โฟล์ครุ่นนี้ยังใช้จานจ่ายระบบหน้าทองขาว กับคอยล์ที่มีโอกาสเสียได้ และช่างรุ่นใหม่ไม่รู้จัก ร้านอะไหล่ทั่วไปก็ไม่มีขาย จึงควรซื้อติดรถไว้ หาของโฟล์คไม่ได้ ก็เทียบเบอร์ซื้อจากร้านอะไหล่เบ็นซ์
ตอนวัยรุ่น ผมเคยใช้โฟล์คอยู่ราวสิบปี วิ่งไม่เกินสองแสน กม. จำได้ว่าเปลี่ยนทองขาว-คอนเด็นเซอร์ไปไม่ต่ำกว่า 30 ชุด ต่อมาช่วงสร้างตัว ใช้โตโยต้ารุ่นโซลูน่า ระบบจุดระเบิด เป็น CDI ใช้อยู่ยี่สิบปี ราวแปดแสน กม. ระบบจุดระเบิดไม่เคยรวน เปลี่ยนหัวเทียนทุกแสน กม. เปลี่ยนสายหัวเทียน 1 ครั้ง เพราะเริ่มแตกลายงา
-อาการที่เสียของระบบจุดระเบิดโบราณแบบนี้คือสตาร์ทไม่ติดใช่ไหมครับ หนักหนาถึงขนาดเครื่องดับกลางทางไหม(เจ้าของรถบอกว่าเคยซ่อมใหญ่เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น 1,600 ซีซี.เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเครื่องไม่เคยดับกลางทางเลย แต่มันไม่วิ่งทางไกล ออกจากบ้านแต่ละครั้งอย่างมากก็ 30 กม.) รถเดิม ๆ ไม่มีแอร์ครับ
-ได้ยินว่าระบบเบรคก็โบราณ(ดรัมเบรค) ตัวนี้ซ่อมยากไหมครับ เจ้าของเขาวิ่ง 80 กม./ชม.ไม่ได้ยินเสียงบ่นว่าเบรคไม่อยู่ครับ
ถ้าหน้าทองขาวสกปรกหรือสึกกร่อนเป็นหน้าข้างตัง หรือไฟเบอร์สึกจนระยะห่างหน้าทองขาวผิดสเป็ค (โฟล์ค 0.016" ช่างบางคนไม่ใช้ฟีลเลอร์เกจน์ เอาใบเลื่อยวัดง่าย ๆ) จะสตาร์ทยาก เร่งไม่ออก ถ้าคอยล์เสื่อม จะเริ่มที่รถไม่มีกำลัง หรือดับตอนเครื่องร้อน (คอยล์ทำงานไปจนร้อน)
ดรัมเบรค ช่างสมัยนี้ก็ยังซ่อมได้ เพราะรถปิ๊คอัพกับอีโคคาร์ยังใช้กับล้อหลังอยู่ แต่อาจจะต้องรอนานหน่อย เพราะไม่มีอะไหล่ ต้องเอาฝักเบรคในรถไปเจียร์ผ้าเบรคเดิมทิ้ง แล้วอัดผ้าเบรคใหม่
ระบบชาร์จไฟรถโฟล์ค จะเป็น DC ชาร์จได้น้อย และเร็กกูเลเตอร์ราคาแพงมาก หายากด้วย แต่ไม่ค่อยเสีย และมีข้อดีที่ ถ้าแบตเป็น 0 โวลท์ ก็ยังเข็นติดได้ (ต่อให้ไม่มีแบตก็เข็นติด แต่ถ้าเร่งเครื่องเร็กูเลเตอร์จะไหม้) เพราะได DC จะทำงานเหมือนไดจักรยานที่ภาษาช่างเรียกว่าเจนเนอเรเตอร์รอบต่ำ พวกไดดีซี จะใช้แม่เหล็กถาวรเสริมด้วยฟิลด์คอยล์ จึงไม่ต้องมีไฟเลี้ยงฟิลด์คอยล์ ก็ยังปั่นไฟได้ สนามแม่เหล็กจะเริ่มที่แม่เหล็กถาวร พอเริ่มหมุนมีไฟออกจากทุ่น ก็จะไปเลี้ยงฟิลด์คอยล์ เสริมแรงแม่เหล็กให้ไฟออกมามากขึ้น