พระประวัติ-ลำดับสมณศักดิ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 ตลอดเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งนี้พระองค์ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ในฐานะประมุขสงฆ์สูงสุด
พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ทรงเป็นผู้ปกครองอันเที่ยงธรรมมั่นคงในพระธรรมวินัยยิ่ง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันศุกร์เดือน 11 ขึ้น 4 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2456 "เจริญ คชวัตร" ได้ถือกำเนิด ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายน้อย และนางกิมน้อย คชวัตร ทรงเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนบุตรชาย 3 คนของครอบครัวตระกูลคชวัตร
พระชนมายุย่าง 14 ปี ถือบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม
ต่อมาทรงย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเสนหา อ.เมือง จ.นครปฐม 2 พรรษา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงครองอาราม
พระองค์ทรงสอบได้ประโยคต่างๆ มาโดยลำดับจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค
พ.ศ.2476 ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ทรงกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศฯ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี เป็น พระกรรมวาจาจารย์
ได้รับฉายาว่า สุวัฑฒโน อันมีความหมายว่า ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศฯ สมเด็จพระญาณสังวรได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้ เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช 2507
สมเด็จฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ พระชนมายุ 34 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโศภนคณาภรณ์ พระชนมายุ 39 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม
พระชนมายุ 42 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชนมายุ 43 พรรษา เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่พระธรรมคุณาภรณ์
พระชนมายุ 48 พรรษา เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง ที่พระสาสนโสภณ
พระชนมายุ 59 พรรษา ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระญาณสังวร
พ.ศ.2532 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเดิมเฉกนี้ และทรงให้ถือเป็นแบบธรรมเนียมตราในกฎมหาเถรสมาคมสืบมา
เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวรทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรก ที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์ ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก
สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา
คัดลอกจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOREkxTVRBMU5nPT0=§ionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE15MHhNQzB5TlE9PQ==