......
......
......
ผมมานั่งคิดว่าราคายางที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร??
ถ้าราคา55บาท เจ้าของมีสวนประมาณ30ไร่ โดยนั่งกินนอนกิน ไม่ต้องทำอะไรเลยก็ไม่อดตายครับ
ส่วนในฝั่งคนรับจ้างกรีดยาง สามี+ภรรยา ควรกรีดยางประมาณ20ไร่ โดยราคาไม่ต่ำกว่า45 บาท ผมคิดว่าอยู่สบายๆโดยไม่มีหนี้สินแล้วครับ^^
......
......
คนเขียนข้อความนี้ คงเข้าใจว่าชาวสานยาง เป็นนกเขาหรือไงเนี่ย (หมายถึงชาวสวนตัวจริง ไม่ใช่เป็นครู ว่างก็ทำสวน)
นกเขา..มีแต่ข้าวกับน้ำ ใช้ชีวิตอย่างจำยอมอยู่ในกรงจนวันตาย....
ครั้งก่อนราคามันจะกระฉูดไปนั้น คือช่วงก่อนปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๖ ช่วงนั้นราคายาง ยี่สิบกว่า เกือบ ๆ สามสิบบาท...
หมูกิโลละ ๕๕ บาท น้ำมันลิตรละ ๑๕ บาท
ไม่มีใครบ่นเรื่องยางราคาถูก ถึงเวลาแล้งก็หยุด เสี่ยงฝนตกใส่เค้าก็ไม่กรีด ปุ๋ยได้ใส่บ้างไม่ได้ใส่บ้าง ยาทายาเร่งไม่มีให้เห็นบ่อยนัก
ชาวสวนพอมีพอกิน หาได้ไม่ขาดมือ แต่เขาก็ไม่ฟุ้งเฟ้อ....
บ้านไหนพอมีฐานะก็มีกระบะคันนึง กับมอไซค์สองคัน คันใหม่ ไว้ขับไปตลาด คันเก่า ๆ นั่นไว้เข้าสวน
กล้าพูดได้ว่าไม่มีลูกชายลูกสาวของบ้านไหนในหมู่บ้าน ที่ไม่ได้เรียนจบมาด้วยน้ำยาง...
.......
ถัดมาเพียง ห้าหกปี ยางถีบตัวสูงขึ้นจากการรับซื้อแบบบ้าเลือดของจีนและการเล่นราคาตลาดล่วงหน้าของนักลงทุน
...... โลละร้อยกว่าบาท...พลิกทัศนคติของคนต่อสวนยางไปเลย
โค่นสวนผลไม้มาปลูกยาง หักร้างถางพงเข้าไปในเขตอุทยานฯเพื่อทำสวนยาง หรืออื่น ๆ
น้ำยางสามารถสร้างฝันได้ จากที่เดิม ๆ มันมีหน้าที่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิต....
ปี ๒๕๕๔ เดือนกุมภาพันธ์ ประวัติศาสตร์ยางไทยจะต้องจารึกไว้ ว่ามันเป็นช่วงที่ราคายางสูงที่สุด ๑๘๐ บาท.....
ได้เงินกันกับราคายางแพงลิบนั้นคนละเท่าไหร่ไม่ทราบ ไม่เยอะนักหรอก....เพราะมันแค่แว๊บเดียว
ผมเองได้ขายราคาห้วงนั้น สามสี่ครั้ง แต่ละครั้ง รับเงินเป็นปึก.....(เมียเป็นคนรับครับ...ผมได้มาแต่ใบรายการแผ่นเดียว)
ราคานั้น ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป.....พาเอาความฝันของชาวสวนที่"วาดไว้เกินตัว" ไปเสียด้วยแต่มันทิ้งอะไรเอาไว้...ทิ้งความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน ชาวสวนยางไม่สมถะเหมือนเดิมเสียแล้ว
กลายเป็นคนหิวกระหายวัตถุที่ต้นยางต้นเดิมเคยสนองความต้องการได้....เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำยังไงล่ะ....
.....เพราะอีนั่นคนเดียว เพราะมัน เราถึงต้องลำบากอด ๆ อยาก ๆ อยู่ยังงี้...
ด่าผิดคนครับ.....ที่ต้องด่าไม่ใช่อีนั่น เพราะอีนั่นไม่ได้บังคับให้เราปลูกยาง เราสมัครใจ เต็มอกเต็มใจปลูกเองต่างหาก
แต่ที่สมควรด่า คือ อีดีแม็กซ์ อีวีโก้ อีอะไรต่อมิอะไรที่ต่อชายคาออกไปกันแดดกันฝนให้มันต่างหาก....
มันยักยอกเอาค่าข้าวสาร ค่ากับข้าว ค่าไฟ ค่าเสื้อผ้า ค่าอะไรต่อมิอะไร ไปเป็นค่าน้ำมัน ค่าภาษีสังคม ค่าเดินทางไปกับมันเสียสิ้น
ในส่วนการบริหารด้านเศรษฐกิจระดับมหัพภาคนั้น นักการเมืองเลว ๆ ก็ส่งผลกระทบนั่นแหละ เห็นว่าเอาไว้ไม่ได้ก็ขับไล่กันไป....
แต่กว่านักการเมืองดื้อด้านนั่นจะหลุดวงโคจรไปนั้น เราจะอยู่จะกินกันยังไง....
ไล่ไปได้แล้ว อะไร ๆ จะดีขึ้นทันตาหรือเปล่า ได้คนเก่ง ใจซื่อมือสะอาดมาแล้ว ราคายางจะเด้งกลับไปอยู่กิโลละร้อยสามร้อยสี่เลยหรือเปล่า ??
พอราคาตกก็เรียกร้องรัฐบาลนั่นก็พอฟังได้อยู่ แต่อีตอนปิดถนนนี่สิ ชักไม่ใคร่งาม.... คนเดินทางเขาเกี่ยวอะไรกับราคายาง
....ยางเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่สำหรับชาวสวนยางมันเป็นมากกว่านั้น ยางมันคือที่หวัง ที่พึ่ง ที่หล่อเลี้ยงชีวิต
ยางราคาตก ก็แค่ได้เงินน้อยลง เมื่อได้น้อยลง ก็จ่ายให้มันน้อยลง หรือหาอย่างอื่นมาทำเพิ่ม เสริมรายได้เข้าไป.... ไม่อดตายหรอกถ้าขยันพอ
ทำงานเชิงเดี่ยวหรือทำงานอย่างเดียว ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผมเข้าใจ ถือว่ามีความเสี่ยง....
จากโพสต์ก่อนหน้าที่ผมบอกว่า เอายางมาแกงกินกับข้าวนั่นแหละ คือความเสี่ยงที่ผมพูดถึง.....
ราคาต่ำเสียจนยางทั้งสวนซื้อข้าวสารได้หม้อเดียวเมื่อไหร่ วันนั้นแหละจะได้แกงยางกินกันถ้ายังทำงานหน้าเดียว
.....กล่าวโดยสรุป ว่า .....
จากข้อความที่อ้างถึง ถ้าเป็นเมื่อก่อน ชาวสวนอยู่ได้สบาย ๆ แต่ปัจจุบันนี้ หมูกิโลละร้อยยี่ น้ำมันลิตรละห้าสิบ ....อยู่ได้ก็ลำบากเต็มที
ราคาต้องสูงกว่านี้อีก....หรือไม่ ชาวสวนก็ต้องสมถะพอที่จะอยู่ให้ได้ อย่าฝันไกลตัวนัก....
หรือถ้าอยากจะฝัน ก็หาอาชีพเสริม....ไม่ต้องตอบว่าหาไม่ได้...มันอยู่ที่จะหา จะทำหรือไม่ต่างหาก
ผมเองก็อาชีพทำสวน กรีดยางมายี่สิบกว่าปี ตั้งแต่ยางกิโลละ ๑๔ - ๑๖ บาท จนทุกวันนี้ก็ยังกรีดยางอยู่
อาชีพเสริมของผมนะหรือ เพียบ....ทำเงินได้มากกว่าสวนยางเสียอีก
ยินดีรับฟังความเห็นต่างและยินดีถกปัญหาเพื่อประเทืองปัญญาครับ แต่ไม่รับคำด่าคำแดกดันเยาะเย้ยและไม่ด่าใคร เพราะมันไม่ประเทืองปัญญา
เยี่ยมครับพี่ อีก3-5ปีข้างหน้ายางจากเขมร ลาวพม่า เวียดนามแอฟริกาขะเริ่มให้ผลผลิต มีสิทธิราคา2-30บาม/กก. ครับ ทาองก็อย่างที่พี่บอกหาอาชีพอื่น ต้องปรับตัว มาเลย์เมื่อนก่อนปลูกยางเยอะเดี๋ยวนี้ปลูกปาล์มเป็นหลักปาล์มมีdemand ไม่จำกัดไม่เหมือนยางที่ over supply ไปแล้วครับ