ยุโรปมองการณ์ไกลเรื่องยูเครนไม่เท่ารัสเซียสภาขุนนางอังกฤษออกรายงานวิเคราะห์ว่ายุโรปผิดพลาดในการวิเคราะห์ปัญหายูเครน และไม่มองสถานการณ์
ในระยะยาว ในระดับที่ "เท่าเทียม" กับมุมมองของรัสเซีย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่าคณะกรรมาธิการด้าน
กิจการยุโรปของสภาขุนนางอังกฤษออกรายงานวิเคราะห์นโยบายของสหภาพยุโรป ( อียู ) และรัฐบาลอังกฤษ
ต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน ว่ายังขาดมุมมองและความเข้าใจที่ลึกซึ้งในหลายประเด็น อีกทั้งยังมองข้ามประเด็น
อีกหลายด้านเช่นกัน ต่างจากการทำงานของรัฐบาลรัสเซียในเรื่องนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯมองส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาว่า มาจากการที่กระทรวงการต่างประเทศของบรรดา
กลุ่มประเทศสมาชิกอียู โดยเฉพาะอังกฤษ ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและวัฒนธรรมรัสเซียในระดับที่
"รู้ซึ้งอย่างถ่องแท้" ส่งผลให้การวิเคราะห์บทบาทและนโยบายของรัฐบาลมอสโกในเรื่องยูเครนไม่ละเอียด
และครอบคลุมเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับรัสเซียที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคาดหวังมากเกินไปจากฝั่งยุโรป
ว่ารัสเซียจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้อียูขาดการวาง
นโยบายในระยะยาว ว่าจะแแสดงบทบาทอย่างไร หากรัฐบาลมอสโก "เปลี่ยนท่าที" ในอนาคต
ลอร์ด คริสโตเฟอร์ ทูเกนด์แฮ็ต ประธานคณะกรรมธิการฯ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ
วิกฤตการณ์ในยูเครน เพียงเพราะรัฐบาลเวสต์มินสเตอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามใน "บันทึกบูดาเปสต์"
เมื่อปี 2537 ร่วมกับรัสเซียและสหรัฐ ที่มีสาระสำคัญระบุถึงการยอมรับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของ
ยูเครน ที่รวมถึงภูมิภาคไครเมียด้วย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษออกแถลงการณ์แก้ต่างในเวลาต่อมา
ว่าสถานการณ์ในยูเครนมี "ความเปลี่ยนแปลง" ตลอดเวลา
รายงานของสภาขุนนางอังกฤษได้รับการเผยแพร่ออกมาในเวลาเดียวกับที่นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานมุขมนตรียุโรป
โทรศัพท์สายตรงมาหารือกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษ เกี่ยวกับการวางท่าทีของอียูในอนาคต
ต่อรัสเซียและสถานการณ์วุ่นวายในยูเครน
http://dailynews.co.th