เรื่องที่ชาวสวนยางต้องทำความเข้าใจ
โดย สิริอัญญา
วันพุธที่ 17 ธันวาคม 2557
ขณะนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ราคายางดิบตกต่ำจนต่ำเตี้ย และเกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางอย่างกว้างขวาง ทั้งแนวโน้มราคายางดิบก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น กลับดิ่งตกต่ำลงอยู่เรื่อย ๆ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะตกต่ำไปที่ราคาเท่าใด
ในท่ามกลางความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ก็บังเกิดกลุ่มผู้เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้ช่วยเหลือแก้ไขราคายางพาราให้สูงขึ้นหลายสิบกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีข้อเสนอแตกต่างกันไป
ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยมีการสำรวจตรวจสอบว่าขบวนการเรียกร้องแต่ละกลุ่มนั้นเป็นตัวแทนที่ได้รับฉันทามติจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพื้นที่ใดบ้าง จำนวนเท่าใด หรือว่าอุปโลกน์กันเอง หรือว่าเป็นผู้ฉวยโอกาสค้าความจนเหมือนที่บางรัฐบาลที่ผ่านมาได้ประณามมาแล้ว
บางข้อเสนอนั้นทำราวกับว่ามีอำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่าใครในบ้านเมือง เช่น บังคับให้รัฐบาลต้องรับซื้อยางในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ทั้ง ๆ ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ระดับเพียงกิโลกรัมละ 38 บาท แล้วยังขู่ต่อไปด้วยว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายเป็นเงินส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคา 80 บาท ช่างไม่ต่างอันใดกับการปล้นประเทศและเอาเปรียบประชาชนไทยทั้งประเทศด้วย!
มาทำความเข้าใจราคายางพารา หรือยางดิบกันสักหน่อยหนึ่ง
ราคายางพาราหรือยางดิบนั้นไม่ใช่ราคาที่จะกำหนดได้อย่างโดดเดี่ยวตามความปรารถนาของใคร แต่เป็นราคาที่ผูกติดอยู่กับราคาน้ำมันของโลก เพราะน้ำมันนั้นมีผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่กลั่นแล้วก็ได้ผลิตภัณฑ์เป็นยางชนิดหนึ่ง ที่สามารถใช้ในอุตสาหกรรมยางได้ด้วย ตัวนี้แหละที่เป็นส่วนสำคัญและส่งผลต่อราคายางพาราธรรมชาติหรือยางดิบ เพราะมีการผลิตได้เป็นจำนวนมากและราคาต่ำ
มีการทำสถิติความผูกพันระหว่างราคาน้ำมันต่อบาร์เรลกับยางดิบว่ามีราคาประมาณเท่ากับจำนวนเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และสถิตินี้ก็มีความถูกต้องมานานปีแล้ว
เมื่อครั้งน้ำมันมีราคา 140 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคายางดิบก็เคยขึ้นไปถึง 140 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อน้ำมันลดราคามา 120 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคายางดิบก็ลดลงเหลือ 120 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาน้ำมันโลกและราคายางดิบผูกติดและสัมพันธ์กันในลักษณะนี้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ นั่นคือราคาน้ำมันประมาณ 57 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคายางดิบควรจะอยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ปรากฏว่าราคายางดิบแท้จริงกลับตกลงไปที่ 38 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคามาตรฐาน 19 บาทต่อกิโลกรัม จึงเป็นปัญหาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ทั้งชาวสวนยางและรัฐบาลจะต้องทำความรู้ ความเข้าใจร่วมกัน และต้องไม่ยอมให้ใครมาแหกตาข่มเหงได้อีกต่อไป
ประการแรก มีบริษัทไอ้โม่งจากมณฑลซานตงของประเทศจีน ตั้งตนเป็นผู้ผูกขาดซื้อยางดิบจากทั้งอาเซียนจนรัฐบาลเวียดนาม พม่า และลาว ตะเพิดกระเจิงไปแล้ว แต่ยังมีฤทธิ์อิทธิพลในประเทศไทย เพราะอาศัยนักการเมืองท้องถิ่นไปบังคับสหกรณ์การยางในแต่ละพื้นที่ให้ซื้อยางในราคาต่ำ คือต่ำไปจากความเป็นจริง 19 บาทต่อกิโลกรัมนั่นแหละ รัฐบาลและชาวสวนยางทั้งประเทศจึงควรต้องตรวจสอบว่า บรรดาไอ้โม่งเหล่านี้เป็นใครบ้าง แล้วปลดแอกตนเองออกจากขบวนการทาสนี้เสียโดยพลัน
ประการที่สอง บริษัทไอ้โม่งรายนี้ได้ก่อตั้งกิจการตลาดยางล่วงหน้าที่เมืองหนึ่งในมณฑลซานตง ทำการปั่นราคา กดราคายางล่วงหน้าให้ลดต่ำลงกว่าความเป็นจริง โดยใช้เล่ห์กลและกลไกกดราคาล่วงหน้าไว้ จึงทำให้ราคาล่วงหน้าต่ำกว่าราคาความเป็นจริง การที่รัฐบาลและชาวสวนยางลงขันกันฝ่ายละ 210 ล้านบาท เพื่อไปสู้ราคาในตลาดล่วงหน้าอาจไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะกำลังรบด้อยกว่ากันมาก ในที่สุดก็จะปราชัย หนทางเอาชนะที่แท้จริงก็คือ มึงจะกดราคาอย่างไรก็ช่างแม่มึง กูจะขายในราคาตลาดให้จงได้ นั่นแหละจึงจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง
รวมความก็คือ ทั้งรัฐบาลและพี่น้องชาวสวนยางทั้งประเทศจะต้องผนึกกำลังกันต่อสู้ปลดแอกจากขบวนการปีศาจที่กดราคายางพาราให้ต่ำกว่าความเป็นจริงนี้ให้จงได้
จากนั้นก็เร่งระบายขายยางพาราตามราคาตลาด ซึ่งสามารถกำหนดกลไกราคาร่วมกันกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะการกำหนดราคาร่วมกันนี่แหละคือการกำหนดราคาตลาดยางของโลก เพราะไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คือผู้ผลิตยางดิบกว่า 80% ของโลก จะไปอ้างอิงโลกอื่นใดที่ไหนเล่า
ควบคู่กันไป ก็เร่งผลักดันการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราในประเทศไทยตามที่นายกรัฐมนตรีได้ขับเคลื่อนให้ก้าวรุดหน้าไปให้เร็วที่สุด
จุ๊ จุ๊ ลุงตู่ที่รัก วัวควายที่ไม่ยอมเดินไถนา เขาให้จับไปส่งโรงฆ่าสัตว์ กลไกเครื่องมือรัฐที่เข้าเกียร์ว่างไม่ทำงาน จนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เลวช้ากว่าวัวควายที่ไม่ยอมไถนามากมายนัก เอาไว้ก็เปลืองข้าวสุก เสียข้าวสาร ผลาญภาษี ป่นปี้ทั้งชาติแล!
http://www.paisalvision.com/content/88-features/12510----qq-17--57.html