'มรดกพิษ' ที่สหรัฐทิ้งไว้ให้อิรัก! ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ ส่งทหารบุกเข้าไปในอิรักเมื่อปี 2546 เพื่อ 'กวาดล้าง' การก่อการร้าย แต่กลับเป็นการสร้างกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งให้ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างรวดเร็ว...กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและแนวร่วม ( ไอเอสไอแอล ) หรืออดีตเครือข่ายของกลุ่มอัล-กออิดะห์แห่งอิรัก ( เอคิวไอ ) เดินหน้าขยายอิทธิพลในอิรักด้วยการยึดเมืองสำคัญของประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไล่ตั้งแต่เมืองโมซูลทางตอนเหนือ และกำลังจะถึงกรุงแบกแดด เมืองหลวงของประเทศในอีกไม่ช้า
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ไอเอสไอแอลขึ้นมามีอำนาจเหิมเกริมได้ถึงเพียงนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ตรงกับสมัยที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ซึ่งก่อนส่งกำลังทหารบุกเข้ามาในอิรัก บุชตราหน้าประเทศแห่งนี้ ว่าเป็น 1 ใน 3 "แกนแห่งความชั่วร้าย" นอกเหนือจากอิหร่าน และเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังกล่าวว่า ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น ผู้นำอิรักในเวลานั้น ครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และให้ความสนับสนุนกลุ่มอัล-กออิดะห์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถโค่นอำนาจรัฐบาลเผด็จการของซัดดัมได้สำเร็จ แต่สหรัฐกลับไม่สามารถแสดงหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมได้เลยว่า ซัดดัมมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัล-กออิดะห์จริงตามที่บุชกล่าวหา เอกสารกว่า 34 ล้านหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาง ( ซีไอเอ ) ยึดมาจากรัฐบาลอิรักเมื่อปี 2549 และผ่านการแปลอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังไม่พบข้อมูลใดที่สามารถเชื่อมโยงซัดดัมกับกลุ่มอัล-กออิดะห์ได้
"ความผิดพลาด" ใหญ่หลวงของสหรัฐได้รับการตอกย้ำเมื่อปี 2551 จากการที่สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ( เพนตากอน ) เผยผลการตรวจสอบเอกสาร 600,000 ฉบับของซัดดัม ตลอดจนคลิปเสียง คลิปภาพที่เป็นทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวรวมความยาวหลายพันชั่วโมง ที่ยืนยันว่า รัฐบาลอิรักของซัดดัมผู้ล่วงลับ กับกลุ่มอัล-กออิดะห์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน...ต่อมาคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐเสนอรายงานสรุปอีกครั้งเมื่อปี 2551 ยืนยันไม่พบ "ความสัมพันธ์ด้านองค์กร" ระหว่างรัฐบาลอิรักของซัดดัมกับกลุ่มอัล-กออิดะห์ แม้ทั้งสองฝ่ายจะเคยติดต่อกันมาก่อน แต่ไม่พบความเกี่ยวเนื่องใดกับเหตุรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาแทรกแซงในอิรักของรัฐบาลบุช กลับกลายเป็นการ "เชื้อเชิญ" ให้กลุ่มอัล-กออิดะห์และเครือข่ายเข้ามาลงหลักปักฐานในอิรัก เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2547 นายอาบู มูซาบ อัล-ซากาวี หัวหน้าเอคิวไอ ประกาศสวามิภักดิ์ต่อนายโอซามา บิน ลาเดน นายใหญ่แห่งอัล-กออิดะห์อย่างเป็นทางการ
แนวคิดของอัล-ซากาวี คือการมุ่งโจมตีชาวสุหนี่ในอิรัก เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายโจมตีชาวชีอะห์เป็นการล้างแค้น เป็นวงจรแบบนี้เรื่อยไป ก่อนที่กลุ่มเอคิวไอคอยหาโอกาสประกาศยืนเคียงข้างชาวสุหนี่ ซึ่งเป็นเชื้อสายของสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่ม วิธีการของอัล-ซากาวีถือว่าได้ผล เนื่องจากกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงได้ตลอดเวลา และหลายครั้งบานปลายเกือบเป็นสงครามกลางเมือง แม้ทหารของสหรัฐจะยังประจำการอยู่ก็ตาม
เอกสารลับของหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ลงวันที่ 17 ส.ค.2549 ระบุเอคิวไอมีอำนาจเป็นรัฐบาลปกครองจังหวัดอันบาร์ ทางตะวันตกของอิรัก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากถึง 1 ใน 3 ของอิรัก และมีพรมแดนติดกับประเทศจอร์แดน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบีย
หลังจากนั้นแม้เอคิวไอจะเสื่อมอำนาจลงไปมาก ซึ่งเป็นผลจากการปราบปรามกวาดล้างอย่างหนักของกองทัพสหรัฐในอิรัก แต่เอคิวไอยังไม่สิ้นชื่อไปเสียทีเดียว สงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2554 คือการดึงอดีตสมาชิกเอคิวไอทั้งหลายและเครือข่ายให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในอิรัก และคืนชีพมาในชื่อใหม่ คือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและแนวร่วม หรือไอเอสไอแอล กระนั้นสถานการณ์ในเวลานี้ ต่างจากเมื่อทศวรรษที่แล้วมาก เนื่องจากไม่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่บนแผ่นดินอิรักอีกต่อไป
http://www.dailynews.co.th/Content/foreign/244968/_มรดกพิษ_+ที่สหรัฐทิ้งไว้ให้อิรัก+%28ชมคลิป%29
http://www.karenballard.com/data/photos/314_1saddam3.jpgเครดิต
Military Technology Lover Forum