นนี้ขึ้นมา ศาลก็จะต้องพิจารณาว่าเป็นอย่างนั้นไหม ซึ่งภายหลังศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาออกมาว่า
สัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นตราสารที่โจทก์ (นายบอย) ได้อ้างเป็นพยาน จะได้มีการปิดอากรแสตมป์ไว้แล้วครบตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ว่าไม่ได้มีการขีด ฆ่าอากรแสตมป์นั้น จึงถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ศาลจึงไม่อาจที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 (อ่านรายละเอียดตอนท้ายเรื่อง) จึงต้องถือว่าคดีนี้นายบอยไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินมาฟ้อง
ในเมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์ (นายบอย) กับจำเลย (นายเต๋า) มีจำนวนเงินที่กู้ยืมเกินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไป (ปัจจุบันได้มีการแก้กฎหมายเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินเพิ่มเป็น 2,000 บาทแล้ว) และไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
สรุป หลักในเรื่องของการกู้ยืมเงินนั้น หากไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงิน ที่มีลายมือชื่อผู้กู้ลงชื่อไว้ ก็ไม่สามารถนำมาฟ้องต่อศาลได้ สำหรับในเรื่องนี้นั้น การกู้ยืมมีสัญญาที่สามารถฟ้องร้องบังคับกันได้ เพียงแต่ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน เพราะประมวลรัษฎากร ได้วางหลักเอาไว้ว่า ถ้าสัญญาใดที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ว่าจะต้องติดอากรแสตมป์ แต่ไม่ติด ก็ไม่ให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
ที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้อย่างนี้ ก็เพราะว่า ต้องการที่จะบังคับเก็บค่าอากรจากการทำสัญญาต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนโดยทั่วไป ถ้าไม่บังคับเก็บ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเสียภาษีอากร ฉะนั้น ถ้าไม่ยอมเสียค่าอากร รัฐก็จะไม่ยอมให้คุณใช้เอกสารสัญญานั้นมาเป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง จึงบังคับไม่ให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องที่ต้องขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เหตุผลง่ายๆก็คือ ไม่ต้องการให้นำอากรแสตมป์นั้นกลับมาใช้อีก ถึงแม้ว่าจะติดไปแล้ว ก็อาจจะลอกออกมา แล้วนำไปติดสัญญาอื่นๆได้อีก จึงต้องกำหนดให้ขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นด้วย
ฉะนั้น ข้อปฏิบัติในการติดอากรแสตมป์นั้น เมื่อติดไปแล้วก็อย่าลืมขีดฆ่าอากรนั้นด้วยนะครับ
ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=65http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=8482